รอยเตอร์ - คณะกรรมการที่นางอองซานซูจี ผู้นำโดยพฤตินัยของพม่าตั้งขึ้นเพื่อสืบสวนเหตุโจมตีด่านชายแดน และการตอบโต้ของกองทัพ ระบุวันนี้ (14) ว่า กองกำลังรักษาความมั่นคงได้ปฏิบัติตามกฎหมายในพื้นที่ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ของรัฐยะไข่
อองซานซูจี ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นท่ามกลางการกดดันจากนานาประเทศที่เพิ่มสูง ในการสืบสวนข้อกล่าวหาที่ว่า ทหารพม่าได้สังหาร และข่มขืนพลเรือน และเผาบ้านเรือน รวมทั้งไม่อนุญาตให้หน่วยงานช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เข้าไปในพื้นที่
ในคำแถลงของคณะกรรมการที่ประกอบด้วยสมาชิก 13 คน ระบุว่า “เจ้าหน้าที่รัฐได้ปฏิบัติตามกฎหมาย และทำหน้าที่อย่างถูกต้องตามกฎหมายในการตอบโต้ผู้โจมตี”
ข้อสรุปเบื้องต้นนี้ได้ก่อให้เกิดคำถามว่า คณะกรรมการที่นำโดยรองประธานาธิบดีมิ้น ส่วย จะมีคำตัดสินที่เป็นอิสระในรายงานฉบับสมบูรณ์ที่คาดว่าจะออกภายในวันที่ 31 ม.ค. หรือไม่
คณะกรรมการชุดนี้ลงพื้นที่เมืองหม่องดอ นาน 3 วัน พื้นที่ที่มีประชาชนอย่างน้อย 86 คน ถูกสังหารนับตั้งแต่เกิดการโจมตีวันที่ 9 ต.ค. ทำให้ทหารดำเนินการปิดล้อมเพื่อกวาดล้างผู้ก่อความไม่สงบ จนชาวมุสลิมโรฮิงญาราว 27,000 คน ต้องหลบหนีข้ามแดนไปฝั่งบังกลาเทศ
ชาวโรฮิงญา ที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ในเมืองหม่องดอ ถูกปฏิเสธสิทธิความเป็นพลเมืองของพม่า และเผชิญต่อข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว และการเข้าถึงการรักษาพยาบาล และการศึกษา
นายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ของมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ได้กล่าวหาพม่าว่า กระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา
ซูจี ได้เรียกร้องให้มีการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) นัดพิเศษ เพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นนี้ ในวันจันทร์ (19) ที่กรุงเนปีดอ
คณะทำงานได้เดินทางเยือนพื้นที่โจมตีหลายแห่งที่เชื่อว่ากลุ่มติดอาวุธชาวโรฮิงญาอยู่เบื้องหลัง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และกองกำลังรักษาความมั่นคง 17 นาย เสียชีวิตในการโจมตีครั้งแรกและการปะทะอีกหลายระลอกต่อมา
“ทหารตอบว่า พวกเขาไม่ได้ข่มขืนผู้หญิงอย่างที่อธิบายไว้ในข่าวเท็จเหล่านั้น พวกเขาปฏิบัติตามกฎ” คำแถลงของคณะกรรมการ ระบุ
ส่วนชาวบ้านได้กล่าวต่อคณะทำงานว่า พวกเขาได้รับความช่วยเหลือ แต่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มมากขึ้น
คำแถลงของคณะกรรมการชุดนี้ ตรงกันข้ามกับคำแถลงของสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNOCHA) เมื่อวันอังคาร ว่า การจัดส่งความช่วยเหลือเข้าถึงประชาชนเพียง 20,000 คน จากทั้งหมด 150,000 คน ที่เคยได้รับความช่วยเหลือด้านอาหาร เงินสด และโภชนาการ ก่อนเกิดการโจมตี
“ยังมีความวิตกเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพจากการระงับการบริการและข้อจำกัดการเคลื่อนไหว” OCHA ระบุ และให้ข้อมูลว่า มีหญิงตั้งครรภ์ประมาณ 7,600 คน ถูกตัดขาดจากการดูแลทางการแพทย์ และมีเด็กขาดสารอาหาร 3,400 คน ที่ตกอยู่ในความเสี่ยง.
.
.