รอยเตอร์ - ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า และอองซานซูจี หัวหน้ารัฐบาล ได้ปรากฏตัวต่อสาธารณชนร่วมกันซึ่งหาได้ยากเมื่อวันอังคาร (19) เพื่อร่วมพิธีรำลึกที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีต่อนายพลอองซาน บิดาของซูจี
ความสัมพันธ์ระหว่าง พล.อ.มิน ออง หล่าย และซูจี จะกำหนดความสำเร็จของการหลุดพ้นของพม่าจากการโดดเดี่ยวประเทศ และการปกครองโดยทหารที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ครั้งที่กองทัพเข้ายึดอำนาจในปี 2505
นับเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ที่ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแสดงความเคารพที่สุสานวีรชนที่สร้างขึ้นเพื่อสดุดีต่อนายพลอองซาน ทั้ง พล.อ.มิน ออง หล่าย และเจ้าหน้าที่ทหารนายอื่นๆ ยังได้เดินทางไปเยี่ยมบ้านของซูจี ที่ซูจีถูกควบคุมตัวนานถึง 15 ปี
นายทหารส่งเสียงให้สัญญาณแสดงความเคารพ ขณะที่รัฐมนตรี และสมาชิกรัฐสภาค้อมศีรษะ และนายทหารอีกจำนวนหนึ่งเป่าแตรสดุดีที่สุสานวีรชน
“พฤติกรรมนี้จะช่วยส่งเสริมความเคารพทหารในหมู่ประชาชน” อ่อง ชิน นักประวัติศาสตร์ และบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ D-Wave ที่เป็นสิ่งพิมพ์ของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย กล่าว
นายพลอองซาน ยังคงเป็นพลังสำคัญในการเมืองพม่านับตั้งแต่เสียชีวิต ภาพของเขาไม่เพียงแค่ซูจีที่นำมาใช้เท่านั้น แต่ยังถูกคู่แข่งทางการเมืองของเธอนำมาใช้เช่นกัน เพื่อสร้างความชอบธรรม และหวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่ส่วนใหญ่ยังคงเทิดทูนนายพลอองซาน
ความชื่นชมดังกล่าว ปรากฏให้เห็นเต็มท้องถนนของนครย่างกุ้ง ที่ประชาชนหลายร้อยคน ที่ทั้งผูกผ้าที่ศีรษะ สวมเสื้อยืดสีสดที่มีชื่อของนายพลอองซาน และข้อความเขียนว่า “เราจะไม่ลืมวันที่ 19 ก.ค.” ยืนต่อแถวเข้าชมแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวต่อ นายพลอองซาน
“ผมรู้สึกว่าเวลานี้แตกต่างไปมากจากเมื่อ 5 ปีก่อนที่ผมเคยเข้าร่วมพิธี” ซอ ซอ อ่อง อายุ 22 ปี กล่าว
นายพลอองซาน ร่วมต่อสู้กับญี่ปุ่นขับไล่อังกฤษ ที่ปกครองพม่าในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนเปลี่ยนฝ่ายผลักดันขับไล่ญี่ปุ่น และนำพาพม่าเดินทางมุ่งสู่เอกราช แต่ในวันที่ 19 ก.ค.2490 นายพลอองซาน ขณะอายุ 32 ปี ถูกยิงเสียชีวิต พร้อมกับรัฐมนตรีอีกจำนวนหนึ่งโดยคู่แข่งทางการเมือง ไม่ทันที่นายพลอองซาน จะได้เห็นเอกราชอย่างที่ฝัน ซึ่งเกิดขึ้นในปีต่อมา
การเสียชีวิตของนายพลอองซาน กลายเป็นสัญลักษณ์ของการดิ้นรนต่อสู้เพื่ออิสรภาพของพม่า แต่การใช้ภาพของนายพลอองซาน ถูกควบคุมโดยรัฐบาลเผด็จการทหารในปี 2531 ด้วยรัฐบาลเกรงว่าจะเป็นการสนับสนุนส่งเสริมลูกสาวของนายพลอองซาน ที่เดินทางกลับพม่าจากอังกฤษ และกลายเป็นผู้นำการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยของประเทศ.
.
รำลึกวีรบุรุษAgence France-Presse/Reuters
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.