สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB (ทีเส็บ) ร่วมกับ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ และองค์กรพันธมิตร จัด “โครงการประชุมเมืองไทย อิ่มใจ ตามรอยพระราชดำริ : น้ำพระทัยสู่ราษฎรไทยภูเขา” ที่ จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อเฉลิมฉลองปีมหามงคล 3 ปีติ ได้แก่ วาระครบรอบ 70 ปี ครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 88 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา
นายภูริพันธ์ บุนนาค ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมตลาดในประเทศ TCEB กล่าวว่า จะส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมการศึกษาดูงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อให้องค์กรต่างๆ ได้น้อมนำแนวพระราชดำริมาปรับใช้ในการทำงานหรือชีวิตประจำวัน โดยผนวกกิจกรรมเชิงไมซ์เข้าไว้ในโปรแกรมด้วย อาทิ การจัดฝึกอบรมศึกษาดูงาน กิจกรรมซีเอสอาร์ การจัดประชุมสัมมนา รวมถึงการท่องเที่ยวก่อนหรือหลังงานประชุม (Pre-post tour) เป็นต้น
สำหรับเส้นทางศึกษาดูงานโครงการตามแนวพระราชดำริในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน จะพาไปเยี่ยมชมโครงการที่ทรงพระราชทานเพื่อช่วยเหลือแก่ประชาชนในถิ่นทุรกันดาร และราษฎรไทยภูเขาที่อาศัยอยู่ตามแนวชายแดน โดยจุดแรกที่จะไปเยี่ยมชม คือ “ศูนย์ศิลปาชีพ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในพระบรมราชินูปถัมภ์” ซึ่งเป็นศูนย์ศิลปาชีพแห่งแรกของจังหวัดแม่ฮ่องสอน
ครั้งนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงเยี่ยมราษฎร ที่บ้านห้วยเดื่อ หมู่ที่ 3 ต.ผาบ่อง อ.เมือง เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2523 โดยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จเพื่อทรงเยี่ยมราษฎรด้วย และได้ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานจัดสร้างหลุก หรือ กังหันน้ำ ผันน้ำจากแม่น้ำปายเข้ามาสู่แปลงเกษตรของราษฎร และเน้นให้ปลูกหม่อน เลี้ยงไหมเป็นกิจกรรมหลัก
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ ให้คัดเลือกบุตรหลานของสมาชิกศิลปาชีพ เข้าไปฝึกอบรมการทอผ้าไหมที่กองศิลปาชีพด้วย ต่อมาในปีพ.ศ. 2538 ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานเงินของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ จัดซื้ออาคารและที่ดิน จำนวน 5 ไร่เศษ พระราชทานให้จัดตั้งเป็น “ศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในพระบรมราชินูปถัมภ์”
และเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2548 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯทอดพระเนตรผลการดำเนินงานและทรงกระทำพิธีเปิดอาคารศิลปาชีพหลังใหม่ ซึ่งปัจจุบันเป็นศูนย์กลางในการฝึกอบรมและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพ โดยภายในเป็นอาคาร 3 ชั้น แบ่งเป็นพื้นที่ส่วนต่าง ๆ ดังนี้
ชั้นที่ 1 เป็นห้องจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากศูนย์ศิลปาชีพจังหวัดแม่ฮ่องสอนและกลุ่มศิลปาชีพกลุ่มต่าง ๆ ทั้งตุ๊กตาชาวเขา ผ้าทอ เครื่องจักสาน ของชำร่วย และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากวัสดุในท้องถิ่น
ส่วนชั้นที่ 2 เป็นห้องทรงงาน และใช้เป็นสถานที่จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ รวมถึงเป็นที่ทำงานของคณะทำงานโครงการพัฒนาตามพระราชดำริจังหวัดแม่ฮ่องสอน
และชั้นที่ 3 เป็นพิพิธภัณฑ์ชนเผ่า 6 เผ่า ได้แก่ ลีซู ลาหู่ ม้ง ลัวะ ไทใหญ่และกะเหรี่ยง โดยมีการนำศิลปวัฒนธรรมของชนเผ่าต่าง ๆ ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมาแสดง การจำลองวิถีชีวิต เครื่องแต่งกายและข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน และยังมีการจัดแสดงบ้านจำลองของชนเผ่าทั้ง 6 เผ่าอีกด้วย
จากนั้นไปเยี่ยมชม “ศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตองตามพระราชดำริ จ.แม่ฮ่องสอน (ศูนย์ฯ ปางตอง)” ต.หมอกจำแป่ อ.เมือง ที่ในอดีตประชาชนที่อาศัยบริเวณนี้เป็นชนกลุ่มน้อยเผ่าต่าง ๆ และชนกลุ่มน้อยผู้พลัดถิ่น ได้แก่ ม้ง, มูเซอ, ลีซอ, กระเหรี่ยง, ลัวะ, ไทยใหญ่ ซึ่งอาชีพหลักทั่วไปจะเป็นการทำไร่เลื่อนลอย การเลี้ยงสัตว์ หาของป่า รับจ้างขนยาเสพติด ให้แก่กลุ่มกู้ชาติต่างๆ บริเวณแนวชายแดน
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีความห่วงใยราษฎรและความมั่นคงปลอดภัยของประเทศเป็นอย่างมาก จึงได้มีพระราชดำริให้กองทัพบกร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดให้มีโครงการนี้ขึ้น ในปี พ.ศ.2522 เป็นต้นมา
ศูนย์ฯ ปางตอง มีพื้นที่รับผิดชอบประมาณ 5,400 ไร่ มีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่ ดิน น้ำ ป่าไม้ สัตว์ป่า ในระบบนิเวศน์ไม่ให้เสื่อมโทรม นอกจากจะเป็นศูนย์แห่งการเรียนรู้ด้านการพัฒนาแล้ว ยังเป็นที่ตั้งของเรือนประทับแรมนั่นคือ พระตำหนักปางตอง อีกด้วย
ศูนย์ฯ ปางตอง ได้แบ่งพื้นที่การปฏิบัติงานให้กับหน่วยงานต่างๆ อีก 11 ส่วน เช่น ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดแม่ฮ่องสอน กรมประมง ทดสอบการเลี้ยงปลา ได้แก่ ปลาสเตอร์เจียนและปลากดหลวง, สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์แม่ฮ่องสอน จัดทำฐานเรียนรู้การเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูง เช่น แกะ ม้า และยังมีผลิตภัณฑ์ของศูนย์บริการและพัฒนาที่สูงปางตองตามพระราชดำริให้ได้อุดหนุนอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีโครงการเปิดเส้นทางท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติและเส้นทางจักรยานจากศูนย์ฯปางตอง เพื่อไปเที่ยวชมทัศนียภาพและความงามของ “โครงการพระราชดำริปางตอง 2 (ปางอุ๋ง)” เป็นโครงการในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชินี ที่มีพระราชดำริให้รวบรวมราษฎรกลุ่มน้อยบริเวณนั้นให้อยู่เป็นชุมชน และพัฒนาความเป็นอยู่ ส่งเสริมอาชีพปลูกป่า สร้างอ่างเก็บน้ำ
โดยมีพระราชประสงค์สร้างความมั่นคงตามแนวชายแดน เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้นและฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ยั่งยืนตลอดไป “ปางอุ๋ง” จึงกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของแม่ฮ่องสอน ที่มีความสวยงาม ภายในอ่างเก็บน้ำ ที่รอบๆ เต็มไปด้วยป่าสนสองใบและสนสามใบ อีกทั้งยังมีอากาศเย็นสบายสดชื่นตลอดปี
จากนั้นเข้าเยี่ยมชม “โครงการธนาคารอาหารชุมชน (Food bank)” ที่เป็นโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรที่บ้านนาป่าแปก ใน ต.หมอกจำแป่ และทรงทราบถึงปัญหาการขาดแคลนอาหาร อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรมนุษย์
จึงมีพระราชประสงค์ให้มีการทำการเกษตรแบบหลากหลายทั้งพืชและสัตว์ เพื่อเป็นแหล่งสะสมอาหารตามธรรมชาติ คณะทำงานโครงการพัฒนาตามพระราชดำริ จ.แม่ฮ่องสอน จึงได้ดำเนินการจัดทำโครงการนี้ตามพระราชเสาวนีย์ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2543 เป็นต้นมา เพื่อให้ราษฎรในพื้นที่ผลิตอาหารเลี้ยงตัวเองได้ และเหลือจำหน่ายในพื้นที่ใกล้เคียง
โดยได้ดำเนินการคัดเลือกราษฎรจำนวน 10 ครัวเรือนจากบ้านนาป่าแปก เป็นบ้านนำร่อง แล้วจึงขยายผลไปยังพื้นที่ใกล้เคียง และในปัจจุบันประชากรในพื้นที่นี้มีรายได้สม่ำเสมอต่อเนื่องตลอดปี นอกจากการขายในชุมชนแล้วยังสามารถส่งผลผลิตไปขายให้กับชุมชนใกล้เคียงซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวอีกด้วย
นอกจากการจัดกิจกรรมการจัดประชุมของทีเส็บ ที่ได้จัดเส้นทางตามรอยโครงการในพระราชดำริแล้ว ยังมีอีกหลายสถานที่ใน จ.แม่ฮ่องสอน ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจและไม่ควรพลาดไปชมอีกด้วย เช่น หมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาว บ้านห้วยเสือเฒ่า, พระธาตุดอยกองมู พระธาตุศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง, วัดจองกลางและวัดจองคำ วัดคู่แฝดแห่งเมืองแม่ฮ่องสอน หรือสะพานไม้ซูตองเป้ เป็นต้น
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com