ศูนย์วิจัยทองคำ ชี้ดัชนีเชื่อมั่นทองคำส่งสัญญาณบวกต่อเนื่อง หลังขยายตัวติดต่อกัน 2 เดือนซ้อน สะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อทองคำในประเทศ ขณะที่แนวโน้มในระยะ 3 เดือน อยู่ในระดับทรงตัว
นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ดัชนีเชื่อมั่นทองคำเดือน ก.พ.59 สะท้อนมุมมองเชิงบวกต่อทองคำในประเทศเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน โดยดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.08 จุด มาอยู่ที่ระดับ 59.59 จุด ผู้ค้า และผู้ลงทุนเชื่อแรงซื้อเก็งกำไรหนุนราคาหลังราคาทองคำต้นปีบวกมากกว่า 10% ขณะที่ราคาซื้อขายทองในประเทศปรับลดลงเป็นผลจากการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของตลาดทุนโลก และราคาน้ำมันดิบ
“ความเชื่อมั่นราคาทองคำเดือนกุมภาพันธ์ยังปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.08 จุด สู่ระดับ 59.59 จุด ดัชนียังอยู่เหนือระดับ 50 จุด ซึ่งเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน”
ในการจัดเก็บข้อมูลพบว่า กลุ่มตัวอย่างค่อนข้างจะเชื่อว่าตลาดทองคำจะมีแรงซื้อเก็งกำไรหลังจากที่ราคาปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ตลาดหุ้นยังผันผวน ประกอบกับความเสี่ยงในเศรษฐกิจโลกอย่างวิกฤตเศรษฐกิจจีน รวมถึงการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยมุมมองดังกล่าวสอดคล้องกันทั้งกลุ่มผู้ค้าทองคำ และกลุ่มผู้ลงทุนทองคำ
ด้านการตอบแบบสอบถามเรื่องความต้องการซื้อทองคำในช่วง 1 เดือนข้างหน้า พบว่า สัดส่วนผู้ที่คิดจะซื้อทองคำในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ยังมีสัดส่วนค่อนข้างสูงประมาณ 40% ของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน โดยลดลง 9.19 จุด มาอยู่ที่ระดับ 53.24 จุด เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าราคามีการปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่อง ทำให้ราคาทองอาจจะเริ่มทรงตัว
ส่วนความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) จากผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ ผู้ค้าส่งทองคำ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 8 ตัวอย่าง พบว่า ผู้ค้าส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในประเทศเฉลี่ยเดือนกุมภาพันธ์ 2559 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนก่อน สอดคล้องต่อดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ โดยมีผู้ค้า 5 ราย มองทองคำเฉลี่ยทองคำในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 1 รายมองราคาทองเฉลี่ยจะใกล้เคียงกับเดือนมกราคม และมี 2 รายที่เชื่อว่าราคาทองคำเฉลี่ยจะปรับตัวลดลงในเดือนกุมภาพันธ์
โดยผู้ค้ามองว่า ราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะมีกรอบราคาสูงสุดอยู่ระหว่าง 1,160-1,180 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของราคาต่ำสุดอยู่ที่ 1,080-1,120 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ สำหรับราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 95.5%) กลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดที่ 19,500-20,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดอยู่ที่ 18,000-18,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ กล่าวว่า จากการอ่อนตัวลงของตลาดทองคำในช่วงต้นสัปดาห์เกิดจาก 2 ปัจจัยหลักด้วยกัน ประการแรก เราจะเห็นว่าตลาดทุนโลกเริ่มมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบทำให้หุ้นในกลุ่มพลังงานปรับตัวเพิ่มขึ้นหนุนดัชนีหลักทรัพย์หลายประเทศ ซึ่งทองคำกับตลาดหุ้นวิ่งสวนทางกันตั้งแต่ช่วงต้นปีในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ทองคำจะปรับตัวลดลงในช่วงที่ตลาดหุ้นเริ่มฟื้นตัวได้ดี ประการที่สอง ทองคำได้รับแรงกดดันจากปัจจัยทางเทคนิคหลังจากที่ราคาปรับตัวขึ้นต่อเนื่องจากระดับต้นปีใกล้ 1,065 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ มาใกล้ระดับ 1,260 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งปกติก็มักจะมีการย่อตัวจากการขายทำกำไร และราคาอาจจะมีการย่อตัวลงประมาณ 30-40% ของช่วงที่ขึ้นไป ซึ่งเป็นธรรมชาติของตลาด