xs
xsm
sm
md
lg

การปราบปรามของทหารพม่าในรัฐยะไข่ทำเด็กขาดสารอาหารกว่า 80,000 คน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>เด็กๆ ชาวโรฮิงญานั่งเล่นอยู่ในค่ายพักชั่วคราวแห่งหนึ่งในเมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่. -- Agence France-Presse/Win Moe.</font></b>

รอยเตอร์ - เด็กมากกว่า 80,000 คน อาจต้องการการรักษาภาวะทุพโภชนาการ ในพื้นที่ทางตะวันตกของพม่า พื้นที่ที่กองทัพเข้าปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญาเมื่อปีก่อน โครงการอาหารโลก (WFP) ของสหประชาชาติ ระบุ

กองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่า ดำเนินการปราบปรามต่อต้านผู้ก่อความไม่สงบชาวโรฮิงญาที่ก่อเหตุโจมตีจนทำให้เจ้าหน้าทีตำรวจเสียชีวิต 9 นาย เมื่อเดือน ต.ค. ในพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่

ประชาชนราว 75,000 คน หลบหนีข้ามแดนไปฝั่งบังกลาเทศ ในวิกฤตที่สร้างความเสื่อมเสียต่อการบริหารงานปีของ นางอองซานซูจี ด้วยสหประชาชาติระบุว่า ทหารก่อเหตุข่มขืน สังหาร และเผาบ้านเรือนประชาชน ที่อาจเทียบได้กับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

ในการประเมินข้อมูลที่รวบรวมจากชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงตั้งแต่เดือน ต.ค. โครงการอาหารโลกได้สัมภาษณ์ประชาชน 450 ครอบครัว ใน 45 หมู่บ้าน ของเมืองหม่องดอ ในเดือน มี.ค. และเดือน เม.ย.

“การสำรวจยืนยันว่า สถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารย่ำแย่ลงในพื้นที่ที่มีความเปราะบางสูง (ตั้งแต่เดือน ต.ค.)” หน่วยงานของสหประชาชาติ ระบุ โดยประมาณ 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่า ไม่มีความมั่นคงทางอาหารอย่างรุนแรง เช่น ไม่มีอาหารกินตลอดทั้งวันทั้งคืน

รายงานระบุว่า ไม่มีเด็กคนใดในกลุ่มสำรวจได้รับอาหารเพียงพอ และประเมินได้ว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ราว 80,500 คน ต้องการการรักษาภาวะทุพโภชนการโดยทันทีในปีหน้า

ฝ่ายบริหารของนางอองซานซูจี ปฏิเสธที่จะอนุญาตให้คณะทำงานภารกิจของสหประชาชาติที่มีหน้าที่สืบสวนข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิโรฮิงญาโดยกองกำลังทหารเข้าถึงพื้นที่

แม้โครงการอาหารโลกไม่ได้เลือกปฏิบัติต่อชุมชนต่างๆ แต่มากกว่า 90% ของชาวบ้านในเมืองหม่องดอ เป็นชาวโรฮิงญา ที่ชาวพม่าจำนวนมากมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ

หลังเหตุโจมตี ทหารประกาศเขตปฏิบัติการในเมืองหม่องดอ และจำกัดการเข้าถึงความช่วยเหลือ รวมทั้งห้ามคนท้องถิ่นทำประมง และทำการเกษตร และจากแผนที่ของโครงการอาหารโลกเผยให้เห็นว่า หมู่บ้านหลายแห่งที่ทหารปฏิบัติการอยู่นั้นมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดภาวะอดอยาก

รายงานยังบันทึกว่า หลายครัวเรือนที่ผู้ชายหลบหนีออกไปเนื่องจากปฏิบัติการความมั่นคง มีแนวโน้มที่จะตกอยู่ในภาวะหิวโหย ซึ่งสาเหตุที่ชายชาวโรฮิงญาส่วนใหญ่หลบหนีออกจากบ้านของตัวเองนั้นเป็นเพราะพวกเขาเชื่อว่า ทหารจะมุ่งเป้าพวกเขาว่าเป็นผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย

ซอ เต โฆษกของนางอองซานซูจี กล่าวว่า เขาไม่ทราบถึงข้อค้นพบของโครงการอาหารโลก แต่หลังการกำหนดข้อจำกัดด้านความมั่นคงในเบื้องต้นแล้ว รัฐบาลได้อนุญาตให้หน่วยงานความช่วยเหลือเข้าดำเนินงานในพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่

“โครงการอาหารโลกกำลังดำเนินการหลายโครงการสำหรับประชาชนในพื้นที่ รัฐบาลพม่ากำลังอนุญาตให้พวกเขาจัดส่งอาหาร และความช่วยเหลือต่างๆ เข้าไป” ซอ เต กล่าว

รัฐบาลยังคงห้ามเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ต่างชาติเข้าถึงบางพื้นที่ของรัฐยะไข่ แต่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นสามารถเดินทางได้อย่างเสรี และรัฐบาลได้จัดส่งความช่วยเหลือให้แก่ประชาชนในพื้นที่เหล่านั้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น