สธ. ตั้งเป้าเพิ่มอัตราเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นาน 6 เดือน ให้ได้ 30% ลงนาม MOU ร่วม 7 องค์กร ส่งเสริมมีมุมนมแม่ในที่ทำงาน กรมสวัสดิการฯ เผย สถานประกอบกิจการมีมุมนมแม่แล้ว 1,268 แห่ง ลูกจ้างใช้บริการ 8,900 คน ช่วยลดค่าใช้จ่ายรวมกว่า 213 ล้านบาท
วันนี้ (25 ส.ค.) ที่โรงแรมปรินซ์พาเลซ กรุงเทพฯ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) บรรยายพิเศษหัวข้อ “นโยบายส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่” พร้อมเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ เนื่องในงานเฉลิมฉลองนมแม่โลก 2559 พร้อมเป็นประธานในพิธีลงนามระหว่างกรมอนามัย สธ. กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สภาการพยาบาล องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการมีสวัสดิการมุมนมแม่ และมีนโยบายที่อนุญาตให้พนักงานหญิงมีเวลาพักเพื่อบีบเก็บน้ำนมได้
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า เป้าหมายหลักของ สธ. คือ เป็นองค์กรหลักในการรวมพลังสังคม เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี โดยมีการดำเนินงานเพื่อความเป็นเลิศใน 4 ด้าน คือ ด้านส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค การรักษาพยาบาล บุคลากรสาธารณสุข และระบบบริหารจัดการที่ดีมีคุณธรรม ซึ่งการดำเนินงานเรื่องนมแม่ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของงานด้านการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพราะนมแม่มีทั้งคุณค่าอาหาร มีวิตามิน มีภูมิคุ้มกันต่าง ๆ จำนวนมาก ที่สำคัญ ยังมอบความอบอุ่นให้กับเด็กที่จะติดตัวไปจนโตอีกด้วย นอกจากนี้ ในการดูแลสุขภาพทุกกลุ่มวัยนั้น วัย 0 - 5 ปี ถือว่ามีความสำคัญที่สุดที่จะพัฒนาขึ้นมาให้เป็นคนไทยที่มีความแข็งแกร่งทั้งสุขภาพกายและใจ มีความรู้ เป็นกำลังหลักสำคัญของประเทศ ซึ่งรัฐบาลมีแผนการพัฒนาในทุกด้านใน 20 ปี ซึ่งจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้
“ปัญหาคือ โอกาสการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในปัจจุบันค่อนข้างยาก เพราะแม่ต้องทำงานนอกบ้าน ขณะที่ที่ทำงานก็ไม่เอื้ออำนวยต่อการบีบเก็บน้ำนม ทำให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนของไทย ค่อนข้างต่ำมาก คือ 12.3% แต่จากการรณรงค์ของกรมอนามัย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และมูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ ช่วยให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 20% ก็ถือว่าดีขึ้น แต่จะต้องดีขึ้นกว่านี้ ซึ่งเป้าหมายคือจะต้องถึง 30% ให้ได้ โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมมือกัน ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ถือว่ามีความสำคัญในการดำเนินงาน โดยเฉพาะภาคประชาสังคมที่จะช่วยให้การทำงานเรื่องนมแม่ประสบความสำเร็จ” นพ.ปิยะสกล กล่าว
นางพรรณี ศรียุทธศักดิ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า ประเทศไทยมีสถานประกอบกิจการถึง 400,000 แห่ง ถือเป็นความท้าทายที่จะผลักดันให้เกิดสวัสดิการด้วยการมีมุมนมแม่ในที่ทำงาน จึงต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อให้ผู้หญิงวัยทำงานมีโอกาสได้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในอัตราที่สูงขึ้น ซึ่งจากการรณรงค์พบว่า ขณะนี้สถานประกอบกิจการมีมุมนมแม่แล้วจำนวน 1,268 แห่ง ลูกจ้างได้รับประโยชน์โดยใช้บริการมุมนมแม่จำนวน 8,902 คน สามารถลดค่าใช้จ่ายของลูกจ้างประมาณ 213 ล้านบาท โดยคิดจากจำนวนเดือนที่ลูกจ้างเลี้ยงดูบุตรด้วยนมแม่อย่างต่ำ 6 เดือน ประมาณการค่าใช้จ่ายในการซื้อนมผสมสำเร็จรูป 4,000 บาทต่อเดือน อย่างไรก็ตาม การสนับสนุนให้สถานประกอบกิจการมีมุมนมแม่นั้น คงไม่ได้ออกเป็นกฎหมายว่าทุกแห่งต้องมี แต่หากจัดเป็นสวัสดิการก็จะช่วยสร้างกำลังใจให้แก่พนักงาน ลดการลา การเจ็บป่วย และลดค่าใช้จ่าย ซึ่งสุดท้ายบริษัทเองก็จะได้ประโยชน์ด้วย ตรงนี้จึงเหมือนเป็นการทำซีเอสอาร์ของสถานประกอบกิจการในการช่วยสร้างชาติ
พญ.ศิริพร กัญชนะ ประธานมูลนิธิศูนย์นมแม่ฯ กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ จะนำไปสู่การพัฒนาเด็กซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญของประเทศ แต่ละองค์กรจะให้การสนับสนุนในด้านต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และดำเนินการ เช่น สภาการพยาบาลจะช่วยพัฒนาศักยภาพพยาบาลวิชาชีพในสถานประกอบกิจการ และ สสส. จะช่วยประสานกับองค์กรภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน และภาคประชาสังคมเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่