รอยเตอร์ - ประธานาธิบดีของพม่า ได้อนุมัติกฎหมายที่อนุญาตให้จัดทำประชามติต่อการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ สมาชิกรัฐสภาหลายคนเปิดเผยวานนี้ (11) นับเป็นความเคลื่อนไหวที่อาจนำไปสู่การยกเลิกมาตราที่ห้ามอองซานซูจี จากการทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดีของประเทศ
รัฐบาลของประธานาธิบดีเต็งเส่ง ตกอยู่ภายใต้แรงกดดันจากทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศต่อการปฏิรูประบบการเมืองของพม่าก่อนการเลือกตั้งทั่วไปจะจัดขึ้นในปีนี้
ซูจี และพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ได้ผลักดันให้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ทหารร่างขึ้น ซึ่งบางมาตราในรัฐธรรมนูญระบุห้าม ซูจี จากการทำหน้าที่ในตำแหน่งประธานาธิบดี เนื่องจากบุตรชาย 2 คน เป็นชาวอังกฤษ อันเป็นมาตราที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ของสหรัฐฯ กล่าวว่า ไร้เหตุผล
พรรค NLD ยังระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มอบอำนาจทางการเมืองอย่างมากมายให้แก่ฝ่ายทหารที่ปกครองพม่ามาตั้งแต่ปี 2505-2554
“ในเวลานี้กฎหมายได้รับการอนุมัติ และคณะกรรมาธิการการเลือกตั้งจะกำหนดวันที่เหมาะสมสำหรับการลงประชามติในเดือน พ.ค.” เต็ง ยุ้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคพลังประชาธิปไตยแห่งชาติใหม่ (NNDF) กล่าว
เอ หม่อง ผู้แทนจากสภาสูงที่เป็นสมาชิกพรรคแห่งชาติอาระกัน กล่าวยืนยันว่า ประธานาธิบดีได้อนุมัติกฎหมายแล้ว
แม้ว่าสมาชิกรัฐสภาบางส่วนกำลังผลักดันให้มีการลงประชามติในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่อีกหลายคนเชื่อว่า การประกาศใช้กฎหมายเพียงอย่างเดียวไม่สามารถรับประกันได้ว่าการลงคะแนนเสียงจะเกิดขึ้นภายในปีนี้
โฆษกหญิงของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐฯ ตระหนักในความพยายามของรัฐบาลพม่าที่จะจัดการลงประชามมติ แต่ยังคงไม่แน่ชัดว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้น และครอบคลุมถึงประเด็นสำคัญ
“เราเชื่อว่าการปฏิรูปรัฐธรรมนูญควรสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชนชาวพม่า ขณะเดียวกัน ก็เคารพต่อสิทธิของประชาชนทุกคนที่อาศัยอยู่ในพม่าในการมีส่วนร่วมในกระบวนการทางประชาธิปไตยของประเทศ” เจน ซากี กล่าว
“เราหวังว่าการปฏิรูปเกิดขึ้นภายใต้การตัดสินใจที่เชื่อถือได้ โปร่งใส และเป็นการเลือกตั้งอย่างครอบคลุมที่อนุญาตให้ประชาชนเลือกผู้นำท้องถิ่น และชาติตามความต้องการของตนเอง การให้สิทธิชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ต่างๆ และเพิ่มการควบคุมทหารโดยพลเรือน รวมทั้งการยกเลิกอำนาจยับยั้งของทหารต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” เจน ซากี กล่าว
ริชาร์ด ฮอร์ซีส์ นักวิเคราะห์การเมืองอิสระ กล่าวว่า การทำประชามตินั้นมีค่าใช้จ่าย และการเตรียมการมาก น่าจะยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วงไม่กี่เดือนนี้ แต่อาจมีขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับการเลือกตั้งทั่วไป แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าประชามติจะมุ่งไปที่ประเด็นใดบ้าง
พรรค NLD ยื่นคำร้องเกือบ 5 ล้านชื่อเมื่อปีก่อน เรียกร้องการเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติที่ระบุว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญใดๆ ต้องได้รับเสียงสนับสนุนในสภามากกว่า 75% ซึ่งนักวิจารณ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับปี 2551 ได้มอบอำนาจยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แก่ทหาร ที่มีที่นั่งในสภาถึง 25%