xs
xsm
sm
md
lg

สหประชาชาติชี้พม่าละเมิดสิทธิโรฮิงญาหลายสิบปียิ่งโหมกระพือความรุนแรงในยะไข่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>กลุ่มควันดำพวยพุ่งจากบ้านที่ถูกเผาโดยกลุ่มก่อการร้ายโรฮิงญาในเมืองหม่องดอ รัฐยะไข่ ความรุนแรงระลอกใหม่ปะทุขึ้นหลังกลุ่มก่อการร้ายโรฮิงญาซุ่มโจมตีกองกำลังรักษาความมั่นคงตั้งแต่วันศุกร์ (25) ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 100 คน และอีกหลายพันชีวิตต้องอพยพหลบหนีออกจากพื้นที่ขัดแย้ง. -- Agence France-Presse/Stringer.</font></b>

เอเอฟพี - นายเซอิด ราอัด อัล ฮุสเซน ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า การละเมิดสิทธิอย่างเป็นระบบต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาเป็นเวลาหลายสิบปี เป็นเหตุส่วนใหญ่ของความรุนแรงที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ในรัฐยะไข่ของพม่า และย้ำว่า เจ้าหน้าที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดการนองเลือดได้

อัล ฮุสเซน แสดงความวิตกถึงการสู้รบในรัฐยะไข่ ที่ปะทุขึ้นตั้งแต่วันศุกร์ (25) หลังผู้ก่อการร้ายโรฮิงญาซุ่มโจมตีพร้อมกันหลายจุดต่อกองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่า

เหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 100 คน และทำให้ชาวโรฮิงญาอย่างน้อย 8,700 คน พยายามหลบหนีไปบังกลาเทศ

“ผมขอประณามการโจมตีอย่างรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงที่นำไปสู่การสูญเสียชีวิต และการพลัดถิ่นของผู้คนหลายพันชีวิต” ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง

การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นระบบ และต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี ที่รวมถึงการตอบโต้ด้านความมั่นคงอย่างรุนแรงต่อการโจมตีตั้งแต่เดือน ต.ค.2559 เป็นส่วนสำคัญที่หล่อเลี้ยงแนวคิดหัวรุนแรง

ในอดีตชาวโรฮิงญามักหลบเลี่ยงความรุนแรง แต่เปลี่ยนไปในเดือน ต.ค.ปีก่อน เมื่อกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาดำเนินการโจมตีด่านชายแดนตำรวจพม่า ทหารได้ตอบโต้เหตุโจมตีดังกล่าวด้วยปฏิบัติการกวาดล้างรุนแรงที่สหประชาชาติเตือนว่า อาจเทียบได้กับการล้างเผ่าพันธุ์ และกลุ่มก่อการร้ายเปิดฉากโจมตีอีกครั้งในวันศุกร์ (25) โดยโจมตีด่านตำรวจประมาณ 30 แห่ง และสังหารเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงอย่างน้อย 12 นาย ด้วยมีด ระเบิดแสวงเครื่อง และปืน

อัล ฮุสเซน เรียกร้องให้นำตัวผู้ที่โจมตีกองกำลังรักษาความมั่นคง และพลเรือนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยุติการกระทำที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรง

“ผู้นำทางการเมืองของพม่าควรประณามการใช้ถ้อยคำที่ทำให้รู้สึกเดือดดาล และยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความรู้สึกเกลียดชัง ที่ลุกลามไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งบนสื่อสังคมออนไลน์” อัล ฮุสเซน ระบุ

นอกจากนั้น อัล ฮุสเซน ยังแสดงความวิตกถึงคำกล่าวอ้างที่ไร้ความรับผิดชอบของสำนักงานที่ปรึกษาแห่งรัฐที่ระบุว่า เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือให้การสนับสนุนการโจมตี

“ผมรู้สึกเป็นกังวลอย่างมากถึงข้อกล่าวหาที่มีต่อองค์กรช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศ ทำให้เจ้าหน้าที่ขององค์กรเหล่านั้นตกอยู่ในอันตราย และอาจทำให้ไม่สามารถจัดส่งความช่วยเหลือที่จำเป็นได้” อัล ฮุสเซน กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น