เอเอฟพี - พม่าเผชิญต่อแรงกดดันที่เพิ่มมากขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้านในวันนี้ (19) ถึงข้อกล่าวหาที่ว่า กองทัพของประเทศกระทำการล่วงละเมิดอย่างรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยชาวโรฮิงญา ในขณะที่รัฐมนตรีต่างประเทศจัดการหารือฉุกเฉินเกี่ยวกับวิกฤตดังกล่าว
ชาวโรฮิงญามากกว่า 27,000 คน ได้หลบหนีออกจากรัฐยะไข่ ข้ามไปฝั่งบังกลาเทศนับตั้่งแต่ต้นเดือน พ.ย. หลังทหารพม่าดำเนินการปราบปรามอย่างหนัก ซึ่งกองทัพพม่าระบุว่า กำลังล่าตัวผู้ก่อความไม่สงบที่อยู่เบื้องหลังการโจมตีด่านชายแดนตำรวจในเดือน ต.ค.
แต่ผู้รอดชีวิตชาวโรฮิงญาได้เปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับการข่มขืน สังหาร และวางเพลิง โดยฝีมือของกองกำลังรักษาความมั่นคง ซึ่งสร้างความวิตก และก่อให้เกิดการชุมนุมประท้วงตามเมืองหลวงแห่งต่างๆ ทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
การอพยพของผู้คนเป็นจำนวนมากก่อให้เกิดการโต้เถียงอย่างเปิดเผยที่ผิดปกติภายในสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่มักภูมิใจในตนเองต่อการทูตฉันทมติ และการไม่แทรกแซง
ในวันจันทร์ (19) รัฐมนตรีต่างประเทศจากชาติสมาชิกกลุ่มอาเซียนได้พบหารือกันที่นครย่างกุ้งเป็นการฉุกเฉิน
มาเลเซียเรียกร้องให้มีการสืบสวนข้อกล่าวหาอย่างเป็นอิสระภายใต้การนำของอาเซียน และเรียกร้องการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างสมบูรณ์ในพื้นที่ปิดล้อม ที่ประชาชนมากกว่า 130,000 คน ไม่ได้รับความช่วยเหลือมานาน 2 เดือน
นายอานิฟาห์ อามัน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียเตือนว่า การปราบปรามอาจทำให้วิกฤตผู้อพยพทางเรือเมื่อปีก่อนเกิดขึ้นซ้ำอีก ที่มีชาวโรฮิงญาหลายพันคนถูกทิ้งอยู่กลางทะเล
“เราเชื่อว่าสถานการณ์เป็นความกังวลระดับภูมิภาค และควรแก้ไขร่วมกัน” นายอานิฟาห์ อามันกล่าวต่อที่ประชุม ตามคำแถลงที่เผยแพร่โดยทางการมาเลเซีย
“พม่าต้องพยายามมากขึ้นในการจัดการกับต้นตอของปัญหานี้”
ประชากรชาวโรฮิงญาในพม่าส่วนใหญ่ถูกปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมือง และใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ข้อจำกัดการเคลื่อนไหว หลายปีที่ผ่านมา มีชาวโรฮิงญาหลายพันคนหลบหนีทางเรือเพื่อลี้ภัยในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
การปราบปรามครั้งล่าสุดในรัฐยะไข่ ก่อให้เกิดกระแสความไม่พอใจของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมาเลเซีย ที่ชาวโรฮิงญาหลายหมื่นคนใช้ชีวิตอย่างยากลำบากในฐานะแรงงานผิดกฎหมาย
เมื่อช่วงต้นเดือน นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ของมาเลเซีย ได้กล่าวหา นางอองซานซูจี ผู้นำโดยพฤตินัยของพม่า ว่า ปล่อยให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ที่นับเป็นการตำหนิรุนแรงอย่างผิดปกติจากประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกัน แต่พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาการละเมิดเหล่านั้น และตอบโต้ด้วยการเรียกพบทูตมาเลเซีย และระงับการส่งแรงงานไปทำงานในมาเลเซีย
ซูจี ยังได้หารือกับรัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซียในเดือนนี้ หลังยกเลิกการเยือนแดนอิเหนาภายหลังเกิดการชุมนุมประท้วง และความพยายามโจมตีสถานทูตพม่า
นายออง เค็ง ยอง อดีตเลขาธิการอาเซียน กล่าวว่า ประเทศเพื่อนบ้านวิตกว่าวิกฤตโรฮิงญาจะขยายตัวมากขึ้น
“ปัญหาเช่นนี้หากไม่ได้รับการจัดการที่ดีก็จะกระทบต่อภาพรวมของความสันติภาพ และเสถียรภาพในอาเซียนของเรา” นายออง เค็ง ยอง กล่าว
พม่า ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภายนอกภูมิภาคถึงการจัดการวิกฤตโรฮิงญาของประเทศ ทั้งจากสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และสหประชาชาติ และเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ วิจารณ์การจัดการวิกฤตของรัฐบาลว่าเป็นบทเรียนถึงวิธีที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายย่ำแย่ยิ่งขึ้น
ในรายงานฉบับใหม่ที่เผยแพร่วันนี้ (19) องค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุว่า กาารโจมตีอย่างเป็นระบบ และกว้างของของกองทัพต่อประชากรพลเรือนอาจเปรียบได้กับการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ.