xs
xsm
sm
md
lg

ร้องเมียนมาสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม หยุดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม


 
MGR Online - กลุ่มสภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ยื่นหนังสือหน้าสถานทูตเมียนมา เพื่อเรียกร้องขอให้ยกเลิกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา

วันนี้ (25 พ.ย.) เมื่อเวลา 13.20 น. ที่บริเวณด้านหน้าสถานทูตเมียนมา เจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 30 นาย นำแผงเหล็กมากั้นบริเวณฟุตปาท ภายในถนนปั้น แขวงสีลม เขตบางรัก กทม. ตรงข้ามกับสถานทูตเมียนมา ตั้งแต่ปากซอยประมาณ 100 เมตร เพื่อจัดพื้นที่ให้กับประชาชนที่ต้องการมายื่นหนังสือให้กับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ประจำประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าหยุดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา ในประเทศพม่า

ต่อมาเวลา 14.00 น. นายสาโรจน์ เกิดอยู่ กรรมการสภาเครือข่ายช่วยเหลือ ด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี พร้อมด้วย นายอิสมาแอน หมัดอะด้ำ ประธานกรรมาธิการสภาเครือข่ายช่วยเหลือ ด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรีภายในประเทศ ชาวมุสลิม และชาวโรฮีนจาในประเทศไทย เฉพาะผู้ชาย กว่า 200 คน รวมกันยืนรอ เพื่ออ่านแถลงการและมอบหนังสือเรียกร้องให้กับสถาทูตเมียนมา

นายสาโรจน์ กล่าวว่า การรวมตัวในครั้งนี้สภาเครือข่ายช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม สำนักจุฬาราชมนตรี ต้องการเรียกร้องให้ประเทศพม่าเลิกการใช้ความรุนแรง และฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจา เนื่องจากกรณีที่มีความรุนแรงในรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบอย่างมาต่อชาวโรฮีนจา ซึ่งตามการเปิดเผยของฮิวแมนไรต์วอชท์ พบว่า หมู่บ้านของชาวโรฮีนจา 5 แห่ง ที่ปลูกสร้างถูกทำลายมากกว่า 820 จุด ในช่วงวันที่ 10, 17 และ 18 พ.ย. นับตั้งแต่เกิดเหตุ พบสิ่งปลูกสร้างถูกทำลายไม่น้อยกว่า 1,250 จุด ทั้งนี้ จากรายงานของสหประชาชาติ พบว่า ในเมืองหม่องดอ รัฐยะไข่ มีอัตราการขาดแคลนอาหารในเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี สูงถึงร้อยละ 90 เด็กเหล่านี้ควรได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน

นายสาโรจน์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ องค์กรระหว่างประเทศ เพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน เปิดเผยว่า ชาวโรฮีนจาหลายร้อยคน เดินทางหลบหนีความรุนแรงข้ามพรมแดนเข้ามาในค่ายขององค์กรที่อยู่ใกล้พรมแดนประเทศเมียนมา แต่กับพบว่าบางส่วนเหยียบกับระเบิดจนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ ส่วนชาวโรฮีนจาที่หนีอพยพทางเรือข้ามแม่น้ำนาฟ ที่กั้นระหว่างพรมแดนพม่า และบังกลาเทศ ได้ประสบอุบัติเหตุล่มจนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยราย แม้บางรายจะหลบหนีขึ้นฝั่งได้ก็ถูกทหารบังกลาเทศผลักดันกลับประทศเมียนมา เช่นเดิม

 
ทั้งนี้อยากให้ประเทศเมียนมาร์เคารพอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ด ค.ศ.1989 ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่นานาอารยประเทศต่างให้สัตยาบันและถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จึงอยากเรียกร้องแก่ประเทศพม่า 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.อยากให้รัฐบาลเมียนมาร์เปิดทางให้องค์กรระหว่างประเทศต่างๆ นำความช่วยเหลือเข้าไปยังพื้นที่เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาขนทุกภาคส่วน 2.ให้รัฐบาลเมียนมาร์เปิดให้มีการสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อย่างเป็นธรรม โปร่งใส โดยมีนานาชาติและองค์การสหประชาชาติเข้าร่วมด้วย และ 3.เรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาร์เลิกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญาตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ด้านนายอิสมาแอน กล่าวว่า ชาวโรฮิงญาในประเทศพม่านั้น ได้รับความลำบากอย่างมากรัฐบาลเมียนมาร์ไม่ต้องลงไปช่วยเหลือก็ได้ ขอเพียงแค่เปิดทางให้องค์กรต่างเข้าไปช่วยเหลือเยียวยา นอกจากนี้ยังรู้สึกผิดหวังกับรัฐบาลใหม่ของประเทศเมียนมาร์ด้วย เพราะคิดว่าหลังจากที่รัฐบาลใหม่เข้ามาดูและสถานการณ์อาจจะดีขึ้น แต่ก็ไม่เป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ทางสภาได้เตรียมการให้มีการถอดถอนรางวัลโนเบลที่ผู้นำคนใหม่ของเมียนมาร์เคยได้รับด้วย อย่างไรก็ตามกิจกรรมนี้ได้รับความรวมมือทั้งประเทศในเอเชียและยุโรมมากว่า 20 ประเทศ โดยถือเอาเวลา14.00น.ตามเวลาท้องถิ่น ในวันเดียวกันร่วมทำกิจกรรมพร้อมกัน ซึ้งหลังจากนี้ยังไม่ได้มีกิจกรรมกดดันอะไรต่อไป แต่จะขอดูผลตอบรับจากรัฐบาลของเมียนมาร์ว่าจะมีความเห็นอย่างไร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าขณะที่มีการทำกิจกรรม ก็มีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสน.ยานนาวา เนื่องจากผู้เข้าร่วมกิจกรรมไม่ทำตามข้อเสนอที่ขอไว้กับทางเจ้าหน้าที่ มีการใช้โทรโข่งเล็กมาพูดคำแถลง มีการชูป้ายและส่งเสียงดัง รวมถึงต้องการไปยื่นหนังสือต่อหน้าป้ายสถานทูตเมียนมาร์ แต่เหตุการณ์ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเรียบร้อยไม่มีการกระทบกระทั่งแต่อย่างใด












 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น