xs
xsm
sm
md
lg

ข้อมูลสุขภาพในโซเชียลมั่วเกินครึ่ง แชร์ไม่ยั้งเพราะคิดว่าได้บุญ!! แนะเทคนิครู้เท่าทัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หมอจุฬาฯ เผย “ข้อมูลสุขภาพ” ทางโซเชียลฯ มั่วเกินครึ่ง กะเทาะวิกฤต “แชร์ไม่คิด” เหตุส่งต่อเรื่องสุขภาพได้บุญ!! แนะ 3 ขั้นตอนหลักประเมินความน่าเชื่อถือข้อมูลสุขภาพ “แหล่งที่มา - มีข้อสงสัยหรือไม่ - มองรอบด้านข้อดีข้อเสีย” สช. ชี้ ถือเป็นหน้าที่ด้านสุขภาพของทุกคนตามธรรมนูญสุขภาพ
นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา
วันนี้ (26 ก.ย.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่อาคารสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที สช. เจาะประเด็น ครั้งที่ 3/2559 “ธรรมนูญระบบสุขภาพ 2559 : ภารกิจสร้างคนไทยพันธุ์ใหม่” โดย นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการสุขภาพแห่งชาติ และประธานกรรมการทบทวนธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ที่ผ่านมา คนรับรู้แต่เรื่องสิทธิด้านสุขภาพ แต่ธรรมนูญระบบสุขภาพฉบับที่ 2 ซึ่งจะนำมาใช้เป็นกรอบในการกำหนดนโยบาย ยุทธศาสตร์การดำเนินงานด้านสุขภาพของประเทศ มีการเพิ่มสาระสำคัญในเรื่องของหน้าที่ด้านสุขภาพของประชาชนด้วย คือ ต้องมีการศึกษาหาความรู้ด้านสุขภาพในการดูแลตัวเอง ครอบครัว และสังคมให้มีสุขภาพ สุขภาวะที่ดี และรัฐบาลต้องส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนเข้าถึงความรู้ ข้อมูล ระบบที่จะทำให้ประชาชนดูแลตนเองได้ด้วย
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความรู้เท่าทันด้านสุขภาพมีผลต่อการเกิดโรคอย่างชัดเจน โดยพบว่าหากคนที่ไม่มีความรู้ด้านสุขภาพ ปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องย่อมมีโอกาสเกิดโรคภัยไข้เจ็บมากกว่า เกิดการเจ็บตายพิการและสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษามากกว่า ทั่วโลกจึงพยายามเน้นเรื่องความรู้เท่าทันด้านสุขภาพ (Health Literacy) มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่รู้ แต่ต้องนำไปปฏิบัติได้ อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือข้อมูลสุขภาพในปัจจุบันจะพบว่ามีการส่งต่อ หรือแชร์เป็นจำนวนมาก อย่างในแอปพลิเคชัน “ไลน์” มีการศึกษาว่าการก๊อบปี้ข้อมูลและแชร์ข้อมูลสุขภาพกันในไลน์กว่า 50% เป็นข้อมูลที่บิดเบือน ไม่เป็นความจริง ดังนั้น คนที่มีความรู้เท่าทันด้านสุขภาพ จะต้องมีลักษณะดังนี้ “เข้าถึง เข้าใจ และนำไปใช้ได้” คือ สามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพได้ ประเมินข้อมูลสุขภาพได้ว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ และนำมาปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับปัญหาของตัวเอง

“ปัญหาที่ทำให้มีการส่งข้อมูลสุขภาพแบบผิด ๆ จำนวนมาก เพราะพื้นฐานของคนไทยชอบเก็บงำความรู้สึกความสงสัยไว้ในใจ ไม่ยอมถาม เหมือนเวลาถามนักศึกษาว่ามีตรงไหนไม่เข้าใจหรือสอบถามหรือไม่ ก็มักจะได้ความเงียบกลับมา นอกจากนี้ เราถูกปลูกฝังเรื่องของเมตตาธรรม การส่งต่อข้อมูลให้คนอื่นที่เราคิดว่าดี อย่างเรื่องสุขภาพถือเป็นการทำบุญช่วยคนอื่น แต่ปัญหาคือ การแชร์ออกไปนั้นเราส่งโดยที่ยังไม่มีการพิสูจน์ถูกผิดว่าเชื่อถือได้จริงหรือไม่ ดังนั้น การพิจารณาว่าข้อมูลสุขภาพเชื่อถือได้มากน้อยแค่ ทำได้โดย 1. ดูแหล่งที่มาของข้อมูลก่อนว่ามีหรือไม่ น่าเชื่อถือหรือไม่ 2. เข้าใจกระจ่างชัดในข้อมูลนั้นหรือไม่ มีข้อสงสัยใดเพิ่มเติมหรือไม่ และ 3. ดูว่าข้อมูลให้ข้อดีเพียงด้านเดียวหรือไม่ ซึ่งความเป็นจริงทุกอย่างมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ก็จะต้องหาข้อจำกัด หรือข้อเสียของข้อมูลนั้นด้วย โดยอาจค้นคว้าเพิ่มเติมหรือถามผู้เชี่ยวชาญ หากเชื่อถือได้ค่อยปฏิบัติหรือค่อยส่งข้อมูลต่อให้คนอื่น” ผศ.นพ.ธีระ กล่าว

ผศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า หน้าที่ด้านสุขภาพที่สามารถทำได้อีก คือ ผู้เชี่ยวชาญแต่ละอาชีพสามารถช่วยสร้างความรู้ที่ถูกต้องด้านสุขภาพได้ด้วย เช่น เมื่อพบข้อมูลที่ไม่น่าถูกต้องกับศาสตร์ที่เราทราบ อย่างเรื่องอาหาร เชฟ หรือครูการเรือน ก็สามารถช่วยให้ความรู้ที่ถูกต้องได้ หรือการตกแต่งที่อยู่อาศัยที่ดีต่อสุขภาพ คนที่เรียนสถาปนิกก็ควรออกมาให้ข้อมูลว่าถูกหรือผิด เป็นต้น ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องระลึกเสมอว่า การให้คำแนะนำหรือข้อมูลแก่ประชาชนควรถูกต้องและใช้ภาษาที่ควรทั่วไปเข้าใจได้ง่าย ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการก็อย่าหวังเอาแต่กำไร ด้วยการเสนอข้อมูลความจริงเพียงเสี้ยวเดียว แต่ควรทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ หรือทำซีเอสอาร์ในแบบที่มองกิจการว่าได้ทรัพยากรมาถูกต้องมีคุณภาพหรือไม่ กระบวนการทำงานกระทบต่อคนอื่น สังคม สิ่งแวดล้อมหรือไม่ ถ้ามีผลกระทบก็ต้องหาทางปรับปรุง
นายอาริยะ คำภิโล หรือลุงโจนส์ จากแฟนเพจ Jones Salad
นายอาริยะ คำภิโล เจ้าของแฟนเพจ Jones Salad กล่าวว่า การทำข้อมูลสุขภาพเป้นเรื่องยาก เพราะคนทั่วไปมักตั้งคำถามเพียงแค่ว่ากินอะไร ทำอะไรแล้วจะดีต่อสุขภาพ ทำให้ปัจจุบันพบแต่ข้อมูลที่ว่ากินอะไรช่วยอะไร เช่น กินทุเรียนช่วยให้น้ำตาลในเลือดไม่พุ่งจนเกินไป เป็นต้น แต่ไม่ได้บอกข้อมูลเพิ่มเติมที่อาจเป็นข้อจำกัด หรือข้อเสีย อย่างทุเรียนช่วยเรื่องน้ำตาลในเลือดจริง แต่ต้องไม่ลืมว่าตัวทุเรียนก็มีน้ำตาลมาก การกินมาก ๆ ก็ส่งผลกระทบเช่นกัน ดังนั้น จึงต้องพิจารณาข้อมูลให้ถี่ถ้วนต้องมีข้อสงสัยว่าจริงหรือไม่ มีข้อดีข้อเสียอย่างไร ส่วนภาคธุรกิจก็ไม่ควรเอาข้อมูลความจริงเพียงเสี้ยวเดียวมาหวังทำกำไร เช่น คาเฟอีนช่วยเพิ่มการเผาผลาญ แล้วมาโหมโฆษณา ทั้งที่หากอยากทำอย่างขาวสะอาด อาจต้องทำการบ้านเพิ่ม เพิ่มการทำการตลาด เช่น การนำไปเชื่อมโยงกับการออกกำลังกายเป็นต้น เมื่อทำข้อมูลที่ดี ครบถ้วน ก็จะโดนใจคนก็จะเกิดการส่งต่อโดยที่ไม่ต้องเสียค่าทางการตลาด

ดร.กษิติธร ภูภราดัย คณะทำงานจัดทำแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรฐกิจและสังคม กล่าวว่า หน่วยงานรัฐต้องเปิดเผยข้อมูลให้มากขึ้น ต้องมีกระบวนการในการจัดการกับข้อมูลจำนวนมากและกระจัดกระจายมาทำให้ประชาชนเข้าใจ อย่างเรื่องข้อมูลสุขภาพมี 2 ลักษณะ คือ ข้อมูลที่พบเห็นทั่วไป กับเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น โรคระบาด ภัยที่ไม่คาดคิด ตรงนี้ภาครัฐต้องให้ข้อมูลให้เร็วและไว ให้เท่าทันกับข้อมูลที่มาจากไม่มีแหล่งข้อมูล เป็นต้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น