xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ซูจี THE LADY” ถึงชนะ(เลือกตั้ง) แต่จะไปไม่ถึงฝั่งฝัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อองซาน ซูจี
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ของพม่าในรอบ 25 ปี ที่มีขึ้นในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2558 ถึงแม้จะคาดหมายล่วงหน้าได้ว่าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League for Democracy -NLD) ของนางอองซาน ซูจี มีโอกาสสูงที่จะได้รับชัยชนะ เหมือนเมื่อครั้งที่รัฐบาลทหารพม่าจัดให้มีการเลือกตั้งเมื่อปี 2553 เมื่อฟังจากกระแสเสียงของมวลมหาประชาชน แต่โอกาสพลิกผันก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ และชัยชนะอาจจะแค่เฉียดฉิว เพราะรู้ๆ กันอยู่ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ได้มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมอย่างที่รัฐบาลพม่าป่าวประกาศอวดชาวโลกแต่อย่างใด แม้ว่าบรรยากาศการเลือกตั้งโดยรวมดูเหมือนจะดีและเสรีกว่าที่เคยเป็นมาก็ตาม

การแข่งขันในสนามเลือกตั้งครั้งนี้มีจำนวนพรรคการเมืองที่ลงแข่งขันทั้งหมด 93 พรรค ซึ่งถือว่ามากเป็นประวัติการณ์ ทว่าคู่ท้าชิงสำคัญมีเพียง 2 พรรคใหญ่ คือ ประธานาธิบดีเต็งเส่ง หัวหน้าพรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (Union Solidarity and Development Party - USDP) กับพรรค NLD ของ ผู้นำฝ่ายค้าน นางอองซานซูจี และต้องถือว่าเป็นการชี้ชะตาอนาคตของสหภาพพม่าบนเส้นทางประชาธิปไตยเลยทีเดียว

นางซูจี ผู้นำพรรค NLD นั้น ยังอยู่ในหัวใจของชาวพม่า การเปิดปราศรัยใหญ่แต่ละครั้งมีมวลมหาประชาชนหลายหมื่นคนเข้าร่วมฟังอย่างเนืองแน่นด้วยว่านางซูจี เปรียบเสมือนผู้จุดเทียนส่องทางให้พม่าหลุดพ้นจากอำนาจเผด็จการและความยากจนข้นแค้น

คำปราศรัยโค้งสุดท้ายที่เมืองติ่งเกายุ้นต์ เขตย่างกุ้ง เมื่อวันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน นางซูจี ปลุกเร้ามวลชนว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เปรียบเสมือนโอกาสครั้งยิ่งใหญ่เพื่อเปลี่ยนแปลง เป็นโอกาสที่พบเห็นได้ยากในประวัติศาสตร์การเมืองพม่า เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนที่จะใช้โอกาสครั้งนี้ไปในทางที่ถูกต้อง เป็นโอกาสที่ทุกคนจะสร้างประเทศในแบบสหพันธรัฐประชาธิปไตยที่แท้จริง และ NLD ต้องการชนะเลือกตั้งแบบขาดลอย

“เราต้องการให้ประเทศของเราร่ำรวย พัฒนาและมีสันติภาพ เราอยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นรากฐานของสันติภาพ การพัฒนาและทำให้ประเทศรุ่งเรือง” พร้อมกับพาดพิงถึงประธานาธิบดีเต็งเส่งว่า “คนที่บอกว่า ประเทศได้เปลี่ยนแปลงแล้ว คือคนที่ไม่อยากเห็นการปฏิรูปที่สำคัญ เราทุกคนตระหนักแล้วว่า พม่าต้องการความเปลี่ยนแปลง คนที่บอกว่าประเทศเปลี่ยนแปลงแล้วและไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนเพิ่ม คือคนที่ไม่ต้องการให้ประเทศเปลี่ยนแปลงอย่างที่ทุกคนต้องการ...."

นายทินอู รองประธานพรรค NLD ระบุเกี่ยวกับสัดส่วนทหาร 1 ใน 4 ที่อยู่สภาว่า “เต็งเส่งบอกว่า ประเทศได้เปลี่ยนแปลงแล้ว แต่ผมแปลกใจว่า เขาจะพูดว่ายังไงเกี่ยวกับทหาร 25 % ที่มาจากการแต่งตั้งในสภา ผมอยากถามเขาเหลือเกิน ว่านี่หรือคือสิ่งที่เขาได้เปลี่ยนมัน”

พรรคของนางซูจี โจมตีจุดอ่อนของคู่แข่งขันได้ตรงกับใจของชาวพม่าและมีผลต่อการลงคะแนนเสียงไม่น้อย แต่คงไม่ถึงระดับที่ว่าถล่มทลายเหมือนการเลือกตั้งเมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา เพราะการจัดการเลือกตั้งคราวนี้มีกลิ่นทะแม่งๆ หลายต่อหลายเรื่อง เช่น รายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งตกหล่นจำนวนมาก ใบลงคะแนนล่วงหน้าบางส่วนไม่มีลายเซ็นต์ของเจ้าหน้าที่เขตเลือกตั้ง มีรายชื่อเพิ่มเข้ามาในบางเขตพื้นที่เลือกตั้งอย่างน่าสงสัย หรือ “ผู้ลงคะแนนผี” ฯลฯ

หรือกรณีตัวอย่างแรงงานชาวพม่าที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยที่คาดว่ามีอยู่ประมาณ 3-4 ล้านคน พบว่ามีแค่ 10,000 คนที่ยื่นขอเลือกตั้งล่วงหน้า แต่ที่สุดแล้วกลับมีเพียง 500 คนเท่านั้นที่ได้เลือกตั้ง เช่นเดียวกันแรงงานพม่าในมาเลเซีย

นอกจากนั้น ยังมีภาพของการเล่นการเมืองสกปรกที่พรรคของนางซูจี ตกเป็นเป้าโจมตี เช่น มีการตัดต่อภาพเปลือยนางซูจีเผยแพร่ในโลกโซเชียล การเผยแพร่ข้อความใส่ร้ายป้ายสี การออกแถลงการณ์ของข้าราชการท้องถิ่นกล่าวหานางซูจีทรยศชาติเพราะแต่งงานกับชายชาวอังกฤษ แม้แต่เหตุการณ์นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ หอมแก้มนางซูจี ก็ถูกนายเทอู ประธานพรรค USDP หยิบยกมาเป็นประเด็นตั้งคำถามด้านศีลธรรมกับนางซูจี รวมทั้งการที่สมาชิกพรรค NLD ถูกทำร้ายร่างกายบาดเจ็บสาหัส การถูกจำกัดลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้ง เช่น ไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่านหรือเข้าไปหาเสียงในพื้นที่ของทหารและทางราชการ

ในโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้ง พรรคฝ่ายค้านของนางซูจี ยังตกเป็นเป้าโจมตีจากกลุ่มศาสนาชาตินิยมหัวรุนแรงซึ่งเผยแพร่ใบปลิวกล่าวหาว่า พรรค NLD ชื่นชอบชาวมุสลิมและมีแผนจะสร้างสุเหร่าเพิ่มมากขึ้น คำโกหกดังกล่าวเผยแพร่ออกมาหลังทางพรรค NLD ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายการแต่งงานที่จำกัดสิทธิของชายมุสลิมที่แต่งงานกับหญิงชาวพุทธ ซึ่งกลุ่มศาสนาชาตินิยมหัวรุนแรงนี้เป็นกลุ่มที่สนับสนุนประธานาธิบดีเต็งเส่ง ที่ขานรับการผลักดันออกกฎหมายคุ้มครองเชื้อชาติและศาสนา 4 ฉบับของกลุ่มดังกล่าวจนสำเร็จ

การปลุกระดมมวลชนเคลื่อนไหวโจมตีนางซูจี และการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม จึงเป็นตัวแปรสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่านางซูจีจะฝ่ากระแสต้านจนได้รับชัยชนะ แต่นางซูจี ก็ไม่ได้สามารถขึ้นเป็นประธานาธิบดี ไม่ใช่เพียงเพราะถูกข้อห้ามที่แต่งงานกับชายชาวต่างชาติ แต่ข้อรัฐธรรมนูญที่กำหนดที่นั่งในสภาที่ถูกกันไว้ให้กับทหาร 25% นั้นจะทำให้พรรค USDP มีโอกาสครองอำนาจต่อไป

ตามสูตรการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งพม่าครั้งนี้ก็คือ พรรค USDP จะไปรวมกับพรรคเล็กบวกกับโควตาที่นั่งของทหารในสภา ส่วนพรรคของนางซูจีที่ชนะเลือกตั้งก็เป็นฝ่ายค้านต่อไป โดยมีกระแสข่าวว่าจะมีรางวัลปลอบใจให้แก่นางซูจี เจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ คือ ตำแหน่งประธานสภา

สมการการเมืองพม่า จะเป็นเช่นว่าหรือไม่ มีแต่ประธานาธิบดีเต็งเส่ง และนางอองซานซูจี เท่านั้นที่จะให้คำตอบได้

//////
ล้อมกรอบ

พม่าเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ในรอบ 25 ปี

8 พฤศจิกายน 2558 วันเลือกตั้งทั่วไปที่เปิดเสรีเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปี

พรรคการเมืองคู่แข่งขันที่สำคัญคือ พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา นำโดยประธานาธิบดีเต็งเส่ง ซึ่งเป็นพรรคการเมืองของรัฐบาลพม่า (USDP) และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซาน ซูจี ที่ได้รับความนิยมจากประชาชน

พรรคการเมืองที่ลงแข่งขันครั้งนี้มีทั้งหมด 93 พรรค โดยพรรคการเมืองที่มีผู้ลงสมัครมากที่สุดตามลำดับคือ พรรคNLD 1,130 คน พรรคUSDP 1,130 คน พรรคสามัคคีแห่งชาติ 757 คน พรรคพัฒนาแห่งชาติ 353 คน พรรคพัฒนาชาวนาพม่า 286 คน พรรคพลังประชาธิปไตยแห่งชาติ 274 คน พรรคประชาธิปไตยแห่งชาติไทใหญ่ 206 คน พรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย 158 คน พรรคประชาชนกะเหรี่ยง117 คน พรรคแห่งชาติอาระกัน 77 คน ผู้สมัครจากพรรคการเมืองอิสระ 309 คน

ประชากรพม่าที่มีอยู่ราว 51.5 ล้านคน ตามการสำรวจเมื่อปี 2557 มีประชากรที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง 33 ล้านคน ซึ่งเป็นพลเมืองพม่า อายุ 18 ปีขึ้นไปและได้ลงทะเบียนแสดงความจำนงในการใช้สิทธิ์

พื้นที่ซึ่งจะไม่มีการคะแนนเสียงในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ประกอบด้วย รัฐกะฉิ่น—มาจันบอว์, ซัมปาบัม, กองลางปู, เวียงมอ, ชีเวย์, ซอลอ, อินเจียงยาง, มันสี , ทาไน, ชเวยกู, รัฐกะเหรี่ยง— บางหมู่บ้านในผาอัน เลียนเวย์ ปาปูน ทันตวงจี เมียววะดี กอกะเร็ก เจียงเซ็กกี, รัฐมอญ—บ้านบานอคี, รัฐฉาน— ปานซาน ปานเวียง เมืองหม่อ นาปาม เมืองลา มูเซ กงยาน เมืองต๋น เมืองเขต เมืองยาง เมืองยอง เมืองตงและเมตมอง, ภาคพะโค -12 หมู่บ้านในกอกจีและอีก 29 หน่วยเลือกตั้งในฉ่วยจิน

มีผู้สมัครลงเลือกตั้งทั้งสิ้น 6,065 คน จำนวนเกือบสองเท่า เมื่อเทียบกับผู้สมัคร 3,069 คน ในการเลือกตั้งเมื่อปี 2553จำนวนที่นั่งในสภาที่มาจากการเลือกตั้งและที่จะชิงชัยกันครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.สภาผู้แทนราษฎร 330 ที่นั่ง (110 ที่นั่งสำรองไว้ให้กองทัพ) มาจากการเลือกตั้งในแต่ละอำเภอละ 1 คน จากทั่วประเทศ 330อำเภอ (5 เขตเลือกตั้งภายใต้การควบคุมของกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์จะไม่จัดการเลือกตั้ง เนื่องจากเหตุการณ์ไม่สงบยังมีการสู้รบ) 2.วุฒิสภา หรือ สภาชนชาติ 168 ที่นั่ง มาจากการเลือกตั้งโดยตรง ภาคหรือเขตละ 12 คน (56 ที่นั่งสำรองไว้ให้กองทัพ) 3.สภาท้องถิ่น (ระดับรัฐและภูมิภาค) 644ที่นั่ง แต่ละอำเภอจะมี ส.ส. 2 ที่นั่ง แต่ละภาค/รัฐ จึงมีจำนวน ส.ส.ต่างกันไป ตามจำนวนอำเภอของตน และ 4.ผู้แทนชาติพันธุ์ 29 ที่นั่ง โดยมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี ส่วนที่นั่ง 1 ใน 4 ของทุกสภาถูกสงวนไว้ให้กับเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

ในการประชุมร่วมสองสภา ผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาใหม่จะโหวตเลือกประธานาธิบดี โดยสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และทหาร เสนอชื่อบุคคลได้ 1 ชื่อ เพื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดี จากนั้น ประธานาธิบดีจะจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่และแต่งตั้งผู้มีอำนาจประจำรัฐและภูมิภาค

รัฐสภาปัจจุบัน จะหมดวาระในวันที่ 30 มกราคม 2559 มีกำหนดส่งมอบอำนาจแก่ผู้แทนชุดใหม่ในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559 รัฐสภาจะลงคะแนนเสียงเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ ในวันที่ 29 มีนาคม 2559

อนึ่ง อดีตรัฐบาลทหารพม่าเห็นชอบรัฐธรรมนูญฯ ในปี 2551และมีการจัดการเลือกตั้งเมื่อปี 2553 ปรากฏว่า พรรครัฐบาล NLD ชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย แต่กองทัพไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง พร้อมกับอุ้มพรรคUSDP ซึ่งประกอบด้วยอดีตนายทหารในกองทัพ ให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งแทน พรรค NLD จึงประกาศคว่ำบาตรการเลือกตั้ง ขณะที่การเลือกตั้งซ่อมในปี 2555 พรรค NLD ชนะ 43 ที่นั่ง จากทั้งหมด 44 ที่นั่งที่ส่งลงแข่งขัน


กำลังโหลดความคิดเห็น