xs
xsm
sm
md
lg

ที่ปรึกษาความมั่นคงพม่าย้ำภารกิจสอบสวนสหประชาชาติไม่สร้างสรรค์มีแต่ทำให้ปัญหาแย่ลง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ตำรวจชายแดนยึนรักษาความปลอดภัยที่บริเวณทางเข้าหมู่บ้านตินเม ในเมืองบุติด่อง ทางเหนือของรัฐยะไข่ โดยที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของนางอองซานซูจีระบุว่า การสอบสวนของสหประชาชาติต่อข้อกล่าวหาว่ากองกำลังรักษาความมั่นคงกระทำเหตุทารุณต่อชาวมุสลิมโรฮิงญา มีแต่จะทำให้ปัญหาในรัฐยะไข่เลวร้ายขึ้น และการสอบสวนภายในประเทศภายใต้การนำของรองประธานาธิบดีมี้น ส่วย ก็เพียงพอแล้ว. -- Agence France-Presse/Hla Hla Htay.</font></b>

รอยเตอร์ - ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของนางอองซานซูจี กล่าวต่อนักการทูตในวันนี้ (18) ว่า ภารกิจของสหประชาชาติที่ต้องการสอบสวนข้อกล่าวหาการข่มขืน การทรมาน และการสังหารชาวมุสลิมโรฮิงญามีแต่จะทำให้ปัญหาในรัฐยะไข่เลวร้ายมากขึ้น

พม่าได้ปฏิเสธการออกวีซ่าให้แก่ผู้เชี่ยวชาญ 3 คน ที่สหประชาชาติแต่งตั้งเมื่อเดือน พ.ค. เพื่อทำการสอบสวนข้อกล่าวหาการละเมิดต่างๆ โดยกองกำลังทหาร

เมื่อสัปดาห์ก่อน นิกกี้ ฮาเลย์ ทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติในนครนิวยอร์ก ได้เรียกร้องให้พม่ายอมรับภารกิจดังกล่าว ที่เป็นมติของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

“เราแยกตัวออกจากการตัดสินใจดังกล่าว เพราะเราพบว่ามันไม่ค่อยสร้างสรรค์” ต่อง ตุน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวต่อเจ้าหน้าที่สหประชาชาติ และนักการทูต ที่รวมทั้งทูตสหรัฐฯ

“เรารู้สึกว่าภารกิจดังกล่าวมีแต่จะทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้น” ต่อง ตุน ระบุ

ชาวโรฮิงญาถูกปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมืองพม่า และถูกระบุว่า เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ แม้หลายคนอ้างว่าตั้งรกรากในภูมิภาคนี้มานานหลายร้อยปีแล้วก็ตาม และหลายครั้งที่คนกลุ่มนี้ตกเป็นเป้าในความรุนแรงระหว่างชุมชน แม้รัฐบาลจะประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้นแต่กลับทำอะไรน้อยมากที่จะปรับปรุงชีวิตของชาวโรฮิงญา

สหภาพยุโรปเสนอให้มีการดำเนินการสืบสวนหลังข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวว่า ปฏิบัติการของทหารในพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่ ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญานั้นมีแนวโน้มที่จะเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ

กองกำลังทหารเข้าดำเนินการกวาดล้างตามหมู่บ้านต่างๆ หลังผู้ก่อความไม่สงบชาวโรฮิงญาสังหารตำรวจไป 9 นาย ในการโจมตีด่านชายแดนตำรวจเมื่อเดือน ต.ค. ปฏิบัติการดังกล่าวทำให้ผู้คนกว่า 75,000 คน หลบหนีข้ามแดนไปฝั่งบังกลาเทศ ที่หลายคนให้ข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำทารุณ

รอยเตอร์เป็นหนึ่งในสื่อระหว่างประเทศที่เดินทางไปยังพื้นที่การปราบปรามเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา การเดินทางที่ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยกองกำลังรักษาความมั่นคง

หญิงชาวโรฮิงญาเล่าให้นักข่าวฟังเรื่องที่สามี และลูกชายของพวกเขาถูกจับตัวไปโดยพลการ รวมทั้งการสังหาร และการวางเพลิงโดยกองกำลังรักษาความมั่นคง ซึ่งตรงกับเรื่องราวจากผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ

ทางการพม่าปฏิเสธข้อกล่าวเหล่านั้น และระบุว่า เรื่องส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่กุขึ้น

ต่อง ตุน ไม่ได้กล่าวถึงข้อกล่าวหาโดยตรงแต่กล่าวว่า พม่ามีสิทธิที่จะปกป้องประเทศจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย ซึ่งอ้างถึงกิจกรรมก่อการร้ายที่เพิ่มขึ้น

เจ้าหน้าที่กล่าวว่า การสอบสวนภายในประเทศภายใต้การนำของรองประธานาธิบดีมี้น ส่วย ก็เพียงพอแล้ว ส่วนคณะกรรมการที่มีนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติเป็นหัวหน้าคณะ กำลังตรวจสอบปัญหาในรัฐยะไข่ แต่ไม่ได้รับมอบหมายให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิ

ต่อง ตุน กล่าวว่า รัฐบาลได้เริ่มดำเนินการตามคำแนะนำของคณะกรรมการที่เสนอในเดือน มี.ค. ซึ่งรวมทั้งการปิดค่ายที่ชาวโรฮิงญามากกว่า 120,000 คน อาศัยอยู่ตั้งแต่เกิดเหตุความรุนแรงระหว่างชุมชนเมื่อ 5 ปีก่อน.
กำลังโหลดความคิดเห็น