รอยเตอร์ - พม่าให้คำมั่นว่า “ไม่มีข้อจำกัด” แก่นักข่าวที่เดินทางเยือนรัฐยะไข่ในสัปดาห์นี้ ในการเดินทางอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่รวมทั้งนักข่าวต่างชาติยังหมู่บ้านชาวมุสลิมโรฮิงญาที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงนับตั้งแต่เดือน ต.ค.
นักข่าวชาวพม่า และชาวต่างชาติที่เป็นตัวแทนสื่อต่างประเทศ ทั้งหมด 18 คน เดินทางถึงเมืองสิตตะเว เมืองเอกของรัฐยะไข่ เมื่อวันพุธ (12) ก่อนเดินทางภายใต้ความดูแลของรัฐบาลไปยังพื้นที่เมืองบุติด่อง และเมืองหม่องดอ ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญาไร้สัญชาติ
“ไม่มีข้อจำกัดเกี่ยวกับพื้นที่ที่คุณสามารถรายงานข่าวได้ เราไม่ได้จัดเตรียมสถานที่ไว้โชว์เพื่อทำข่าว” เต๊ต ส่วย ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวสารและข้อมูลของของกระทรวงข้อมูล กล่าว
เมื่อปีก่อน กองทัพพม่าดำเนินการปราบปรามในพื้นที่หลังผู้ก่อความไม่สงบชาวโรฮิงญาเข้าโจมตีด่านชายแดนใกล้พรมแดนบังกลาเทศ โดยสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจไป 9 นาย
ผู้คนราว 75,000 คน หลบหนีข้ามฝั่งไปยังบังกลาเทศ ตามการระบุของสหประชาชาติ ที่มีรายงานเกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่า กองกำลังทหารสังหาร ข่มขืน ทรมาน และเผาบ้านเรือนประชาชน
รัฐบาลพม่าภายใต้การนำของนางอองซานซูจี ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านั้น และปฏิเสธที่จะอนุญาตให้ภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติเข้ามาสอบสวนข้อกล่าวหาต่างๆ และรัฐบาลยังห้ามนักข่าวอิสระ และผู้ตรวจสอบสิทธิมนุษยชนเข้าไปในพื้นที่ทางเหนือของรัฐในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา
ซูจี กล่าวว่า ภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติจะยิ่งทำให้ความตึงเครียดสูงยิ่งขึ้น และชาวพม่าจำนวนมากมองว่า โรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ
เจ้าหน้าที่พม่า กล่าวว่า การสืบสวนภายในภายใต้การนำของรองประธานาธิบดีมี้น ส่วย และคณะกรรมการภายใต้การนำของนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ เป็นวิธีที่เหมาะสมที่จะจัดการปัญหาในรัฐยะไข่
นายอันนัน แนะนำเมื่อเดือน มี.ค. ว่า ให้เจ้าหน้าที่อนุญาตให้สื่อจากทั้งในประเทศ และต่างประเทศเข้าถึงทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น ซึ่งนักข่าวที่ลงเยี่ยมพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่ จะได้รับการดูแลโดยกองกำลังตำรวจรักษาชายแดนของพม่า ตามการระบุของเต๊ต ส่วย ที่ย้ำว่า แม้ว่าการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ จะไม่ถูกจำกัด แต่นักข่าวควรอยู่ใกล้เจ้าหน้าที่ระหว่างการเยี่ยมหมู่บ้านต่างๆ เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง
แผนการเดินทางที่มอบให้แก่สื่อเมื่อวันพุธ (12) ไม่ได้รวมการเยือนหมู่บ้านที่เป็นศูนย์กลางของการต่อสู้ยาวนาน 2 สัปดาห์เมื่อกลางเดือน พ.ย. ที่รอยเตอร์พบว่า มีรายงานข้อกล่าวหาจำนวนมากของการละเมิดสิทธิโดยกองกำลังทหารหลังปะทะกับผู้ก่อความไม่สงบชาวโรฮิงญา
อย่างไรก็ตาม เต๊ต ส่วย กล่าวว่า แผนการเดินทางไม่ได้ตายตัว และอาจเปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศ และเหตุผลด้านความปลอดภัย และยังเชื้อเชิญให้นักข่าวแนะนำสถานที่เพิ่มเติมที่พวกเขาต้องการเดินทางไปเยือน
นักข่าวจะถูกพาไปยังหมู่บ้านทินเม ที่กองกำลังรักษาความสงบสังหารผู้ต้องสงสัย 2 ราย และจับกุมได้ 1 ราย หลังกลุ่มผู้ต้องสงสัยจุดระเบิดเมื่อวันอาทิตย์ (9) ตามการประกาศจากสำนักงานของอองซานซูจี
ขณะที่พม่าปฏิเสธการเข้าประเทศของคณะปฏิบัติภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติ แต่ยางฮี ลี ผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ กำลังเยือนรัฐยะไข่ในสัปดาห์นี้ โดยมีกำหนดพบหารือกับผู้ไร้ที่อาศัยจากความรุนแรงตั้งแต่ปี 2555
ชาวโรฮิงญาประมาณ 120,000 คน อาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศในรัฐยะไข่ พึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศ นับตั้งแต่ความรุนแรงระหว่างชุมชนเกิดขึ้นในปีนั้น.