ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - มีประเด็นความ “ไม่ปกติ” ในคดีเกาะเต่า มาตั้งแต่เริ่มแรกจนบัดนี้ทั้งฝั่งไทยและฝั่งพม่า
ความไม่ปกติเกิดขึ้นเริ่มตั้งแต่ตำรวจไทยจับแรงงานพม่าที่ว่ากันว่าเป็น “แพะ” เพราะมีช่องว่างช่องโหว่ให้ชวนสงสัยหลายประเด็น
หนึ่ง-สิทธิของผู้ต้องหาที่ช่วงแรกไม่มีการจัดทนายให้ สอง-ล่ามแปลภาษาไม่น่าเชื่อถือ สาม-มีการร้องเรียนซ้อมทรมานผู้ต้องหาแต่ไม่มีการตรวจสอบอย่างทันท่วงที และสี่-มาตรฐานการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานของตำรวจโดยเฉพาะการเก็บดีเอ็นเอ
กระทั่งเมื่อศาลชั้นต้นตัดสินคดีตามพยานหลักฐานในสำนวนคดีที่ตำรวจจัดทำและอัยการส่งฟ้องศาล โดยพิพากษาให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง ก็เกิดเหตุไม่ปกติมีการชุมนุมประท้วงคำตัดสินคดี ซึ่งปกติแล้วแทบจะเรียกได้ว่าไม่เคยเกิดขึ้นส่วนหนึ่งเพราะระบบศาลของไทย มีข้อห้ามวิพากษ์วิจารณ์คำตัดสินของศาล
เหตุการณ์ครั้งนี้ สะเทือนระบบยุติธรรมของไทยซึ่งถูกท้าทายอย่างมาก แม้แต่พม่ายังไม่เชื่อถือ นั่นแปลว่าพม่ารู้ไส้รู้พุงตำรวจไทยเป็นอย่างดีว่าทำงานกันแบบไหน
ส่วนความไม่ปกติก็เกิดขึ้นในฝั่งพม่า ก็คือการจัดตั้งมวลชนประท้วงคำตัดสินของศาลไทยตามมาเกือบจะในทันที ซึ่งปกติแล้วไม่เคยเกิดขึ้น
ความไม่ปกตินี้ ยังเกิดขึ้นจาก พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในคณะผู้นำประเทศของพม่า ออกโรงด้วยตัวเอง ขอร้องให้ไทยทบทวนการตัดสินคดีใหม่ ซึ่งปกติแล้วชะตากรรมของแรงงานพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยแทบไม่เคยอยู่ในสายตาของคณะผู้นำพม่าเลยก็ว่าได้ นี่ถือเป็นครั้งแรก มันแปลกไหมล่ะ?
ม็อบชาวพม่า ยังเคลื่อนไหวเรียกร้องให้นางอองซาน ซูจี ออกโรงมาช่วยเหลือเพื่อนร่วมชาติที่ถูกศาลไทยตัดสินประหารชีวิตอีกด้วย
รัฐบาลทหารพม่า และ นางอองซาน ซูจี เจอมวลชนเรียกร้องให้ต้องออกมาแสดงบทบาทในช่วงที่อยู่ระหว่างการต่อรองทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง เป็นการต่อรองที่ยังไม่ได้ข้อสรุป การเมืองพม่ายังไม่นิ่ง
คดีนี้จึงกลายเป็นคดีที่มีความอ่อนไหวเปราะบางอย่างยิ่งที่จะถูกขยายผลออกไป
ตำรวจไทยถึงกับนั่งไม่ติด ตั้งโต๊ะแถลงข่าวเสียใหญ่โต เพราะผลจากการทำงานของตำรวจไทย อาจทำให้เกิดเหตุการณ์บานปลายลุกลามเป็นความขัดแย้ง สร้างความเสียหายแก่ประเทศทั้งสอง
กล่าวสำหรับคดีดังกล่าวนี้ ศาลจังหวัดเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อ่านคำพิพากษาคดีเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558 ตัดสินให้ประหารชีวิตนายเวพิว และ นายซอลิน ชาวเมียนมาร์เชื้อสายยะไข่ แรงงานพม่า ผู้ต้องหาคดีฆาตกรรมนายเดวิด วิลเลียม มิลเลอร์ วัย 24 ปี และ นางสาวฮานนาห์ วิคตอเรีย วิทเธอริดจ์ วัย 24 ปี นักท่องเที่ยวสัญชาติอังกฤษ ซึ่งพบศพเสียชีวิตอยู่ตรงบริเวณโขดหินอยู่บนชายหาด เมื่อวันที่ 15 กันยายน2557
นี่เป็นคำตัดสินของศาลชั้นต้น ยังเหลืออีก 2 ศาล คือ ศาลอุทธรณ์ ซึ่งจำเลยสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน หลังศาลชั้นต้นตัดสินคดี และยังมีศาลสูงสุด คือ ศาลฎีกา สู้กันถึง 3 ศาล จึงจะถือว่าคดีนี้เป็นอันสิ้นสุด และคืนความยุติธรรมให้แก่ทุกฝ่าย ทั้งผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว ทั้งจำเลย และโจทก์
ในการต่อสู้คดีนับจากนี้ของฝ่ายจำเลยนั้น การชุมนุมถือป้ายประท้วงเรียกร้องหาความยุติธรรมของเพื่อนร่วมชาติ เป็แรงกดดันจากภายนอกส่วนหนึ่ง
แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ การต่อสู้คดีในชั้นศาลที่ทนายฝ่ายจำเลยต้องหาพยานหลักฐานมาหักล้างข้อกล่าวหาให้ฟังขึ้น
และที่สำคัญที่สุด หลักใหญ่ของคดีอาญาที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาฯ มาตรา 227 ที่ว่า “ให้ศาลใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง อย่าพิพากษาลงโทษจนกว่าจะ แน่ใจว่ามีการกระทำผิดจริงและจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดนั้น และเมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย” ซึ่งหลักนี้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 899/2487 วางหลักไว้ว่าคดีอาญา โจทก์ต้องนำสืบให้ปราศจากสงสัยว่า จำเลยทำผิดจริง จึงจะลงโทษจำเลยได้ รวมถึงหลักการคุ้มครองสิทธิผู้ต้องหาหรือจำเลย ที่ศาลมีแนวปฏิบัติสืบเนื่องกันมาว่า “ปล่อยผู้กระทำความผิดสิบคน ดีกว่าลงโทษผู้บริสุทธิ์เพียงคนเดียว”
แล้วคดีนี้ โจทก์ได้นำสืบจนปราศจากข้อสงสัยหรือไม่ว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง? เรื่องนี้ หากรัฐธรรมนูญฯ ของประเทศไทยก้าวหน้าสามารถให้สังคมเอาคำพิพากษามาศึกษาวิพากษ์วิจารณ์โดยผู้รู้โดยสุจริตเพื่อการศึกษาคดี ก็จะขจัดข้อกังขาของสังคมต่อการตัดสินคดีของศาลไปได้
อย่างไรก็ตาม การออกมาชุมนุมประท้วงของชาวพม่าทำให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งฝ่ายโฆษกฯ และคณะทำงานคดีฆาตกรรมสองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ เปิดแถลงชี้แจงกระบวนการและขั้นตอนการดำเนินคดี
ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ พล.ต.ต.พรชัย สุธีรคุณ ผู้บังคับการสถาบันนิติเวชวิทยา (ผบก. นต.) ชี้แจงว่า ตอนที่สถาบันนิติเวชได้รับศพผู้ตายมาก็มีการตรวจสอบโดยละเอียดเพื่อพิสูจน์ดีเอ็นเอ ซึ่งได้พบว่ามีดีเอ็นเอแปลกปลอมอยู่ในร่างกายศพทั้ง 2 รายในจุดสำคัญของร่างกาย จึงได้เก็บดีเอ็นเอนั้นเอาไว้เพื่อใช้เป็นโปรไฟล์ตั้งต้นเพื่อนำดีเอ็นเออื่นๆ มาตรวจเทียบเคียงซึ่งยืนยันว่าทุกขั้นตอนเป็นไปตามหลักสากลถูกต้องและเราได้หลักฐานจากผู้เสียชีวิตมาทั้งหมดเพื่อใช้เทียบเคียงกับหลักฐานวิทยาศาสตร์จากผู้ต้องหาโดยทุกกระบวนการตรวจสอบมีมาตรฐานของห้องปฏิบัติการควบคุมอยู่และทั่วโลกรับรองมาตรฐานนี้
พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษก ตร. ตั้งข้อสังเกตว่า มีคนบางกลุ่มบางพวกหยิบฉวยสถานการณ์หลังศาลตัดสินคดีไปปลุกระดมคนออกมาชุมนุมต่อต้านคำตัดสินของศาล ทางรัฐบาลไทยและสตช.เป็นห่วงว่าจะบานปลายกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โปรดอย่านำเรื่องนี้มาเป็นประเด็นทางการเมืองเพราะนี่เป็นคดีฆาตกรรมของปัจเจกบุคคล และน่าสังเกตว่าในรอบปี 2558 มีคดีที่ชาวพม่าในไทยกระทำความผิดข้อหาฆ่าผู้อื่นมากถึง 126 คดี ทำไมคดีพวกนี้ไม่มีใครออกมาประท้วง จึงน่าสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับคดีนี้
ศาลเองก็ร้อนใจกับเรื่องนี้ใช่น้อย นายสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล โฆษกศาลยุติธรรม ซึ่งร่วมแถลงกับทาง สตช. ระบุว่า ในการพิพากษาคดีของศาลจังหวัดเกาะสมุยได้ดำเนินกระบวนพิจารณาคดีตามพยานหลักฐานในสำนวน หลังจากมีคำตัดสินแล้ว ศาลยุติธรรม ได้จัดทำสรุปคำพิพากษาทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษเผยแพร่สู่สาธารณชนเพื่อให้ตรวจสอบได้ และสาธารณชนยังสามารถตรวจสอบรายละเอียดได้จากคำพิพากษาฉบับเต็มด้วยว่า การพิจารณาศาลได้วินิจฉัยประเด็นใดบ้าง
ปฏิกิริยาจากฝั่งพม่า นอกจากการชุมนุมประท้วงคำตัดสินของศาลในหลายจุด คือที่หน้าสถานทูตไทยที่ย่างกุ้ง หน้าด่านแม่สาย ด่านเจดีย์สามองค์ และอีกหลายจุด โดยเตรียมพร้อมทั้งป้ายประท้วง ใส่เสื้อสกรีน ซึ่งเป็นการชุมนุมโดยสงบแล้ว
ผู้นำระดับสูงของพม่า คือ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของเมียนมา เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ได้ส่งข้อความอวยพรเนื่องในโอกาสปีใหม่ ให้กับพ ล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และพล.อ.สมหมาย เกาฏีระ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของไทย
ขณะเดียวกัน พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ยังเขียนว่า ได้เรียกร้องให้ทางการไทยทบทวนหลักฐานและคำตัดสินในคดีฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ที่ศาลได้ตัดสินประหารชีวิตแรงงานชาวเมียนมา 2 คน โดยตนเคารพในกระบวนการยุติธรรมของไทย แต่สิ่งที่สำคัญคือการหลีกเลี่ยงการตัดสินที่อาจลงโทษผู้บริสุทธิ์ ทั้งนี้ตนหวังว่าความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้บนหลักความร่วมมือทวิภาคี และหลักการเคารพซึ่งกันและกันระหว่างประเทศไทยกับเมียนมา
นอกจากนั้น ชาวเมียนมายังออกมาชุมนุมที่หน้าบ้านนางอองซาน ซูจี เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2558 เรียกร้องให้นางอองซาน ซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ที่ได้รับชัยในการเลือกตั้ง และกำลังจะก้าวขึ้นมาจัดตั้งรัฐบาลของประเทศ ให้ความช่วยเหลือเรื่องดังกล่าว นางอองซาน ซูจี ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม หากผลจากการตัดสินคดีนี้ ก่อให้เกิดเรื่องราวบานปลายกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวแล้วละก้อ ตำรวจไทย ย่อมหนีความรับผิดชอบไปไม่พ้น