xs
xsm
sm
md
lg

หัวหิน-ชะอำ อ่วม เจอปรากฏการณ์น้ำเบียด ทำปลาตายเกลื่อนหาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประจวบฯ-เพชรบุรี - เกิดปรากฏการณ์น้ำเบียด-น้ำกัน ที่ชายหาดหัวหิน และชะอำ อีกครั้ง ทำให้ปลาน้อยใหญ่ลอยตายเกลื่อนแนวชายหาด ชาวบ้านออกมาเก็บปลากันคึกคัก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ออกตรวจพื้นที่ ขณะเดียวกัน เทศบาลเมืองหัวหิน และทหารจากค่ายธนะรัชต์ ระดมกำลังเก็บซากปลา หวั่นเกิดกลิ่นเหม็นกระทบการท่องเที่ยว

วันนี้ (17 ต.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้เกิดปรากฏการณ์น้ำเบียด-น้ำกัน ที่ชายหาดหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อีกครั้ง หลังจากที่เคยเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา แต่เนื่องจากในระยะ 2-3 วันนี้มีฝนตกหนักต่อเนื่องกันหลายวัน น้ำจืดไหลลงทะเลปริมาณมาก ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำเบียด-น้ำกัน ที่ชายหาดหัวหินอีกครั้ง มีปลานานาชนิด และสัตว์ทะเลที่ปรับสภาพไม่ทันลอยตาย และถูกซัดเข้าฝั่งตลอดแนวชายหาดหัวหิน ตั้งแต่ชายหาดวังไกลกังวล จนถึงชายหาดเขาตะเกียบ เป็นจำนวนมาก

ประชาชนนำเครื่องมือ และอุปกรณ์จับปลามาจับปลาเป็นจำนวนมาก สำหรับครั้งนี้มีปลา และสัตว์ทะเลลอยเขามาจำนวนมากกว่าครั้งที่แล้ว ประชาชนบางคนก็เลือกเก็บปลาที่อยู่ตามชายหาดได้โดยไม่ต้องลงไปในน้ำ บ้างก็เลือกเอาปลาตัวใหญ่ที่ตายใหม่ๆ เอาไปประกอบอาหารรับประทาน ส่วนปลาตัวเล็กๆ ที่ฝังอยู่ตามหาดทรายก็เก็บไปขายเป็นอาหารสัตว์

ด้าน นายนพพร วุฒิกุล นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน พร้อมด้วย น.ส.ไพลิน กองพันธ์ รองนายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน และนายจีรวัฒน์ พราหมณี ปลัดเทศบาลเมืองหัวหิน ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพชายหาดหัวหิน พบว่า มีปลาลอยตายทั้งบนชายหาด และอยู่ในน้ำทะเล ได้ระดมเจ้าหน้าที่กองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และทหารจากค่ายธนะรัชต์ เร่งเก็บซากปลาออกจากชายหาดในจุดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ

โดยเฉพาะที่บริเวณทางลงชายหาด ข้างโรงแรมเซนทารา หัวหิน เนื่องจากเป็นจุดลงชายหาด หวั่นส่งกลิ่นเหม็นกระทบนักท่องเที่ยว เนื่องจากปลาบางส่วนลอยขึ้นมานานถูกแสงแดดทำให้เริ่มเน่า จากนั้นจะกระจายกำลังไปเก็บซากปลา และทำความสะอาดชายหาดตลอดแนวให้กลับเข้าสู่สภาพปกติโดยเร็วที่สุด พร้อมกันนี้ ได้จัดเจ้าหน้าที่ประกาศเตือนประชาชนที่มาเก็บซากปลาให้สวมถุงมือ และระมัดระวังไม่ให้ถูกเงี่ยงปลาทิ่มได้รับบาดเจ็บ

ขณะที่บริเวณชายหาดชะอำได้เกิดปรากฎการณ์น้ำเบียดเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากเกิดปรากฏการณ์น้ำเบียด ที่เกิดจากมวลน้ำจืดลงสู่ทะเลมากเกินไปโดยวันนี้เป็นวันที่ 2 แล้วที่มีปลาน็อกน้ำขึ้นมาหาออกซิเจนเหนือน้ำในพื้นที่ชายหาดทะเลชะอำ โดยตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ชาวบ้านในอำเภอชะอำ และผู้ที่ทราบข่าวปลาขึ้นต่างนำเครื่องมือประมงไปจับปลาที่หาดชะอำกันจนแน่นหาด เพื่อจับสัตว์ทะเลนานาชนิด ทั้งปูม้า กุ้งกุลา ปลาหลากหลายชนิด ทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ เช่น ปลากระเบน ปลาตะกับทะเล ปลาสีกุน ปลาเก๋า ปลากด ปลาสลิด ปลาสร้อย ปลากะพงทะเล ปลาโฉมงาม ปลาเกร็ดข้าวเม่า ปลาเห็ดโคน และฉลาม บางคนนำอวนมาล้อมได้ปลาน้อยใหญ่มาเกือบเต็มลำเรือ โดยปลาที่จับได้ก็จะแจกจ่ายแบ่งกันไปทำกับข้าวในหมู่เครือญาติ หากเหลือก็จะนำไปทำปลาเค็มเก็บไว้กิน

สำหรับปรากฏการณ์ดังกล่าว ชาวบ้านต่างทราบดีว่า ในทุกปีจะเกิดปรากฏการณ์น้ำเบียด ไม่มากก็น้อย สำหรับปีนี้มีน้ำจืดไหลลงทะเลอย่างรวดเร็วในปริมาณมาก ทำให้สัตว์ทะเลไม่สามารถปรับตัวได้ลอยเข้าชายฝั่งจำนวนมาก คนที่ทราบข่าว หรือเฝ้ารอปรากฏนี้อยู่ก็จะนำเครื่องมือออกมาจับปลากัน ซึ่งบางคนจับปลาได้กว่าร้อยกิโลกรัม ก็จะคัดแยกกันไปตามชนิด และขนาด

สำหรับปลาตัวใหญ่ก็จะนำไปแบ่งกันทำกับข้าว หรือขายกันในหมู่บ้านในราคากันเอง ส่วนปลาตัวเล็กๆ ก็จะนำไปทำปลาเค็ม บางคนก็มาขอไปทำปลาร้า ทั้งนี้ อยากฝากเตือนถึงชาวบ้าน หรือนักท่องเที่ยวที่ไม่คุ้นเคยชนิดของปลาให้ระวังเงี่ยงของปลาบางชนิดอาจจะทิ่มแทงขา หรือเท้า เพราะขณะนี้มีหลายคนได้รับบาดเจ็บจากการถูกเงี่ยงของปลาทิ่ม

ด้าน นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติทางทะเลบริเวณปากแม่น้ำ ที่เรียกว่า น้ำเบียด น้ำกัน ซึ่งเป็นภาษาชาวประมงที่ใช้เรียกปรากฏการณ์ ของมวลน้ำที่มีความเค็ม หรือคุณภาพน้ำต่างกันไหลเข้ามาชน และเบียดกันไว้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากฝนที่ตกหนักในพื้นที่อำเภอหัวหิน ในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา จึงมีปริมาณน้ำจืดปริมาณมากไหลลงทะเลอย่างรวดเร็ว สัตว์ทะเลจะปรับตัวไม่ทัน เกิดอาการน็อกน้ำ เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ จึงลอยตัวเหนือผิวน้ำ และว่ายเข้าฝั่งเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ผลกระทบของเหตุการณ์ดังกล่าวที่มีต่อระบบนิเวศ และสิ่งมีชีวิตจากการผสมกันของชั้นน้ำบริเวณปากแม่น้ำในช่วงน้ำหลากมากนั้นเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป การแบ่งชั้นของน้ำจึงคงอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง มวลน้ำชั้นล่างซึ่งไม่ได้รับแสงแดด ทำให้แพลงก์ตอนพืชไม่สามารถสังเคราะห์แสงเพื่อเติมออกซิเจนให้แก่น้ำได้ โดยเมื่อออกซิเจนถูกใช้ในกระบวนการหายใจของสัตว์น้ำมากขึ้น ออกซิเจนในน้ำจะยิ่งลดลงจนเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำหน้าดิน โดยเฉพาะที่อาศัยใกล้ชายฝั่งได้ อาจทำให้สัตว์น้้าที่หนีไม่ทันตายได้ โดยปลาส่วนใหญ่ที่ตายมักเป็นปลาในแนวน้ำตื้น หรือปลาหน้าดินบางกลุ่ม ซึ่งคาดว่าปรากฏการณ์น้ำเบียดนี้จะมีต่อเนื่องประมาณ 2-3 วัน จึงจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยสัตว์น้ำที่ตายเพราะขาดออกซิเจนจากปรากฏการณ์น้ำเบียดนี้ สามารถนำมาบริโภคได้ตามปกติ

การเกิดปรากฏการณ์น้ำเบียดดังกล่าวเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติจากการที่มีปริมาณน้ำจืดจำนวนมากไหลลงทะเล โดยในรอบปีที่ผ่านมา ในพื้นที่อ่าวไทยได้เกิดปรากฏการณ์น้ำเบียดขึ้นแล้ว จำนวน 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 เกิดขึ้นบริเวณสวนหลวงราชินี ถึงสะพานปลาหัวหิน หาดหัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา ส่วนครั้งที่ 2 เกิดขึ้นบริเวณชายฝั่งทะเลค่ายพระราม 6 ต.ห้วยทรายเหนือ อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2560 และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3

อย่างไรก็ตาม หากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบริเวณหาดที่มีกิจกรรมท่องเที่ยวหนาแน่น ควรเตือนนักท่องเที่ยวให้ใช้ความระมัดระวังในการลงเล่นน้า เนื่องจากอาจจะโดนปลาที่มีหลากหลายชนิดทิ่มแทงตามร่างกายได้ ซึ่งปลาบางชนิดมีพิษทำให้เจ็บปวดอย่างรุนแรง







กำลังโหลดความคิดเห็น