รอยเตอร์ - รัฐมนตรีพม่า เผยว่า ประธานาธิบดีเต็งเส่งของพม่า ได้พบกับนางอองซานซูจี ผู้นำฝ่ายค้าน เมื่อวันจันทร์ (2) เพื่อหารือในประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศ
นับเป็นการพบหารือครั้งที่ 5 ระหว่างสองฝ่าย นับตั้งแต่ซูจี ได้รับการปล่อยตัวอิสระจากการควบคุมตัวภายในบ้านพักในปี 2553 และเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีการถกเถียงกันอย่างเข้มข้นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่มอบบทบาทอำนาจทางการเมืองให้แก่ทหาร แต่ห้ามซูจี จากการทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดี
“นี่เป็นการหารือตัวต่อตัว และพวกเขาพูดคุยถึงประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม” เย ตุ๊ต โฆษกประธานาธิบดี และรัฐมนตรีกระทรวงข้อมูล ระบุบนหน้าเพจเฟซบุ๊ก
เต็งเส่ง อนุมัติกฎหมายการลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อเดือนก่อนหลังได้รับแรงกดดันทั้งจากภายในประเทศ และต่างประเทศในการปฏิรูประบบการเมืองที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ทหาร
ซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญฉบับที่ทหารร่างขึ้นซึ่งมีบทบัญญัติที่ระบุห้ามบุคคลใดก็ตามที่มีคู่สมรส หรือบุตรเป็นชาวต่างชาติทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดี แต่พรรค NLD ยังเคลือบแคลงสงสัยว่าการลงประชามติในปีนี้อาจไม่มีบทบัญญัติดังกล่าวรวมอยู่ด้วย
ยาน เมียว เต็ง นักวิเคราะห์การเมือง กล่าวว่า เขาหวังว่าเต็งเส่ง จะมีเจตนาดีในการจัดการหารือกับซูจีครั้งนี้ และคงไม่ใช่แผนที่หวังจะลดแรงกดดันทางการเมือง
“สิ่งสำคัญที่สุดที่ผมหวังคือ รัฐบาลจะไม่ใช้โอกาสนี้เพียงแค่ให้มีพื้นที่หายใจหายคอ แต่ผมหวังว่าการหารือครั้งนี้จะมีผลที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งประเทศ” ยาน เมียว เต็ง กล่าว.