รอยเตอร์ - ชาวมุสลิมโรฮิงญามากกว่า 1,000 คน อาจเสียชีวิตในการปราบปรามทางทหารของพม่า ตามการระบุของเจ้าหน้าที่สหประชาชาติอาวุโส 2 ราย ที่จัดการต่อผู้ลี้ภัยที่หลบหนีความรุนแรง และกล่าวเตือนว่า ยอดผู้เสียชีวิตอาจสูงกว่าที่รายงานไปก่อนหน้านี้
เจ้าหน้าที่จาก 2 หน่วยงานของสหประชาชาติในบังกลาเทศ ที่ชาวโรฮิงญาเกือบ 70,000 คน ได้หลบหนีเข้ามาในช่วงหลายเดือนมานี้ ระบุว่า พวกเขารู้สึกวิตกว่าโลกภายนอกไม่ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความรุนแรงของวิกฤติที่ถูกเปิดเผยในรัฐยะไข่ของพม่าครั้งนี้
“การพูดคุยจนถึงเวลานี้พบว่า มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน แต่สิ่งนี้อาจเป็นการประเมินที่ต่ำไป ที่จริงอาจมีจำนวนหลายพันคน” เจ้าหน้าที่รายหนึ่ง กล่าว
เจ้าหน้าที่ทั้ง 2 ราย ที่รอยเตอร์แยกกันสัมภาษณ์นั้นได้อ้างอิงถึงคำให้การของผู้ลี้ภัยที่รวบรวมโดยหน่วยงานของพวกเขา ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา เพื่อสรุปยอดผู้เสียชีวิตที่มีแนวโน้มเกิน 1,000 คน
ซอ เต โฆษกประธานาธิบดีพม่า กล่าวว่า รายงานฉบับล่าสุดจากผู้บัญชาการทหารพบว่า มีผู้เสียชีวิตมีจำนวนน้อยกว่า 100 คน ในปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบที่โจมตีด่านตำรวจชายแดนเมื่อเดือน ต.ค.
ซอ เต ระบุว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่สหประชาชาติระบุไว้นั้นมากกว่าตัวเลขของฝ่ายพม่าอย่างมาก ซึ่งทางการพม่าจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูล
ชาวมุสลิมโรฮิงญาประมาณ 1.1 ล้านคน อาศัยอยู่ในสภาพแบ่งแยกในพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของพม่า และถูกปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมือง ซึ่งชาวพม่าจำนวนมากหลายมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ
นอกเหนือไปจากข้อมูลที่เจ้าหน้าที่สหประชาชาติให้แก่รอยเตอร์ รายงานที่เผยแพร่โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เมื่อวันศุกร์ (3) ระบุว่า กองกำลังทหารได้ก่อเหตุสังหารหมู่ และการรุมข่มขืน ในพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของพม่าในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ที่ระบุว่า อาจเทียบได้กับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
รัฐบาลภายใต้การนำของนางอองซานซูจี กล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ทางการจะสืบสวนข้อกล่าวหาที่รายงานระบุ แม้ก่อนหน้านี้ทางการพม่าปฏิเสธเกือบทุกข้อกล่าวหา
นักการทูตในพม่ารายหนึ่ง กล่าวว่า ด้วยหลักฐานที่มีอยู่มากมายเกี่ยวกับการกระทำทารุณโดยกองกำลังทหาร ทำให้ ซูจี ที่ไม่สามารถควบคุมกองกำลังทหารภายใต้รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยรัฐบาลทหารชุดก่อนหน้า ตกอยู่ในฐานะลำบาก
และการตรวจสอบอย่างอิสระต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในพม่านับเป็นเรื่องยากมาก เนื่องจากทหารตัดการเข้าถึงพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐยะไข่
รายงานของ OHCHR อ้างหลักฐานสนับสนุน ที่ประกอบด้วย บาดแผลจากกระสุน และมีดบนตัวผู้ลี้ภัย และภาพถ่ายดาวเทียมที่แสดงให้เห็นหมู่บ้านที่ถูกทำลาย
เจ้าหน้าที่สหประชาชาติอาวุโสคนที่ 2 จากอีกหน่วยงานหนึ่งในบังกลาเทศ กล่าวต่อรอยเตอร์ว่า รายงานเหล่านี้แค่เปิดเผยเพียงแค่ส่วนเล็กน้อยเท่านั้น
.
.
.
.
รายงานของ OHCHR มาจากการสัมภาษณ์ผู้ลี้ภัย 220 คน ที่ส่วนใหญ่ระบุว่ารู้จักคนที่ถูกฆ่า หรือสูญหาย นอกจากนั้น รอยเตอร์ยังได้พิจารณารายงานการวิเคราะห์ภายในของสหประชาชาติซึ่งมีกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 1,750 คน พบว่า มีผู้ให้สัมภาษณ์ได้ระบุถึงกรณีคนถูกฆ่าหรือสูญหายเกินร้อยกรณีเช่นเดียวกัน
สหประชาชาติกล่าวว่า ผู้ลี้ภัยกว่า 69,000 คน อพยพข้ามพรมแดนมาฝั่งบังกลาเทศตั้งแต่เดือน ต.ค. ดังนั้น สัดส่วนของจำนวนคนที่ถูกฆ่า หรือสูญหายในหมู่ผู้ลี้ภัยทั้งหมดอาจเพิ่มเป็นหลักพัน
ตามรายงานผู้ลี้ภัยที่รอยเตอร์ได้รับจากค่ายในบังกลาเทศในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา กองทัพพม่าทวีความรุนแรงในการปราบปรามในพื้นที่ทางเหนือของรัฐยะไข่ และในรายงานของ OHCHR ระบุรายละเอียดของการสังหารว่า มีทั้งการกราดยิง การทิ้งระเบิดจากเฮลิคอปเตอร์ การสังหารอิหม่าม และครู การปาดคอด้วยมีด และกักขังคนไว้ในบ้านที่ไฟลุกไหม้
ผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ ยังได้รับฟังเรื่องราวใกล้เคียงกันนี้จากผู้ลี้ภัยในค่ายในบังกลาเทศ
คาตุน ฮาเซรา อายุ 35 ปีจากหมู่บ้านจาก่องตอง กล่าวต่อรอยเตอร์ว่า ทหารยิงสามีของเธอ ที่เป็นครูในหมู่บ้าน ขณะกลับบ้านพร้อมนักเรียน
“พวกเขายิงสามีฉัน และคว่ำศพลากไปกันพื้น แทงด้วยดาบ และถ่ายภาพไว้” ฮาเซรา กล่าว
แต่รอยเตอร์ไม่สามารถยืนยันความถูกต้องของเรื่องราวเหล่านี้ได้
ซอ เต โฆษกประธานาธิบดี กล่าวว่า ทางการจะพยายามที่ตรวจสอบยืนยันรายงานต่างๆ และหากเป็นความจริง ทางการจำเป็นที่จะต้องค้นหาเหตุผล และข้อมูลเบื้องหลังเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
รายงานของ OHCHR ยังระบุว่า ผู้ลี้ภัยโรฮิงญากลุ่มใหม่ส่วนมากเป็นผู้หญิงและเด็ก ซึ่งก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับชะตากรรมของผู้ชายที่อยู่ข้างหลัง เจ้าหน้าที่สหประชาชาติระบุ
“เด็กชาย และผู้ชายที่มีระหว่างอายุ 17-45 ปี ตกเป็นเป้าหมาย เนื่องจากพวกเขาถูกมองว่ามีความแข็งแกร่ง และมีศักยภาพที่จะเป็นภัยคุกคามต่อกองทัพและทางการ” เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ กล่าว และรายงานจำนวนมากระบุว่า ผู้ชายที่มีอายุในช่วงดังกล่าวถูกจับกุมตัว และนำตัวไปโดยที่มือถูกมัดไว้ด้านหลัง
ซอ เต กล่าวว่า ตำรวจ และทหารมีหน้าที่ในการจับกุม
ทางการพม่าให้ข้อมูลเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับจำนวนผู้ที่อาจถูกควบคุมตัว แม้เจ้าหน้าที่เรือนจำจะบอกต่อผู้แทนสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนเมื่อเดือนก่อนว่า พวกเขาควบคุมตัวไว้ประมาณ 450 คน
“หากคุณมองไปที่กลุ่มคนที่เดินทางเข้ามาใหม่ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้หญิง หลายคนคุยกันถึงสามีที่ถูกฆ่า ลุงที่ถูกสังหาร หรือพี่ชายที่หายตัว ผู้ชายทั้งหมดเหล่านั้นอยู่ที่ไหน” เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ กล่าว.