เอเอฟพี - เจ้าหน้าที่สหประชาชาติ กล่าวว่า พม่ากำลังดำเนินการที่มีส่วนเกี่ยวพันต่อการล้างเผ่าพันธุ์ชาวมุสลิมโรฮิงญา หลังมีรายงานระบุว่าทหารยิงใส่ชาวบ้านที่พยายามจะหลบหนี
ผู้คนที่สิ้นหวังหลายพันชีวิตที่ข้ามพรมแดนเข้าไปในเขตบังกลาเทศ ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้เปิดเผยเรื่องราวอันน่าหวาดกลัวเกี่ยวกับการข่มขืนเป็นกลุ่ม การทรมาน และการฆ่าอย่างเป็นระบบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ของพวกเขา
จอห์น แมคคิสซิค หัวหน้าสำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในเมืองคอกซ์บาซาร์ บังกลาเทศ กล่าวว่า ทหารได้สังหารผู้ชาย ฆ่าเด็ก ข่มขืนผู้หญิง ปล้นและเผาบ้าน เป็นผลให้คนเหล่านี้ต้องข้ามแม่น้ำเข้ามาในบังกลาเทศ
สหประชาชาติ ระบุว่า ชาวมุสลิมโรฮิงญามากถึง 30,000 คน ได้ละทิ้งบ้านเรือนตนเองในพม่าเพื่อหลบหนีความรุนแรง หลังทหารระดมกำลังลงพื้นที่ที่ชาวโรฮิงญาอาศัยอยู่ ซึ่งใกล้กับบังกลาเทศเมื่อต้นเดือนนี้
ทางการบังกลาเทศระบุว่า มีประชาชนหลายพันคนรวมตัวกันอยู่ที่ชายแดน แต่ได้ปฏิเสธคำขอจากนานาชาติที่ต้องการให้บังกลาเทศเปิดชายแดนให้คนเหล่านั้นเข้ามา ขณะเดียวกัน ได้บอกต่อทางการพม่าให้ดำเนินมาตรการมากขึ้นในการยุติการหลบหนีของผู้คน
“มันเป็นเรื่องยากอย่างมากสำหรับรัฐบาลบังกลาเทศที่จะเปิดด่านชายแดน เพราะมันจะยิ่งเป็นการสนับสนุนให้รัฐบาลพม่าเดินหน้าผลักดันคนเหล่านี้ จนกระทั่งพวกเขาประสบความสำเร็จในเป้าหมายของการกวาดล้างทางชาติพันธุ์ของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมในพม่า” แมคคิสซิค กล่าว
วิเวียน ตัน เจ้าหน้าที่สื่อของหน่วยงานสหประชาชาติ ระบุว่า แมคคิสซิก ได้กล่าวถึงข้อมูลที่มีแหล่งที่มาแตกต่างหลากหลาย รวมทั้งผู้ที่เดินทางเข้ามาใหม่ได้บอกเล่าถึงสภาพที่พวกเขาหลบหนีมา เป็นรายงานที่น่าวิตกกังวลอย่างมาก
.
.
ดีน โมฮัมหมัด หนึ่งในชาวโรฮิงญาหลายพันคนที่หลบหนีการตรวจลาดตระเวนชายแดน และลอบเข้าไปในเมืองเทคนาฟ เมื่อ 4 วันก่อน พร้อมกับภรรยาและลูก และครอบครัวอื่นๆ อีก 3 ครอบครัว
“พวกเขา (ทหารพม่า) จับตัวลูกชายอีก 2 คนของผมไป ตอนที่พวกเขาเข้ามาในหมู่บ้าน ผมไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับพวกเขา” โมฮัมหมัด อายุุ 50 ปี กล่าว
“พวกเขาจับผู้หญิงเข้าไปในห้อง และล็อกจากข้างใน มีผู้หญิง และเด็กมากถึง 50 คน ในหมู่บ้านเราถูกทรมาน และถูกข่มขืน” โมฮัมหมัด กล่าว และว่าหมู่บ้านของเขาถูกเผาทำลาย ซึ่งเหมือนกันกับคำบอกเล่าของผู้ที่เดินทางมาถึงบังกลาเทศรายอื่นๆ
ชายชาวโรฮิงญาคนหนึ่งกล่าวต่อเอเอฟพีในพม่าว่า ทหารได้ระดมกำลังมาไปในหมู่บ้านที่อยู่ข้างเคียงตอนเช้าตรู่วันศุกร์ และกราดยิงชาวบ้านขณะที่พวกเขาพยายามจะหลบหนี
องค์การนิรโทษกรรมสากล ระบุว่า กองทัพพม่ากำลังดำเนินการลงโทษชาวโรฮิงญา จากเหตุโจมตีด่านตำรวจเมื่อเดือนก่อน
“การตอบโต้ของกองทัพต่อเหตุการณ์โจมตีกองกำลังรักษาความมั่นคงเมื่อ 6 สัปดาห์ก่อน ไปไกลเกินกว่าความจำเป็น และพอเหมาะ แทนที่จะสืบสวน และจับกุมผู้ต้องสงสัยอย่างเฉพาะเจาะจง กองทัพกลับปฏิบัติการลงโทษเหมารวม” ผู้อำนวยการองค์การนิรโทษกรรมสากลประจำภูมิภาคเอเชียใต้ กล่าว
รัฐบาลพลเรือนชุดใหม่ของพม่า ภายใต้การนำของอองซานซูจี ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาต่างๆ แต่การเข้าไปในพื้นที่รัฐยะไข่ถูกจำกัดอย่างเข้มงวด ทำให้การตรวจสอบอย่างอิสระเป็นไปได้ยาก
เพนนี กรีน ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายของมหาวิทยาลัยควีนแมรี ในกรุงลอนดอน กล่าวว่า เหตุการณ์ล่าสุดเป็น “บทใหม่” ในการข่มเหงชาวโรฮิงญา ที่เผชิญต่อข้อจำกัดที่มีลักษณะเดียวกับการแบ่งแยกซึ่งจำกัดการเข้าถึงงาน การศึกษา และการดูแลสุขภาพ
“เราเคยเตือนในปี 2558 ว่า สิ่งที่เราเห็นคือขั้นต้นของกระบวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เราวิตกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้อาจเป็นตัวแทนของบทใหม่ในการข่มเหงชาวโรฮิงญา และอาจเป็นขั้นตอนของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” เพนนี กรีน กล่าว.
.
.