MGRออนไลน์ -- ชาวลาวจับปลาคูนขนาดใหญ่ น้ำหนัก 95 กิโลกรัมตัวหนึ่ง ขึ้นจากแม่น้ำโขงเมื่อไม่กี่วันมานี้ ภาพกับวิดีโอคลิป ที่มีผู้นำขึ้นโพสต์ในโลกออนไลน์ แสดงให้เห็น ชายหลายคนช่วยกันยก -- ทั้งยกทั้งลาก -- ปลาตัวใหญ่ ลำตัวยาวหัวจรดหางกว่า 2 เมตร นับเป็นปลาคูนตัวใหญ่ที่สุด เท่าที่จับขึ้นจากแม่น้ำ อย่างน้อยที่สุด ก็ในช่วงเวลากว่า 4 ปีมานี้
ผู้ใช้ชื่อ Vilaiphone Xaiyalert ที่นำภาพกับคลิปปลาคูนยักษ์เผยแพร่ ไม่ได้ให้รายละเอียดว่า ผู้ที่จับได้ดำเนินการอย่างไรต่อไป กับปลาเคราะห์ร้าย และไม่ได้พูดถึงอีกเช่นกันว่า จับปลาตัวนี้ได้ด้วยวิธีใด บอกเพียงว่าจับขึ้นจากน้ำ ในบริเวณเมืองท่าแขก เมืองเอกของแขวงคำม่วน ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับ อ.เมือง จ.นครพนม ของไทย
ต่างไปจากปลาบึก ซึ่งเป็นปลาแม่น้ำโขงที่มีขนาดใหญ่ด้วยกัน ที่คนทั่วไปรู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี ปลาคูนหรือปลาค้าวดำยักษ์ เป็นที่รู้จักน้อยกว่า เนื่องจากมีจำนวนลดลงมาก และ ไม่พบบ่อยๆ
ปลาคูนอาศัยอยู่ตามลำน้ำสายหลักในย่านนี้ ปัจจุบันเป็นปลาน้ำจืดที่หาได้ยากยิ่ง ผลการศึกษาวิจัยโดยนักวิชาการกลุ่มหนึ่ง ที่เผยแพร่เมื่อปี 2552 ได้สัมภาษณ์ราษฎรที่อาศัยทำกิน อยู่ริมแม่น้ำโขงใน จ.เชียงราย ของไทย ซึ่งได้กล่าวว่า ทางโน้นไม่เคยพบปลาคูน มาเป็นเวลานานนับสิบปีแล้ว เช่นเดียวกันกับปลาอีกหลายชนิด รวมทั้งปลาสะนาก (Giant barilius) ที่มีปากกว้างโดดเด่น และ รูปลักษณ์คล้ายกับปลาเทร้าต์ ในเขตอบอุ่นของโลก -- จนเรียกกันว่า Burmese trout หรือ ปลาเทร้าต์พันธุ์พม่า ซึ่งเคยมีชุกชุมในแม่น้ำโขงเช่นกัน
.
เดือน มิ.ย.2556 มีชาวไทยจับปลาคูนยักษ์ ขึ้นจากแม่น้ำโขงได้ตัวหนึ่ง ทางฝั่งไทย ด้าน จ.นครพนม ลำตัวยาวประมาณ 2 เมตร เล็กกว่าตัวที่ถูกจับได้ ในเขตเมืองท่าแขก เมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา -- ปลาตัวนั้นหนัก 68 กก. ผู้จับได้ส่งขายให้แม่ค้า ในตลาดเทศบาลเมือง ซึ่งนำไปชะแหละขายในราคา ก.ละ 250 บาท ผู้สื่อข่าวของ MGRออนไลน์ รายงานจาก จ.นครพนม ก่อนหน้านี้
แม่น้ำโขงยังมีปลาขนาดใหญ่อีกบางขนิด ที่เริ่มหายาก และ ถูกประกาศให้เป็นปลาชนิดหวงห้าม เนื่องจากใกล้สูญพันธุ์ แต่ก็ยังมีการล่าขึ้นมาเพื่อบริโภค หรือ ส่งจำหน่ายอยู่เนื่องๆ
เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ชาวลาวอีกคนหนึ่งได้จับปลาฝาไล ขนาดใหญ่ตัวหนึ่งขึ้นจากแม่น้ำโขง ในแขวงจำปาสัก เป็นปลาเฉพาะถิ่น และ เริ่มหายาก จนถูกจัดให้เป็นสัตว์น้ำสงวน อีกชนิดหนึ่ง ใน สปป.ลาว
.
.
ปลาฝา ในภาษาลาวหมายถึงตะพาบน้ำ แต่เรียกปลากระเบนที่มีเงี่ยงว่า "ปลาฝาไล" โดยคำว่า "ไล" หมายถึงเงี่ยงแหลมที่มีพิษร้ายแรง สามารถทำให้คนหรือสัตว์ใหญ่ ถึงแก่ความตายได้ -- เป็นประเภทเดียวกันกับ ปลากระเบนธง (Stingray) และ เนื่องจากพบในแม่น้ำโขง จึงมีชื่อเรียกว่า "ปลากระเบนลาว" [Dasyatis laosensis] หรือ ปลากระเบนแม่น้ำโขง (Mekong Stingray)
แม่นำโขงเป็นถิ่่นที่อาศัยของสัตว์และพืชน้ำนับล้านชนิด ปัจจุบันมีหลายชนิดที่อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ การก่อสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำสาขาที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำเหล่านี้อย่างไม่มีทางเลี่ยง และ นักอนุรักษ์ธรรมชาติเชื่อว่า เมื่อโครงการก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงทั้งสาย จำนวนนับ 10 แห่งแล้วเสร็จ สถานการณ์จะเลวร้ายยิ่งกว่านี้.
.