รอยเตอร์ - พม่ายืนยันวันนี้ (15) ว่า ทางการไม่ได้ห้ามเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เข้าไปในรัฐยะไข่ พื้นที่ที่ทหารกำลังดำเนินการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบจนทำให้เกิดการอพยพของผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮิงญาเป็นจำนวนมาก แต่ระบุว่า เจ้าหน้าที่อาจจำกัดการเข้าถึงด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
ชาวโรฮิงญาเกือบ 400,000 คน ได้หลบหนีไปบังกลาเทศเพื่อหลีกหนีการปราบปรามทางทหาร ที่ถูกเปรียบว่า เป็นการล้างชาติพันธุ์ และก่อความวิตกว่าอาจเกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมขึ้นอีก
แพทริค เมอร์ฟี รองผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มีกำหนดเยือนพม่าในสุดสัปดาห์นี้ เพื่อแสดงความวิตกของสหรัฐฯ ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ด้านมนุษยธรรมสามารถเข้าถึงพื้นที่ขัดแย้งได้
“เราไม่ได้ปิดกั้นใคร เราไม่ได้ปิดกั้นองค์กรใดๆ ที่จะส่งความช่วยเหลือมายังพื้นที่เหล่านั้น แต่พวกเขาอาจเดินทางยากลำบาก เพราะการเข้าถึงอาจถูกจำกัดโดยเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย” ซอ เต โฆษกรัฐบาลพม่า กล่าว
ยังไม่ชัดเจนว่า เมอร์ฟี จะเดินทางเยือนรัฐยะไข่หรือไม่ และซอ เต ปฏิเสธที่จะกล่าวว่าข้อเรียกร้องใดๆ จากนักการทูตสหรัฐฯ จะได้รับการยอมรับหรือไม่
ปฏิบัติการปราบปรามของทหารเกิดขึ้นเพื่อตอบโต้การโจมตีด่านตำรวจ และค่ายทหารโดยกลุ่มผู้ก่อการร้ายจากกองทัพกอบกู้โรฮิงญาแห่งรัฐยะไข่ (ARSA) ที่ได้สังหารผู้คนไปหลายสิบคน
ความรุนแรงที่เกิดขึ้นนี้ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากรัฐบาลทหารไปสู่การปกครองของรัฐบาลพลเรือนภายใต้การนำของนางอองซานซูจี
บรรดานายพลยังคงควบคุมนโยบายด้านความมั่นคงของชาติ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ซูจี นั้นต้องเผชิญต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากนานาประเทศจากการเพิกเฉยต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น
มิตช์ แมคคอนเนลล์ ผู้นำเสียงข้างมากวุฒิสภาสหรัฐฯ กล่าวว่า ได้พูดคุยกับนางอองซานซูจี และระบุว่า ซูจี ได้กล่าวว่ากำลังทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลือเข้าถึงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง
วิน มัต เอ รัฐมนตรีกระทรวงกิจการสังคม บรรเทาทุกข์และตั้งถิ่นฐานใหม่ของพม่า กล่าวว่า จนถึงเวลานี้ยังไม่มีกลุ่มช่วยเหลืออิสระจากต่างชาติเข้าถึงพื้นที่ขัดแย้ง แต่ปฏิเสธที่จะระบุว่า กลุ่มช่วยเหลือเหลือนั้นถูกขัดขวางหรือไม่
ความรุนแรงในรัฐยะไข่ และการอพยพของผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเป็นปัญหาที่กำลังกดดันอองซานซูจี อย่างหนักนับตั้งแต่ซูจี ขึ้นมาเป็นผู้นำประเทศเมื่อปีก่อน.