xs
xsm
sm
md
lg

ร่วมตามรอย “ศาสตร์พระราชา” ช่วยบรรเทาทุกข์ภัยคนไทยทั้งแผ่นดิน มาตลอด 70 ปีครองราชย์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทางเข้าอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ทางฝั่ง จ.กาฬสินธุ์
สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB ได้จัดกิจกรรมศึกษาดูงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่ จ.สกลนคร-กาฬสินธุ์ เพื่อร่วมเฉลิมฉลองพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี
คณะสื่อมวลชนร่วมฟังบรรยายโครงการอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบนและอุโมงค์ผันน้ำ
โดยกิจกรรมดังกล่าวถูกจัดให้เป็นกิจกรรมหลักตลอดปี เพื่อสร้างการรับรู้และเผยแพร่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่มีมากกว่า 4,447 โครงการ เรียกว่า “ศาสตร์พระราชา” ไปสู่ประชาชนทั่วประเทศ ผ่านการศึกษาดูงานของคณะสื่อมวลชน โดยเมื่อวันที่ 21-22 ก.ค. ที่ผ่านมา คณะสื่อมวลชนได้ไปศึกษาดูงานในหัวข้อ “ศาสตร์พระราชา : ต้นแบบการพัฒนาที่ภาคอีสาน” ในพื้นที่ จ.สกลนคร-กาฬสินธุ์

ในส่วนของ จ.กาฬสินธุ์ ได้เข้าชม “โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” และ “โครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังพิพัฒน์” โดยมี คุณอำพล ตมโคตร หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 โครงการชลประทานกาฬสินธุ์ เป็นผู้บรรยายและพาชมโครงการ
ส่งน้ำด้วยระบบท่อส่งน้ำชลประทาน
คุณอำพล กล่าวว่า เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรบ้านกุดสิม ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ เมื่อปี 2535 และทรงทราบถึงปัญหาเรื่องความแห้งแล้งทุรกันดาร มีน้ำไม่เพียงพอต่อการใช้ พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานสร้าง “อ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน” มีขนาดความจุ 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตร เริ่มก่อสร้างปี 2537 แล้วเสร็จในปี 2538

และทรงให้ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร มาเพิ่มเติมที่อ่างนี้ (น้ำที่ผันมาจะเป็นน้ำส่วนเกินจากที่คนในพื้นที่ต้องใช้) ทำให้ประชาชนจำนวน 19 หมู่บ้าน 507 ครัวเรือนมีน้ำอุปโภค-บริโภคตลอดปี สามารถช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรถึง 4,600 ไร่
สระน้ำประจำไร่นาตามแนวทฤษฎีใหม่
คุณอำพล กล่าวต่อว่า ในการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานสร้าง “อุโมงค์ผันน้ำ ลำพะยังภูมิพัฒน์" ที่ส่งน้ำด้วยระบบท่อส่งน้ำชลประทาน ลอดใต้ภูเขาภูบักดี (เพื่อให้กระทบพื้นที่ป่าน้อยที่สุด) ระยะทาง 710 เมตร เริ่มก่อสร้างปี 2546 แล้วเสร็จในปี 2548 ทำให้อ่างเก็บน้ำลำพะยังมีพื้นที่รับประโยชน์เพิ่มขึ้น 12,000 ไร่ รวมเป็น 16,600 ไร่ (เป็นพื้นที่เกษตรของทั้ง จ.กาฬสินธุ์ และ จ.มุกดาหาร) ส่งผลให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า

อีกทั้งพระองค์ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทาน “ขุดสระน้ำประจำไร่นา” ตามแนวทฤษฎีใหม่ ที่จะช่วยให้ในพื้นที่ของตนมีน้ำใช้ตลอดปี ซึ่งขุดเสร็จไปแล้วจำนวน 168 สระ พร้อมทั้งให้ยกระดับเก็บกักน้ำของอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบนอีก 80 เซนติเมตร ส่งผลให้อ่างเก็บน้ำแห่งนี้มีขนาดความจุรวม 4.00 ลูกบาศก์เมตร
งานศึกษาและพัฒนาด้านข้าว หนึ่งในองค์ความรู้ที่เปิดให้ศึกษาในศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน
จากนั้นคณะสื่อมวลชนเดินทางต่อไปยัง จ.สกลนคร เข้าศึกษาดูงานที่ “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” บ้านนานกเค้า ต.ห้วยยาง อ.เมือง จ.สกลนคร โดยมี คุณศิรวิชญ์ เรืองสุข อดีตผู้อำนวยการศูนย์วิจัยข้าวสกลนคร ซึ่งเป็นผู้บรรยายในครั้งนี้ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรที่นี่ และทรงทราบถึงปัญหาความทุรกันดาร มีสภาพพื้นดินแย่ ทำให้ผลผลิตทางเกษตรไม่ดี ประชาชนในพื้นที่จึงมีฐานะยากจน
เครื่องทอผ้าไหม ในศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน
คุณศิรวิชญ์ กล่าวต่อว่า พระองค์ทรงศึกษาสภาพพื้นดินบริเวณนี้ด้วยพระองค์เอง ทรงพบว่าเป็นดินทราย ดินเค็ม และขาดน้ำ ซึ่งเหมือนกับอีกหลายพื้นที่ในภาคอีสาน พระองค์ทรงให้กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำตาดไฮใหญ่ เพื่อเป็นแหล่งน้ำสนับสนุนพื้นที่เกษตรบริเวณนี้

และทรงจัดตั้ง "ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพาน" ให้ประชาชนของภาคอีสานได้เข้ามาศึกษา เรียนรู้ในหลากหลายสาขาเพื่อนำไปพัฒนาพื้นที่ ทั้งการเกษตร การปศุสัตว์ การชลประทาน รวมถึงได้ฝึกฝนวิชาชีพสำหรับครัวเรือน อาทิ การทำผ้าไหม การทำน้ำข้าวกล้อง การเพาะเห็ด ฯลฯ ซึ่งช่วยให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีสภาพความเป็นอยู่ดีขึ้นด้วย
ภายในโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย)
อีกหนึ่งโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่คณะสื่อมวลชนได้เข้าไปศึกษาดูงาน คือ “โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย)” ที่บ้านนางอย จ.สกลนคร (จดทะเบียนบริษัทในชื่อ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด) ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเข้ามาพัฒนาต่อตามแนวคิดของที่ว่า “ชุมชนได้รับประโยชน์ และธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้” อีกด้วย
แปลงเพาะต้นมะเขือเทศ
โดยรอบโรงงานหลวงนี้จะมีพื้นที่ส่งเสริมการปลูกมะเขือเทศประมาณ 23,000 ไร่ จึงมักถูกเรียกว่า “เส้นทางสายมะเขือเทศ” ที่จะส่งเสริมให้ประชาชนปลูกและนำมะเขือเทศมาแปรรูป และสามารถนำมะเขือเทศ รวมถึงผลผลิตการเกษตรที่เป็นงานส่งเสริมอื่นๆ อาทิ เสาวรส มัลเบอร์รี กระเจี๊ยบ มาขายให้โรงงานหลวงเพื่อป้อนเป็นวัตถุดิบเข้าระบบอุตสาหกรรมเกษตรได้ ซึ่งทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถยืนได้ด้วยตนเอง นอกจากนั้นโรงงานหลวงยังได้รับมาตรฐานระดับสากลและมีผลิตภัณฑ์ส่งออกมากมายในหลายประเทศ

โครงการที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “ศาสตร์พระราชา” ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันที่แสดงให้เห็นถึงพระวิริยอุตสาหะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการขจัดความทุกข์ร้อนให้กับประชาชนของพระองค์อย่างไม่เคยเปลี่ยนแปลงตลอด 70 ปีที่ผ่านมานั่นเอง
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล travel_astvmgr@hotmail.com

 

กำลังโหลดความคิดเห็น