รอยเตอร์ - พม่าจะปฏิเสธการเข้าประเทศของสมาชิกในคณะสืบสวนของสหประชาชาติ ที่มีเป้าหมายจะตรวจสอบข้อกล่าวหาที่ว่ากองกำลังรักษาความมั่นคงก่อเหตุสังหาร ข่มขืน และทรมานชาวมุสลิมโรฮิงญา ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่พม่าวันนี้ (30)
รัฐบาลภายใต้การนำของนางอองซานซูจี เคยกล่าวไว้ว่า รัฐบาลจะไม่ร่วมมือกับภารกิจที่ตั้งขึ้นตามมติของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนเมื่อเดือน มี.ค.
“หากพวกเขากำลังจะส่งคนที่เกี่ยวข้องต่อภารกิจค้นหาข้อเท็จจริง ก็ไม่มีเหตุผลสำหรับเราที่จะปล่อยให้พวกเขาเข้ามา” กอ เซยา ปลัดกระทรวงการต่างประเทศพม่า กล่าว
“คณะทูตทั่วโลกของเราได้รับคำแนะนำให้ดำเนินการสอดคล้องกัน” กอ เซยา อธิบายถึงวีซ่าเข้าประเทศที่จะไม่อนุมัติให้แก่ผู้ได้รับการแต่งตั้ง หรือเจ้าหน้าที่ในภารกิจดังกล่าว
ซูจี ที่ขึ้นสู่อำนาจเมื่อปีก่อนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงจากการปกครองของทหาร บริหารประเทศผ่านตำแหน่งที่ตั้งขึ้นเป็นพิเศษ คือ ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และยังควบเก้าอี้รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศด้วย
แม้ซูจี ไม่ได้เป็นผู้กำกับดูแลทหาร แต่ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าล้มเหลวที่จะปกป้องชาวมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 1 ล้านคน ในรัฐยะไข่
ซูจี กล่าวระหว่างการเยือนสวีเดนในเดือนนี้ว่า ภารกิจของสหประชาชาติจะยิ่งสร้างความเป็นปรปักษ์กันระหว่างชุมชนที่แตกต่างนั้น เนื่องด้วยประชากรส่วนใหญ่ในรัฐยะไข่ เป็นชาวพุทธชาติพันธุ์ยะไข่ ที่เห็นเช่นเดียวกับชาวพุทธส่วนใหญ่ในประเทศว่า ชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ
ชาวโรฮิงญาราว 75,000 คน หลบหนีออกจากรัฐยะไข่ไปบังกลาเทศเมื่อปลายปีก่อน หลังทหารพม่าเริ่มปฏิบัติการความมั่นคงตอบโต้เหตุโจมตีของผู้ก่อความไม่สงบชาวโรฮิงญาที่สังหารตำรวจชายแดนไป 9 นาย
รายงานของสหประชาชาติในเดือน ก.พ. จากการสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ระบุว่า ปฏิบัติการตอบโต้ของทหารเกี่ยวข้องต่อการสังหารหมู่และข่มขืนชาวโรฮิงญา และมีแนวโน้มอย่างมากที่จะเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และการล้างเผ่าพันธุ์
พม่าแยกตัวเองออกจากมติที่สหภาพยุโรปเสนอขึ้น ที่เรียกร้องให้มีการตั้งภารกิจเพื่อตรวจสอบข้อกล่าวหาในรัฐยะไข่ รวมทั้งรายงานการละเมิดต่างๆ ในความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ในภาคเหนือของประเทศ
อินทิรา ไจซิง ทนายความศาลฎีกาอินเดีย ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะปฏิบัติภารกิจเมื่อเดือน พ.ค. พร้อมสมาชิกอีก 2 คน คือ ราติกา กุมาราสวามี ทนายความชาวศรีลังกา และคริสโตเฟอร์ โดมินิค ที่ปรึกษาชาวออสเตรเลีย
พม่ายืนยันว่าการสืบสวนภายในประเทศ ภายใต้การนำของรองประธานาธิบดีมี้น ส่วย เพียงพอที่จะตรวจสอบข้อกล่าวหาในรัฐยะไข่
“ทำไมพวกเขาถึงพยายามกดดันอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งที่กลไกในประเทศยังมีเพียงพอ” กอ เซยา กล่าว
นอกจากคณะสืบสวนของรองประธานาธิบดีมี้น ส่วย แล้ว ยังมีคณะที่ปรึกษานำโดยนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ที่ตั้งขึ้นเพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในรัฐยะไข่.