xs
xsm
sm
md
lg

ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยวอนพม่าให้สิทธิพลเมืองชาวโรฮิงญา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (กลาง) ลงพื้นที่หมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองหม่องดอ ทางเหนือของรัฐยะไข่. -- Agence France-Presse/Khine Htoo Mratt.</font></b>

รอยเตอร์ - หน่วยงานด้านผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ เรียกร้องพม่าให้มอบสถานะพลเมืองให้แก่ชาวโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมไร้สัญชาติในประเทศ ที่ความรุนแรงระหว่างเชื้อชาติศาสนาทำให้ประชาชนหลายหมื่นคนต้องไร้ที่อยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2555

ในการเยือนพม่าอย่างเป็นทางการครั้งแรก นายฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ได้พบกับชุมชนต่างๆ ในเมืองสิตตะเว และเมืองหม่องดอ ในรัฐยะไข่ สถานที่ที่มีชาวโรฮิงญาจำนวนมากอาศัยอยู่ และยังได้พบหารือกับนางอองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ

รัฐยะไข่ ทางตะวันตกของพม่าเป็นพื้นที่ที่เกิดเหตุความรุนแรงทางศาสนาร้ายแรงที่สุดในประเทศนับตั้งแต่ทหารเริ่มยุติการปกครองอันเข้มงวดนานหลายสิบปี โดยมีชาวมุสลิมโรฮิงญาหลายร้อยคนถูกสังหาร และผู้คนมากกว่า 140,000 คน ต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัยของตนเองอันเนื่องจากความไม่สงบที่เกิดขึ้นในปี 2555

ความตึงเครียดเพิ่มสูงอีกระลอกหนึ่งในช่วงหลายวันที่ผ่านมา หลังหัวหน้าหมู่บ้านถูกสังหาร และกองกำลังทหารฆ่าผู้ต้องสงสัย 3 ราย ขณะเข้ากวาดล้างค่ายฝึกทหารโรฮิงญา

“การทำงานเพื่อให้สิทธิความเป็นพลเมืองแก่ชุมชนชาวมุสลิมถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะพวกเขาถูกกีดกันมาเป็นเวลาหลายปี” กรันดี กล่าวกับนักข่าว

รัฐบาลพม่ามองว่า ชาวโรฮิงญาราว 1 ล้านคนเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และปฏิเสธการเป็นพลเมืองของคนกลุ่มนี้ แม้ชาวโรฮิงญาหลายครอบครัวใช้ชีวิตอยู่ในประเทศมาหลายชั่วอายุคนแล้วก็ตาม

กรันดี ยังระบุว่า การลงทุนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับภูมิภาคนี้

“รัฐยะไข่เป็นหนึ่งในรัฐที่ยากจนที่สุดของพม่า และมีความจำเป็นเร่งด้วยที่ต้องลงทุนพัฒนาให้ครอบคลุมทั้งสองชุมชน” ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ระบุ

เมื่อเดือน ต.ค. ผู้ก่อความไม่สงบชาวโรฮิงญาได้โจมตีด่านชายแดนพม่าใกล้พรมแดนบังกลาเทศ ส่งผลให้ทหารดำเนินการปราบปรามตอบโต้ เหตุการณ์ที่สหประชาชาติระบุว่า ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน บ้านมากกว่า 1,000 หลัง ถูกเผาทำลายเสียหาย และยังมีชาวโรฮิงญา 75,000 คน หลบหนีไปบังกลาเทศ

สหประชาชาติได้ตั้งภารกิจค้นหาความจริงที่จะสืบสวนอาชญากรรมต่อมนุษยชาติที่กล่าวหาว่าทหารพม่ากระทำขึ้นระหว่างการตอบโต้การโจมตี

ฝ่ายบริหารของซูจี ปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ และคัดค้านภารกิจของสหประชาชาติ

ในเหตุความไม่สงบครั้งล่าสุดในพื้นที่ ชายชาวมุสลิมโรฮิงญารายหนึ่งถูกฆ่า และได้รับบาดเจ็บอีก 6 คน เมื่อพวกเขาถูกโจมตีโดยกลุ่มม็อบชาวพุทธยะไข่ในสัปดาห์นี้.
กำลังโหลดความคิดเห็น