เอเอฟพี - สิ่งปลูกสร้างหลายร้อยหลังในหมู่บ้านของชาวโรฮิงญา ในพื้นที่ทางตะวันตกของพม่า ถูกเผาทำลายเสียหายตามที่ปรากฏในภาพถ่ายดาวเทียมชิ้นใหม่ที่นำออกมาเผยแพร่ในวันนี้ (13) ท่ามกลางการต่อสู้ครั้งใหม่ปะทุขึ้นในพื้นที่
รัฐยะไข่ ที่เป็นบ้านของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมโรฮิงญา และติดกับชายแดนบังกลาเทศ อยู่ภายใต้การปิดล้อมทางทหารของกองทัพพม่านับตั้งแต่เกิดเหตุโจมตีฐานชายแดนเมื่อเดือนก่อน
ทหารได้สังหารประชาชนไปหลายสิบคน และจับกุมผู้ต้องสงสัยอีกจำนวนมาก ในการล่าตัวผู้ก่อเหตุโจมตี ที่รัฐบาลระบุว่า เป็นผู้ก่อความไม่สงบชาวโรฮิงญาที่มีความเกี่ยวข้องต่อกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงในต่างประเทศ
การต่อสู้ครั้งใหม่เกิดขึ้นในวันเสาร์ (12) ที่ทำให้มีนายทหาร 2 นาย และผู้โจมตี 6 คน เสียชีวิต ตามการระบุของฝ่ายทหาร ที่ยังกล่าวเสริมว่า พวกเขานำเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธเข้าขับไล่การซุ่มโจมตี
สถานการณ์วิกฤต และรายงานเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นควบคู่ไปกับการปราบปราม ส่งผลให้เกิดแรงกดดันต่อรัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ของพม่า และก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความสามารถในการควบคุมกองทัพของรัฐบาล และเนื่องจากทหารได้จำกัดการเข้าไปในพื้นที่อย่างเข้มงวด ทำให้ยากที่จะตรวจสอบอย่างอิสระต่อรายงานของรัฐบาล หรือข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการละเมิดของทหาร
สำหรับภาพถ่ายดาวเทียมชิ้นใหม่ที่เผยแพร่โดยฮิวแมนไรท์วอช แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่หน่วยงานระบุว่า เป็นหลักฐานของการโจมตีวางเพลิงกับหมู่บ้านชาวโรฮิงญา และการวิเคราะห์ของฮิวแมนไรท์วอช ยังระบุว่า สิ่งปลูกสร้างมากกว่า 400 หลัง ถูกเผาทำลายในหมู่บ้านชาวโรฮิงญา 3 แห่ง ที่การต่อสู้ได้เกิดขึ้น
ฮิวแมนไรท์วอช กล่าวว่า ไฟที่ยังลุกโชน และรอยไหม้แสดงให้เห็ว่า การทำลายส่วนใหญ่เกิดจากการวางเพลิง ซึ่งภาพถ่ายล่าสุดนี้เก็บภาพเมื่อวันที่ 10 พ.ย.
แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการฮิวแมนไรท์วอชประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า ภาพถ่ายชุดใหม่เผยให้เห็นการทำลายอย่างกว้างขวาง ซึ่งรุนแรงกว่าที่คิดในตอนแรก
“ทางการพม่าควรจัดตั้งการสืบสวนที่สหประชาชาติให้ความช่วยเหลือโดยทันที เพื่อรับรองความยุติธรรม และความปลอดภัยของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ” แบรด อดัมส์ ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ได้ทำให้วิกฤตที่มีอยู่ยิ่งซับซ้อนขึ้น และเพิ่มความท้าทายต่อการบริหารงานของรัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของนางอองซานซุจี
รัฐยะไข่ ประสบต่อความตึงเครียดทางศาสนา ตั้งแต่คลื่นความรุนแรงระหว่างชาวพุทธ และชาวมุสลิมโรฮิงญาในปี 2555 ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200 คน และผู้คนอีกนับแสนที่ส่วนใหญ่เป็นชาวโรฮิงญาต้องอาศัยอยู่ในค่ายผู้พลัดถิ่น ที่กลุ่มเรียกร้องสิทธิ ระบุว่า ชาวโรฮิงญาเหล่านี้ต้องเผชิญต่อข้อจำกัดต่างๆ คล้ายกับการถูกแบ่งแยก และเรียก้องให้ซูจี เร่งหาทางแก้ไข
แต่กลุ่มชาวพุทธชาตินิยมได้คัดค้านต่อความเคลื่อนไหวใดๆ ก็ตามที่จะมอบสิทธิพลเมืองให้แก่ชาวโรฮิงญา ด้วยมองว่า ชาวโรฮิงญาเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ
ทหาร และรัฐบาลได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ว่ากองกำลังทหารได้วางเพลิงเผาทำลายหมู่บ้านชาวโรฮิงญา และระบุว่า ผู้ก่อความไม่สงบเป็นผู้กระทำ.