xs
xsm
sm
md
lg

ผู้นำพม่าระบุการปฏิรูปไม่ถอยหลัง ชี้ยังไม่ลดบทบาทกองทัพในการเมือง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>ประธานาธิบดีเต็งเส่งขณะชมการนำเสนอเกี่ยวกับเครื่องบินโซลาร์อิมพัลส์ 2 ในการแถลงข่าวที่สนามบินนานาชาติมัณฑะเลย์ เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ในวันเดียวกันผู้นำพม่าให้สัมภาษณ์กับ BBC ถึงการปฏิรูปประเทศว่ายังคงดำเนินไปอย่างทีละขั้นตอนมุ่งไปสู่ประชาธิปไตย.--Agence France-Presse/Ye Aung Thu.</font></b>

เอเอฟพี - ประธานาธิบดีพม่า ปฏิเสธกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ระบุว่า รัฐบาลของเขาหยุดปฏิรูป และยังกล่าวปกป้องกองทัพทหารที่มีอำนาจในเวทีการเมือง

เต็งเส่ง อดีตนายพลที่เข้าบริหารประเทศนับตั้งแต่ปี 2554 เมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารถ่ายอำนาจให้แก่รัฐบาลกึ่งพลเรือนหลังปกครองประเทศยาวนานหลายทศวรรษ ยืนยันว่า พม่าอยู่บนเส้นทางไปสู่การเป็นประชาธิปไตย

“กระบวนการการปฏิรูปของเราดำเนินไปทีละขั้นตอน ไม่มีการถอยหลัง ในตอนนี้เราอยู่บนเส้นทางมุ่งไปสู่ประชาธิปไตย ซึ่งก้าวอย่างมั่นคงสม่ำเสมอ” เต็งเส่ง กล่าวในการให้สัมภาษณ์ต่อ BBC และยังเสริมว่า กองทัพจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการเมืองของชาติ แต่ปฏิเสธที่จะระบุเวลาว่าเมื่อใดที่บทบาททางการเมืองของกองทัพจะลดลง

ภายใต้รัฐธรรมนูญของประเทศ กองทัพยังคงครองสัดส่วนที่นั่ง 1 ใน 4 ของที่นั่งทั้งหมดในรัฐสภา และบางตำแหน่งในคณะรัฐบาล

“เป็นเรื่องยากที่จะระบุช่วงเวลาสำหรับการลดบทบาทนี้ลง แต่ผมสามารถรับรองได้ว่า เมื่อประชาธิปไตยในประเทศเติบโตเต็มที่ บทบาทของกองทัพในรัฐสภาจะค่อยๆ ลดลง” เต็งเส่ง ระบุ

ความคิดเห็นของเต็งเส่ง มีขึ้นก่อนการเลือกตั้งครั้งสำคัญจะจัดในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งกำลังถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดที่เป็นบททดสอบว่า ผู้นำประเทศได้พยายามหันหลังให้แก่การปกครองเผด็จการเมื่อครั้งอดีตได้อย่างแท้จริง

พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซานซูจี เรียกร้องให้กองทัพลดอำนาจที่ครอบครองอยู่เหนือการเมืองพม่า

พรรค NLD คาดว่า จะชนะการเลือกตั้งในปีนี้หากการเลือกตั้งเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม แต่ซูจีก็ไม่สามารถนั่งตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศได้ เนื่องจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญห้ามบุคคลที่มีคู่สมรส หรือบุตรเป็นชาวต่างชาติ ซึ่งซูจีมีบุตรชาย 2 คน เป็นชาวอังกฤษ

ในการให้สัมภาษณ์ เต็งเส่ง กล่าวป้องบทบัญญัติดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่า พม่านั้นอยู่ตรงกลางระหว่างอินเดีย และจีน

“ผู้นำประเทศของเราต่างปกป้องอธิปไตย และบูรณภาพของชาติ มิเช่นนั้นประเทศเราจะถูกครอบงำโดยประเทศใหญ่กว่าเหล่านี้ ประเด็นต่างๆ เหล่านี้จึงถูกนำมาพิจารณา และร่างลงในรัฐธรรมนูญ” เต็งเส่ง กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น