ศูนย์วิจัยทองคำ เผยดัชนีเชื่อมั่นทองคำเดือน ม.ค.59 ฟื้นตัวครั้งแรกในรอบ 3 เดือน สะท้อนมุมมองทองในประเทศฟื้นตัว โดยดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.45 จุด มาอยู่ที่ระดับ 55.51 จุด เชื่อหลังเฟดขึ้นดอกเบี้ยราคาจะเริ่มฟื้น โดยได้รับแรงหนุนจากการเก็งกำไร และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าหนุนราคา ด้านผู้ค้าเชื่อสูงสุดของเดือนอาจแตะ 19,000-19,500 บาทต่อบาททองคำ
นายกมลธัญ พรไพศาลวิจิต ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือน ม.ค.59 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 10.45 จุด สู่ระดับ 55.51 จุด โดยดัชนีกลับมาอยู่เหนือระดับ 50 จุดครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ซึ่งสะท้อนทัศนคติต่อราคาทองคำเชิงบวก สอดคล้องกันทั้งกลุ่มผู้ค้า และกลุ่มผู้ลงทุน โดยกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าในช่วงต้นปีราคาทองคำน่าจะฟื้นตัวได้จากแรงซื้อเพื่อเก็งกำไรหลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับขึ้นดอกเบี้ยไปเป็นที่เรียบร้อย ประกอบกับการอ่อนตัวของค่าเงินบาทที่เป็นปัจจัยบวกต่อราคาทองคำตลอดทั้งปี 2558 ที่ผ่านมา
โดยความต้องการซื้อทองคำในช่วง 1 เดือนข้างหน้า พบว่า สัดส่วนผู้ที่คิดจะซื้อทองคำในช่วงเดือน ม.ค.59 ยังมีสัดส่วนค่อนข้างสูง คือ มีสัดส่วนกว่า 40% ของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเพิ่มขึ้น 12.28 จุด มาอยู่ที่ระดับ 62.43 จุด กลับมาสะท้อนมุมมองเชิงบวกเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ ผู้ค้าทองคำ(Gold Trader Consensus) จากผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ ผู้ค้าส่งทองคำ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 9 ตัวอย่าง พบว่า ผู้ค้าส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในประเทศเดือน ม.ค.59 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือนก่อน สอดคล้องต่อดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำ โดยมีผู้ค้า 6 รายมองทองคำเฉลี่ยทองคำในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือน ม.ค.59 ส่วนอีก 3 ราย มองราคาทองเฉลี่ยจะใกล้เคียงกับเดือน ธ.ค.58 และไม่มีกลุ่มตัวอย่างที่เชื่อว่าราคาทองคำเฉลี่ยจะปรับตัวลดลงในเดือน ม.ค.59
ผู้ค้ามองว่า ราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะมีกรอบราคาสูงสุดอยู่ระหว่าง 1,140-1,160 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของราคาต่ำสุดอยู่ที่ 1,020-1,040 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ สำหรับราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 95.5%) กลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดที่ 19,000-19,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดอยู่ที่ 17,500-18,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ
ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยถึงแนวโน้มการลงทุนในทองคำปีนี้ว่า จะมีผลตอบแทนเป็นบวก หลังจากในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา (56-58) ผลตอบแทนจากการลงทุนในทองคำเป็นลบ โดยคาดว่าราคาทองคำ ณ ปลายปี 59 จะไม่ต่ำว่า 1,100 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ จากล่าสุดคืนที่ผ่านมา สัญญาณทองคำตลาด COMEX (Commodity Exchange) ส่งมอบเดือน ก.พ. ปิดที่ระดับ 1,096.20 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ โดยนักลงทุนหันกลับมาลงทุนในทองคำที่เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากความเสี่ยงด้านการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับความขัดแย้งที่ชัดเจนมากขึ้นหลังเริ่มเห็นการเผชิญหน้ากันโดยตรง
ขณะเดียวกัน แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.80-38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับปัจจัยกดดันจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังเป็นเชิงลบ และปัจจัยภายนอกอย่างภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหนุนให้เงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้น
“เราเชื่อว่าปีนี้หากซื้อทองคำตั้งแต่ต้นปีแล้วไปขาย ณ สิ้นปี จะมีผลตอบแทนเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 3 ปี แนะนำว่าให้นักลงทุนทยอยซื้อทองคำเมื่อราคาต่ำกว่า 18,500 บาท ขณะที่ราคาอ้างอิงราคาทองคำโลกให้ทยอยซื้อเมื่อราคาต่ำกว่า 1,100 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ แนวโน้มราคาทองคำจะปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ระหว่างปีคงจะมีความผันผวน โดยปัจจุบันนักลงทุนเริ่มนำเงินมาลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงหลายๆ ด้านที่กระทบต่อตลาดเงิน และตลาดทุน” นายกมลธัญ กล่าว