รอยเตอร์ - ชาวมุสลิมโรฮิงญาที่หลบหนีการต่อสู้ในพม่ามายังบังกลาเทศ กำลังเผชิญต่ออันตรายจากความเจ็บป่วย และความพยายามของเจ้าหน้าที่บังกลาเทศที่จะส่งพวกเขากลับพม่า แม้สหประชาชาติจะร้องขอให้บังกลาเทศอนุญาตให้คนเหล่านี้อาศัยอยู่ก็ตาม
การโจมตีกองกำลังรักษาความมั่นคงพม่าพร้อมกันหลายจุดโดยกลุ่มก่อการร้ายโรฮิงญาเมื่อวันศุกร์ (25) ในพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่ ส่งผลให้กองกำลังของพม่าเข้าปราบปรามตอบโต้อย่างหนัก จนเป็นเหตุให้ชาวโรฮิงญาต้องหลบหนีไปบังกลาเทศ ขณะที่ชาวพุทธอีกหลายพันคนต้องอพยพออกจากพื้นที่ขัดแย้งเช่นกัน
ในการปะทะที่เกิดขึ้นในพม่ามีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 109 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ก่อการร้าย แต่ยังรวมถึงสมาชิกของกองกำลังรักษาความมั่นคง และพลเรือน
บังกลาเทศ ที่ในเวลานี้มีชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่มากกว่า 400,000 คน ที่หลบหนีความรุนแรงในพม่ามาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 ระบุว่า จะไม่รับชาวโรฮิงญาเพิ่มอีก
หน่วยรักษาชายแดนบังกลาเทศกำลังพยายามที่จะสกัดขัดขวางไม่ให้ชาวโรฮิงญาข้ามเขตแดนเข้ามา และหากมีใครข้ามเข้ามาในเขตแดนก็จะจับตัว และผลักดันกลับประเทศ
เจ้าหน้าที่รักษาชายแดนเปิดเผยต่อรอยเตอร์ว่า พวกเขาได้ส่งชาวโรฮิงญากลับฝั่งพม่าแล้วประมาณ 550 คน ตั้งแต่วันจันทร์ (26) ผ่านทางแม่น้ำนาฟที่กั้นกลางระหว่างสองประเทศ แม้เลขาธิการสหประชาชาติ จะร้องขอให้กรุงธากาอนุญาตให้ชาวโรฮิงญาแสวงหาที่ปลอดภัยก็ตาม
ชาวโรฮิงญาประมาณ 5,000 คน สามารถข้ามเข้ามาในเขตแดนของบังกลาเทศในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมานี้ โดยส่วนใหญ่ลักลอบเข้ามาในเวลากลางคืนผ่านพรมแดนทางบก
เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ ระบุว่า มีหลายคนล้มป่วย และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 6 คน หลังข้ามพรมแดน เพราะความรู้สึกหวาดกลัวว่าจะถูกจับกุม และส่งตัวกลับทำให้บางส่วนปฏิเสธที่จะขอความช่วยเหลือ
“สิ่งที่เรากำลังเห็นคือ ชาวโรฮิงญาหลายคนป่วย เพราะติดค้างอยู่ตามชายแดนก่อนข้ามเขตเข้ามา ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และเด็ก บางส่วนปฏิเสธที่จะรับการรักษาเพื่อเลี่ยงการจับกุม” เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานระหว่างประเทศในบังกลาเทศที่ปฏิเสธจะเปิดเผยชื่อ หรือหน่วยงาน กล่าว
ชาวโรฮิงญาหลายพันคนติดค้างอยู่บริเวณรอยต่อระหว่างสองประเทศ ขณะพยายามที่จะเข้ามาในเขตบังกลาเทศ
กลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาที่มีชื่อว่า กองทัพกอบกู้โรฮิงญาแห่งรัฐยะไข่ (ARSA) ที่ทางการพม่าประกาศว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย อ้างความรับผิดชอบในการโจมตีเมื่อวันศุกร์ (25) ที่ยังอยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีคล้ายกันแต่มีขนาดเล็กกว่าเมื่อเดือน ต.ค.2559 ที่ส่งผลให้ทหารพม่าดำเนินการปราบปรามตอบโต้อย่างหนัก
ในคลิปวิดีโอที่โพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์เมื่อวันจันทร์ (28) อะตา อัลลาห์ แกนนำกลุ่ม ARSA เตือนพม่าถึงการกดขี่ข่มเหงชาวโรฮิงญา และให้คำมั่นว่าจะต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชน
ฝ่ายพม่าระบุในค่ำวันเดียวกันว่า กลุ่มก่อการร้ายวางระเบิดรวมทั้งหมด 45 จุดในวันอาทิตย์ และวันจันทร์ และยังเผาหมู่บ้าน 7 แห่ง ค่ายทหาร 1 แห่ง และพื้นที่ของเมืองหม่องดอ 2 จุด
รัฐบาลพม่าระบุในคำแถลงฉบับหนึ่งว่า ผู้ก่อการร้ายซุ่มโจมตีกองกำลังรักษาความมั่นคงด้วยอาวุธขนาดเล็ก และมีดดาบ ทำให้ตำรวจได้รับบาดเจ็บ 1 นาย และพลเรือนอีก 1 คน.
.
.