กลายเป็นวิกฤตมนุษยธรรมที่ทั่วโลกจับตามอง หลังกองทัพพม่าลงมือกวาดล้างมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่อย่างหนักหน่วงจนผู้คนนับแสนต้องอพยพหนีตายข้ามไปยังฝั่งบังกลาเทศในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ขณะที่นักสิทธิมนุษยชนตีแผ่ชะตากรรมกลุ่มชาวมุสลิมไร้รัฐซึ่งกำลังตกเป็นเหยื่อการสังหารหมู่ ทรมาน ข่มขืน และเผาทำลายบ้านเรือนที่อาจรุนแรงถึงขั้นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์
รัฐบาลพม่าอ้างว่ากองกำลังความมั่นคงกำลังกวาดล้าง “ผู้ก่อการร้ายเบงกาลี” ที่โจมตีสถานีตำรวจและค่ายทหารอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ต.ค.ปีที่แล้ว โดย “เบงกาลี” นั้นเป็นคำที่พม่าใช้เรียกขานชาวโรฮิงญาเพื่อสื่อว่าคนกลุ่มนี้เป็นแค่ต่างด้าวและพวกหลบหนีเข้าเมือง มากกว่าจะเป็นคนพม่าโดยกำเนิด
ผู้นำชาติมุสลิมหลายประเทศได้แถลงประณามความรุนแรงที่เกิดขึ้น และบุคคลที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนักสุดเห็นจะหนีไม่พ้น “อองซานซูจี” เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพปี 1991 ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐพม่า และอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้นำประเทศโดยพฤตินัย (เธอถูกห้ามดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเนื่องจากมีสามีและบุตรเป็นคนต่างชาติ)
เป็นเวลานานกว่า 2 ทศวรรษที่ ซูจี ได้รับการยกย่องเชิดชูจากนานาชาติ ในฐานะวีรสตรีนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยผู้ไม่เคยยอมสยบให้แก่ระบอบเผด็จการทหารที่ครอบงำการเมืองพม่าอยู่นานหลายสิบปี เธอคือ “เนลสัน แมนเดลา” แห่งเอเชีย ผู้ทำให้โลกได้เห็นถึงความงดงามและอำนาจของศีลธรรม
อย่างไรก็ตาม เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาระหว่างชาวพุทธพม่าและชนกลุ่มน้อยโรฮิงญา ศีลธรรมและการประนีประนอมของ ซูจี ดูเหมือนจะจืดจางลงไปถนัดตา
ประชากรพม่านั้นแบ่งออกเป็นหลายสิบกลุ่มเชื้อชาติ แต่ไม่มีกลุ่มไหนที่ถูกละเลยและตั้งป้อมรังเกียจมากเท่าโรฮิงญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลทหารพม่าสั่งเพิกถอนสิทธิความเป็นพลเมืองของพวกเขาในปี 1982
ผู้สังเกตการณ์ชี้ว่า เหตุความไม่สงบระหว่างชาวพุทธและมุสลิมในรัฐยะไข่ที่รุนแรงขึ้นนั้นไม่ได้เกิดจากอิทธิพลของพวกอิสลามิสต์ต่างชาติ หากแต่เป็นผลมาจากนโยบายกดขี่ที่พม่ากระทำต่อโรฮิงญามาตลอดหลายสิบปี
องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนได้เตือนมานานแล้วถึงความเปราะบางของชุมชนโรฮิงญาในพม่า โดยเมื่อปี 2015 พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Holocaust Museum) ในสหรัฐฯ ได้จัดอันดับพม่าเป็นประเทศที่เสี่ยงจะเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มากที่สุดในโลก
ความรุนแรงระลอกใหม่ในรัฐยะไข่เริ่มปะทุขึ้นหลังจากมีกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาบุกโจมตีค่ายตำรวจและทหารพม่าเมื่อวันที่ 25 ส.ค. จนนำมาสู่การสู้รบและปฏิบัติการทางทหารที่คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วไม่ต่ำกว่า 400 ศพ
พม่ากล่าวโทษกลุ่มติดอาวุธโรฮิงญาว่าเป็นตัวการเผาบ้านเรือนและเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ แต่ผู้สังเกตการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและชาวโรฮิงญาที่หลบหนีเข้าไปในบังกลาเทศกลับยืนยันว่า ทหารพม่ามีการใช้อาวุธล่าสังหารชาวโรฮิงญาอย่างป่าเถื่อนเพื่อขับไล่พวกเขา
ยางฮี ลี ผู้ตรวจสอบพิเศษยูเอ็นว่าด้วยสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่า ระบุว่า “ผู้นำประเทศจะต้องยื่นมือเข้าช่วยปกป้องประชาชนที่อยู่ภายใต้เขตอำนาจทางกฎหมายของตน นี่คือสิ่งที่เราคาดหวังจากทุกรัฐบาล”
มาลาลา ยูซาฟไซ เด็กสาวชาวปากีสถานซึ่งเป็นเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่อายุน้อยที่สุด ได้โพสต์ทวิตเตอร์เรียกร้องให้ ซูจี ประณามการปฏิบัติที่น่าละอายต่อมุสลิมโรฮิงญาในพม่า พร้อมย้ำว่าทั่วโลกกำลังรอให้วีรสตรีนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยออกมาแสดงจุดยืน ส่วนเลขาธิการใหญ่องค์การสหประชาชาติ อันโตนิโอ กูเตียร์เรส ก็ออกมาแถลงกดดันให้ ซูจี เร่งยับยั้งการกวาดล้างชาวโรฮิงญาอย่างป่าเถื่อน
หลังถูกรัฐบาลต่างชาติและองค์กรระหว่างประเทศติเตียนอย่างหนัก ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.ย. อองซานซูจีได้ออกมาพูดถึงเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเธออ้างว่ามี “ผู้ก่อการร้าย” พยายามแพร่ “ข่าวเท็จ” บิดเบือนความจริงเกี่ยวกับสิ่งที่พม่าปฏิบัติต่อชนกลุ่มน้อย พร้อมยืนยันว่า “รัฐบาลพม่าปกป้องทุกคนในรัฐยะไข่อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้” แต่ไม่อธิบายว่าเหตุใดชาวโรฮิงญากว่า 140,000 คนจึงต้องหนีตายข้ามไปยังบังกลาเทศ
ฝ่ายที่สนับสนุน ซูจี พยายามอ้างเหตุผลปกป้องการนิ่งเงียบของเธอ โดยระบุว่า ซูจี เพิ่งได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณในบ้านพักเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา จึงจำเป็นต้องแสดงจุดยืนอย่างระมัดระวังเพื่อไม่ให้ผิดใจกับกองทัพพม่า รวมถึงกลุ่มชาวพุทธชาตินิยมที่เห็นด้วยกับปฏิบัติการของฝ่ายทหาร
อย่างไรก็ตาม ซูจีไม่เพียงเพิกเฉยต่อชะตากรรมของโรฮิงญา แต่ยังไม่ใช้อำนาจที่เธอมีอยู่เปิดทางให้องค์กรบรรเทาทุกข์ส่งความช่วยเหลือ รวมถึงไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนอิสระเข้าไปตรวจสอบสิ่งที่เกิดขึ้นภายในรัฐยะไข่
จอร์จ มอนบิออต คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์การ์เดียน ระบุว่า “ผมเข้าใจว่ากองทัพยังมีอิทธิพลค่อนข้างสูงในพม่า และอองซานซูจีก็ไม่มีอำนาจควบคุมพวกเขาได้อย่างสมบูรณ์ ผมเข้าใจว่าเธอทำอะไรได้ไม่มากนัก แต่อย่างน้อยก็มีมาตรการทางกฎหมาย และแนวปฏิบัติอีกหลายอย่างที่เธอสามารถใช้ยับยั้งความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้ และที่สำคัญก็คือ เธอมีพลังในการแสดงความคิดเห็น แต่แทนที่จะใช้พลังเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ เธอกลับเลือกที่จะนิ่งเงียบ ปฏิเสธหลักฐานที่ถูกรวบรวมมาแล้วเป็นอย่างดี และขัดขวางการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม”
ก่อนหน้านี้ สำนักงานของอองซานซูจีเคยออกมาปฏิเสธข่าวหญิงชาวโรฮิงญาถูกทหารพม่าข่มขืน โดยชี้ว่าเป็น “การกุเรื่องของผู้ก่อการร้าย” พร้อมกล่าวหาสื่อมวลชนและยูเอ็นว่านำเสนอความทุกข์ยากของชาวโรฮิงญาเกินจริง
สื่อต่างประเทศรายงานเมื่อปีที่แล้วว่า ซูจี เคยร้องขอให้สหรัฐอเมริกาหยุดเอ่ยถึง “โรฮิงญา” ซึ่งเป็นการสะท้อนจุดยืนของรัฐบาลพม่าที่ปฏิเสธการมีอยู่จริงของกลุ่มชาติพันธุ์นี้
องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมอิสลาม (ISESCO) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้คณะกรรมการตัดสินรางวัลโนเบลทำการริบรางวัลสาขาสันติภาพซึ่ง อองซานซูจี ได้รับไปในปี 1991 โดยให้เหตุผลว่าเธอขาดคุณสมบัติที่จะเป็นเจ้าของรางวัลอันทรงเกียรตินี้
“การนิ่งเงียบนั้นเป็นแค่บาปอันเล็กน้อยที่สุดของเธอ และบ่งบอกว่าเธอเริ่มเรียนรู้ที่จะวางตัวเป็นกลาง... แต่อันที่จริงแล้วจุดยืนของอองซานซูจีก็ไม่ได้เป็นกลาง เธอเลือกที่จะสนับสนุนกลุ่มชาวพุทธชาตินิยมและการเกลียดกลัวอิสลามโดยขาดการไตร่ตรอง” เมห์ดี ฮาซัน จากเว็บไซต์ ดิ อินเทอร์เซ็ปต์ ให้ความเห็น