สมาคมจัดการธุรกิจไทยร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมถกแนวทางพัฒนาธุรกิจไทยแบบยั่งยืน 17 เป้าหมาย ยก 5 ประเด็นเร่งด่วนพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ ๙ เป็นแม่แบบ หลังพิสูจน์มาแล้วกว่า 20 ปี
วันนี้ (20 มิ.ย.) สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (ทีเอ็มเอ) และ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกันเปิดเวทีสัมมนาสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ และผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานแห่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมเปิดรับมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนถึงโอกาสที่ประเทศไทยจะเดินหน้าสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในงาน Global Business Dialogue: Sustainable Development Goals
น.ส.วรรณวีรา รัชฎาวงศ์ กรรมการบริหาร สมาคมฯ ทีเอ็มเอ เปิดเผยว่า การทำธุรกิจหรือการพัฒนาธุรกิจในปัจจุบัน จะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ สถานการณ์ทางการเมือง รวมไปถึงสังคม สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ แต่ประเด็นสำคัญที่ทุกๆ องค์กรจะต้องคำนึงถึง คือ จะพัฒนาธุรกิจอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง ซึ่งองค์กรธุรกิจสามารถใช้แนวทางของ “เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ทั้ง 17 เป้าหมาย ในการดำเนินธุรกิจได้ และเป้าหมายเหล่านั้นยังเป็นแนวทางให้เราทุกคนได้ช่วยกัน สร้างโลกที่มีความยั่งยืนและมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้นเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษยชาติในอนาคตอีกด้วย
ทั้งนี้ ภายในงานสัมมนานี้ได้หยิบยกประเด็นสำคัญ และเร่งด่วนที่สอดคล้องกับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยมาเผยแพร่ ทั้งหมด 5 ประเด็น ได้แก่ การมีพลังงานที่ทุกคนเข้าถึงได้ เชื่อถือได้ ยั่งยืน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง และสนับสนุนนวัตกรรม การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน และการขจัดความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหาร และการส่งเสริมเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน
ด้าน นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ กล่าวในการเป็นประธานเปิดงานสัมมนา ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อเตรียมแผนงานสำหรับขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้มีบทบาทในฐานะคณะจัดทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการความยั่งยืนของสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแม่แบบ เรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมานานแล้ว คือ หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งรัฐบาลได้น้อมนำหลักดังกล่าวมาช่วยในการบริหารงานของประเทศอยู่แล้ว อีกทั้งยังนำไปเผยแพร่ต่อในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา หรือ กลุ่ม 77 ของยูเอ็นอีกด้วย ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากนานาประเทศเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นหลักการที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงจนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และสอดรับกับแผนการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามเป้าหมายของยูเอ็นด้วย
ขณะที่ นายจิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานมูลนิธิมั่นพัฒนา ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Thailand ‘s Sufficiency Economy Philosophy and the SDGs ว่า หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้ถูกพิสูจน์มาแล้วกว่า 20 ปี สามารถช่วยสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ ตั้งแต่ระดับประชาชน เอกชน จนถึงรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของหลักบริหารความเสี่ยง ที่ภาคเอกชนใช้กันทุกวันนี้ ก็มีพื้นฐานมาจากหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หรือแม้แต่ในเรื่องการจัดทำกิจกรรมเพื่อสังคม หรือ โครงการซีเอสอาร์ ล้วนแล้วแต่มีรากมาจากหลักปรัชญานี้เช่นเดียวกัน โดยหากสังเกตให้ดีจะเห็นว่า นับตั้งแต่มีการนำหลักปรัชญานี้มาใช้ ประเทศไทยไม่เคยต้องประสบกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอีกเลย
ทางด้าน นายปรีชา ศิริ ผู้ได้รับรางวัลวีรบุรุษผู้รักษาป่า (Forest Hero) ในการประชุมอนุสัญญาพื้นที่ชุ่มน้ำแห่งสหประชาชาติครั้งที่ 10 ปี 2556 เปิดเผยว่า ชุมชนห้วยหินลาดใน ถูกยกให้เป็นชุมชนต้นแบบการพัฒนาอย่างยั่งยืน คนอยู่ร่วมกับป่า ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ชุมชนจะให้ความสำคัญกับป่าไม้ และพื้นที่อยู่อาศัย โดยไม่เบียดเบียน หรือ หาประโยชน์จากป่าไม้ รวมทั้งให้ความสำคัญกับการดำรงชีพด้วยวิถีธรรมชาติ มีการจัดสรรพื้นที่อย่างเหมาะสม ในการปลูกพืชผักสำหรับเป็นอาหารในชุมชน ไม่เคยคิดทำการเกษตรด้วยการทำลายธรรมชาติ พร้อมกันนี้ ชาวบ้านชุมชนห้วยหินลาดใน ยังตระหนักถึงการพัฒนาเยาวชน ให้รู้จักดูแลป่าไม้ที่อยู่อาศัย ชาวบ้านซึ่งเป็นชาวกะเหรี่ยงจะเน้นการทำอาชีพเกษตรแบบเลี้ยงดูตัวเอง ไม่ใช่ปลูกพืชเกษตรตามข้อเสนอของนายทุน