เครือข่ายเยาวชนห่วง กม. ไม่ห้าม “ธุรกิจเหล้า” จัดกิจกรรมซีเอสอาร์ เปิดช่องทำเนียนให้ความรู้ดื่มอย่างปลอดภัยในโรงเรียน ปลูกฝังทัศนคติดื่มได้เมื่อถึงเวลา ดื่มอย่างรับผิดชอบ ส่งเสริมการเกิดนักดื่มหน้าใหม่ กรมควบคุมโรครับ กม.มีช่องโหว่จริง เร่งหาแนวทางป้องกัน
จากกรณีเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ออกมาคัดค้านการจัดกิจกรรมโครงการ “Smashed วัยใสไกลแอลกอฮอล์” เพื่อให้ความรู้เรื่องผลกระทบจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในโรงเรียนทั่ว กทม. กว่า 40 แห่ง จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับมูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีบริษัทนำเข้าและจำหน่ายสุราต่างชาติสนับสนุน เนื่องจากอาจมีการให้ข้อมูลที่ทำให้เยาวชนคิดว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าธรรมดา สามารถดื่มได้เมื่อโตขึ้น
วันนี้ (30 ส.ค.) นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ กล่าวว่า การเข้าไปจัดกิจกรรมให้ความรู้ขององค์กรหน้าฉากธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ถือเป็นการทำกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์สังคม (ซีเอสอาร์) นับเป็นจุดอ่อนของ พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพราะไม่ได้ห้ามในส่วนนี้ ไม่เหมือนกับเรื่องของบุหรี่ที่ห้ามเด็ดขาด ทำให้ธุรกิจแอลกอฮอล์ หรือองค์กรหน้าฉากเหล่านี้สามารถเข้าไปทำกิจกรรมได้ เพราะไม่ใช่กิจกรรมส่งเสริมการตลาด ไม่มีการส่งเสริมการค้า การลดแลกแจกแถม หรือโชว์สินค้า แต่ปัญหาคือแม้จะไม่แสดงสินค้า แต่การเนียนเข้ามาทำกิจกรรมเช่นนี้ที่อ้างว่าเพื่อยับยั้งการดื่มของเด็กและเยาวชน สุดท้ายก็ไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้ว่า รูปแบบและเนื้อหานั้นจะไม่เป็นไปในแนวทางที่ปลูกฝังความคิดให้เด็กและเยาวชนเห็นว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นสินค้าธรรมดา ถึงเวลาใครก็ดื่มได้ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ได้เป็นปัญหา แต่อยู่ที่ความรับผิดชอบของผู้ดื่มเองหรือไม่ ซึ่งแนวคิดเหล่านี้จะปลูกฝังให้เยาวชนกลายเป็นนักดื่มหน้าใหม่ในอนาคต
“ที่ผ่านมา จะมีการทำกิจกรรมลักษณะแนวนี้โดยตลอด เช่น โครงการรักกันเตือนกัน หรือโครงการ Are You 20? ที่จะสื่อว่าอายุถึง 20 ปีแล้วหรือยัง เป็นต้น การให้ความรู้เรื่องของการยับยั้งการดื่มของเยาวชนนั้นควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ สพฐ. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่ดูแลเด็กและเยาวชน ไม่ใช่ปล่อยให้หน่วยงานที่มีองค์กรธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หนุนหลังมาเป็นผู้ให้ความรู้แล้วเข้าไปจับมือทำกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งเท่าที่เห็นจะมีอยู่ 2 องค์กรใหญ่ ที่มีบทบาทออกมาเคลื่อนไหว คือ มูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย ซึ่งหน่วยงานของรัฐเองควรที่จะต้องรู้เท่าทัน และป้องกันไม่ให้เกิดกิจกรรมในลักษณะเช่นนี้ ส่วนกิจกรรมดังกล่าวของ สพฐ. ก็ไม่แน่ใจว่า สพฐ. ทราบเบื้องหน้าเบื้องหลังของมูลนิธิดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งในวันที่ 31 ส.ค. 2559 ทางเครือข่ายฯ จะไปยื่นต่อคณะกรรมาธิการการศึกษา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถึงเรื่องการจัดกิจกรรมดังกล่าวด้วย” นายธีรภัทร์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า คนทั่วไปมองว่าการให้ความรู้เรื่องดื่มอย่างปลอดภัย ไม่สร้างความเดือดร้อนอาจช่วยลดปัญหาจากการดื่มได้ ทำให้เป็นช่องทางที่กลุ่มธุรกิจเข้ามาจัดกิจกรรมให้ความรู้ นายธีรภัทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือว่าเป็นโจทย์ยาก เพราะการจะดื่มหรือไม่นั้นก็ถือว่าเป็นสิทธิของแต่ละคน แต่การ ให้ความรู้ให้ห่างไกลจากแอลกอฮอล์โดยไม่ต้องบอกว่าดื่มอย่างไรถึงจะไม่ก่อให้เกิดปัญหา เชื่อว่า ก็ยังเป็นภูมิคุ้มกันที่จะช่วยป้องกันการดื่มได้ ซึ่งตอบโจทย์ที่เราต้องการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ ซึ่งปัจจุบันมีเด็กดื่มเหล้ามากกว่า 2.5 ล้านคน ส่วนใหญ่ดื่มอย่างเมาหัวราน้ำทั้งสิ้น แต่การให้ความรู้เท่าทันการดื่มหรือดื่มอย่างมีมาตรฐาน กลับเป็นการส่งเสริมให้เด็กดื่มเมื่อถึงเวลา มองว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าธรรมดา คนดื่มเองต้องมีความรับผิดชอบ แต่ข้อเท็จจริงคือเพียงแค่เริ่มคิดที่จะดื่มก็ไม่ปลอดภัยแล้ว
นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ยอมรับว่า พ.ร.บ. ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ยังไม่ครอบคุลมเรื่องการห้ามธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เข้ามาจัดกิจกรรมให้ความรู้ในสถานศึกษาจริง จึงยังเป็นช่องว่างทำให้กลุ่มธุรกิจเหล่านี้เข้ามาทำกิจกรรมให้ความรู้ในโรงเรียนได้ จึงทำให้มีข้อกังวลในเรื่องของการเข้ามาให้ความรู้เรื่องการดื่มอย่างไรจึงจะปลอดภัย หรือไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ซึ่งเรื่องนี้คงต้องมีการหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายก่อนว่าจะมีการป้องกันในเรื่องนี้อย่างไร
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข่าวประชาสัมพันธ์การแถลงข่าวจัดกิจกรรมโครงการ Smashed วัยใสไกลแอลกอฮอล์ ของ สพฐ. ร่วมกับมูลนิธิแก้ไขปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในเว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นั้น ขณะนี้ได้มีการลบข่าวดังกล่าวออกไปจากหน้าเว็บไซต์แล้ว
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่