รอยเตอร์/เอเอฟพี - พม่าเริ่มปิดค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ 3 แห่ง ในรัฐยะไข่ ตามการเปิดเผยของเจ้าหน้าระดับสูงของรัฐบาลในวันนี้ (11) พร้อมทั้งปฏิเสธการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญาในพื้นที่ที่มีการปฏิบัติการปราบปรามทางทหารเกิดขึ้น จนทำให้ประชาชนกว่า 75,000 คน ต้องอพยพไปบังกลาเทศ
ประชาชนหลายหมื่นคนจากชุมชนชาวมุสลิม และชาวพุทธของรัฐยะไข่สิ้นสุดลงที่ค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศหลังเกิดเหตุความรุนแรงระหว่างศาสนาขึ้นในพื้นที่เมื่อ 5 ปีก่อน
การปิดค่ายผู้พลัดถิ่นเป็นครั้งแรกนี้เกิดขึ้นหลังจากคณะกรรมการภายใต้การนำของนายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลปิดค่ายเหล่านี้ ในส่วนหนึ่งของมาตรการต่างๆ ที่มีเป้าหมายบรรเทาความตึงเครียดทางชาติพันธุ์
ต่อง ทุน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลได้เริ่มปิดค่าย 3 แห่ง ที่มีชื่ออยู่ในรายงานของคณะกรรมการ ที่ประกอบด้วย ค่ายของชาวยะไข่ และค่ายของชาวมุสลิม โดยค่ายที่ใหญ่ที่สุดจากทั้งสามค่ายนี้มีบ้านพักที่ชาวมุสลิมโรฮิงญาอาศัยอยู่มากกว่า 200 หลัง
“เราได้เริ่มกระบวนการปิดค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ 3 แห่ง” ต่อง ทุน กล่าวแถลง โดยไม่ได้ชี้แจงรายละเอียดว่าประชาชนที่อาศัยอยู่ในค่ายเหล่านี้จะย้ายไปอยู่ที่ใด
“ในเมืองจอก์พยู มีค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศสำหรับชาวยะไข่ ส่วนเมืองสิตตเวสำหรับกลุ่มชาวโรฮิงญา และเมืองรัมรี ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมกะมัน” ต่อง ทุน กล่าว
นอกจากการปิดค่ายผู้พลัดถิ่นภายในประเทศแล้ว ต่อง ทุน ยังได้กล่าวป้องรัฐบาล โดยระบุว่า ทางการกำลังทำหน้าที่อย่างดีที่สุดในการดำเนินกระบวนการตรวจสอบสัญชาติ
“เราต้องการแก้ไขปัญหาการไร้สัญชาติ เราต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เราก้าวไปข้างหน้า” ต่อง ทุน กล่าว
การโจมตีด่านชายแดนพม่าในเดือน ต.ค. เมื่อปีก่อนโดยกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบชาวโรฮิงญา ได้ชุดชนวนวิกฤตครั้งใหญ่ที่สุดของปีภายใต้การปกครองของนางอองซานซูจี ซึ่งรายงานของสหประชาชาติในเดือน ก.พ. ระบุว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่าได้ก่อเหตุสังหารหมู่ และรุมข่มขืนชาวโรฮิงญาระหว่างดำเนินการกวาดล้างผู้ก่อความไม่สงบ ที่อาจเทียบได้กับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
แต่ทหารปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ โดยระบุว่า ทหารปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
ต่อง ทุน ได้ย้ำคำกล่าวของนางอองซานซูจี ที่ให้สัมภาษณ์สื่อเมื่อไม่นานนี้ว่า การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เป็นคำที่รุนแรงเกินไปที่จะใช้อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้น
“ไม่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในยะไข่” ต่อง ทุน กล่าวต่อกลุ่มนักการทูตในนครย่างกุ้ง
“มันเป็นเรื่องของประชาชนที่อยู่คนละฝ่ายของความแตกแยก และรัฐบาลกำลังพยายามอย่างหนักที่จะจัดการแก้ไขสถานการณ์และปิดช่องว่างนั้น” ต่อง ทุน กล่าว
ความเห็นของต่อง ทุน มีขึ้นท่ามกลางการสืบสวนข้อกล่าวหาของคณะต่างๆ ที่รวมทั้งคณะทำงานที่มีรองประธานาธิบดีมี้น ส่วย เป็นประธาน
เมื่อเดือนที่ผ่านมา คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ตกลงที่จะส่งคณะค้นหาข้อเท็จจริงระหว่างประเทศมายังพม่าเพื่อดำเนินการสืบสวนข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่พม่าคัดค้าน โดยต่อง ทุน ระบุว่า รัฐบาลต้องการเวลา และพื้นที่ที่จะจัดการต่อปัญหา หากพบหลักฐานชัดเจนของการกระทำผิด ทางการจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด.