รอยเตอร์ - สหรัฐฯ เรียกร้องให้พม่าอนุญาตให้คณะปฏิบัติภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงของสหประชาชาติ เข้าสืบสวนข้อกล่าวหาการสังหาร ข่มขืน และทรมาน โดยกองกำลังรักษาความมั่นคงต่อชาวมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ของพม่า
คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ตั้งคณะสอบสวนขึ้นในเดือน มี.ค. แต่ นางอองซานซูจี ผู้นำโดยพฤตินัยของรัฐบาลพลเรือน และรัฐมนตรีต่างประเทศของพม่า ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ และคัดค้านภารกิจดังกล่าว ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่พม่าได้กล่าวเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. ว่า ทางการจะปฏิเสธการเข้าประเทศของผู้สืบสวนสหประชาชาติชุดนี้
นิกกี เฮลีย์ ทูตสหรัฐฯ ประจำสหประชาชาติ ในนครนิวยอร์ก กล่าวว่า เป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่รัฐบาลพม่าจะต้องอนุญาตให้คณะปฏิบัติภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงชุดนี้ทำหน้าที่
“ประชาคมโลกไม่สามารถเพิกเฉยต่อสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในพม่า เราต้องยืนหยัดร่วมกัน และเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ต่อภารกิจค้นหาข้อเท็จจริงนี้” นิกกี เฮลีย์ ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง
ชาวโรฮิงญาราว 75,000 คน หลบหนีออกจากรัฐยะไข่ข้ามแดนไปฝั่งบังกลาเทศ หลังกองทัพพม่าดำเนินการปราบปรามทางทหารเมื่อเดือน ต.ค. ตอบโต้เหตุการณ์โจมตีด่านชายแดนตำรวจของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบชาวโรฮิงญา
รายงานของสหประชาชาติที่ออกในเดือน ก.พ. จากการสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาบางส่วน ระบุว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่าได้กระทำการสังหารหมู่ และข่มขืนชาวโรฮิงญาในระหว่างดำเนินการปราบปรามทางทหาร ที่มีแนวโน้มอย่างมากที่จะเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติและล้างเผ่าพันธุ์
“ไม่มีใครควรที่จะต้องเผชิญต่อการเลือกปฏิบัติหรือความรุนแรงเพราะชาติพันธุ์ หรือความเชื่อทางศาสนาของพวกเขา” เฮลีย์ กล่าว
รัฐบาลพม่ามองว่า ชาวโรฮิงญาราว 1 ล้านคน ในประเทศเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และปฏิเสธสิทธิความเป็นพลเมืองให้แก่คนกลุ่มนี้ แม้จะมีชาวโรฮิงญาหลายครอบครัวใช้ชีวิตอยู่ในประเทศมาหลายชั่วอายุคนก็ตาม.