เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของกลุ่มช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ระหว่างประเทศในรัฐยะไข่ ของพม่า ถูกแทงดับโดย “กลุ่มก่อการร้าย” รัฐบาลพม่าระบุวานนี้ (1) ในเหตุสังหารล่าสุดที่ทางการกล่าวโทษว่า ผู้ก่อความไม่สงบชาวโรฮิงญาอยู่เบื้องหลัง
พื้นที่ทางตอนเหนือของรัฐยะไข่ตกอยู่ในภาวะวิกฤตตั้งแต่ทหารเริ่มปราบปรามชาวมุสลิมโรฮิงญาเพื่อตอบโต้การโจมตีของผู้ก่อความไม่สงบในเดือน ต.ค.2559
ชาวโรฮิงญามากกว่า 75,000 คน หลบหนีการปราบปรามของทหาร ที่ผู้สืบสวนสหประชาชาติระบุว่า อาจรุนแรงเทียบได้กับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
ขณะที่พื้นที่ดังกล่าวเริ่มกลับเข้าสู่ความสงบ รัฐบาลได้รับรายงานการฆาตกรรม หรือลักพาตัวพลเรือนอย่างน้อย 60 คดี ตั้งแต่เดือน ต.ค. และเพิ่มสูงในช่วงไม่กี่สัปดาห์มานี้ โดยการสังหารส่วนใหญ่มุ่งโจมตีที่แกนนำชุมชนท้องถิ่น หรือผู้ที่ถูกสงสัยว่าให้ความร่วมมือต่อรัฐ
ในวันเสาร์ (1) รัฐบาลระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ท้องถิ่นในพื้นที่ตอนเหนือของรัฐยะไข่ ถูกลากตัวออกจากบ้านเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. และถูกฟันจนเสียชีวิต โดยกลุ่มก่อการร้ายสวมหน้ากากสีดำราว 10 คน พร้อมมีด และขวาน
เหยื่ออายุ 34 ปี ทำงานให้แก่ Community and Family Services International (CFSI) กลุ่มช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ที่มีสำนักงานใหญ่ในฟิลิปปินส์ โดยองค์กรนี้ทำงานด้านการคุ้มครองเด็ก และบริการการศึกษาทางเหนือของรัฐยะไข่ ตามคำแถลงของสำนักงานของนางอองซานซูจี
ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา บัญชีทวิตเตอร์ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มก่อการร้าย ที่รู้จักในชื่อ กองทัพกอบกู้โรฮิงญารัฐยะไข่ (อัสรา) ปฏิเสธว่าอยู่เบื้องหลังการสังหาร และกล่าวหาว่า ทางการพยายามที่จะทำลายความน่าเชื่อถือของกลุ่ม
กลุ่มอัสรา กล่าวว่า กลุ่มกำลังต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิทางการเมืองของชาวโรฮิงญา ชนกลุ่มน้อยมุสลิมไร้สัญชาติ ที่ทนทุกข์หลายปีจากการถูกแบ่งแยกเลือกปฏิบัติ และการกดขี่ข่มเหงในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธ
ริชาร์ด ฮอร์เซส์ นักวิเคราะห์อิสระในพม่า ระบุว่า ยังไม่ชัดเจนว่าใครอยู่เบื้องหลังการสังหาร
“แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ ทั่วพื้นที่ทางเหนือของยะไข่ มีความพยายามอย่างเป็นระบบในการดำเนินการที่จะกำจัดชาวมุสลิมที่มีความเชื่อมโยงทางใดทางหนึ่ง หรือถูกมองว่าติดต่อกับเจ้าหน้าที่” ฮอร์เซส์ กล่าว
วิกฤตในรัฐยะไข่นำมาซึ่งแรงกดดันจากทั่วโลกต่อซูจี ที่กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างรู้สึกผิดหวังจากการกล่าวปกป้องการปราบปรามของทหารต่อชาวโรฮิงญา และรัฐบาลของซูจี ยังปฏิเสธการสอบสวนของสหประชาชาติต่อข้อกล่าวหาการปราบปรามรุนแรงของทหาร และให้คำมั่นว่าจะปฏิเสธการออกวีซ่าให้แก่ทีมค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติ.