xs
xsm
sm
md
lg

อ.มหิดลเขียนลงสื่อนอก ชี้พ่อหลวงไทยนำพาชาติพ้นวิกฤตินับครั้งไม่ถ้วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วอชิงตันโพสต์ - อาจารย์จากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล เขียนบทความลงสื่อต่างชาติ โดยระบุว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงนำพาประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตินับครั้งไม่ถ้วน ทรงทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยและเป็นที่รักของชาวไทย

ดร.ไนเจล กูลด์-เดวีส์ อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิชาสังคมศาสตร์ วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เขียนบทความไว้บนเว็บไซต์ของ "วอชิงตัน โพสต์" เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อบทความ "มรดกของพระมหากษัตริย์ไทย : ความชอบธรรมทางการเมืองที่โดดเด่น" โดยมีการระบุไว้ดังนี้

ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงถวายความอาลัยให้กับการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชผู้เป็นที่รักของชาวไทย หลังจากทรงครองราชย์มานาน 70 ปี ซึ่งตลอดช่วงเวลานั้นประเทศไทยได้ยกระดับจากการเป็นประเทศเกษตรกรรมที่ยากจน กลายเป็นประเทศที่รุ่งโรจน์มีรายได้ระดับกลาง-สูง ถือเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ที่สุดของพระองค์ แม้มีการสร้างความชอบธรรมทางการเมืองที่มีรูปแบบเฉพาะตัว แต่ก็ช่วยให้ไทยรอดพ้นจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในภูมิภาคที่แสนอลหม่านแห่งนี้

นี่คือเหตุผลว่าทำไมความชอบธรรมจึงเป็นรากฐานสำคัญที่สุดต่อการเมืองทุกรูปแบบ เพราะเป็นคำตอบต่อคำถามที่ว่า "สิทธิ์อะไรที่รัฐใช้ปกครองผู้คน" และ "ทำไมประชาชนถึงยินยอมเชื่อฟังทำตาม"

หากผู้คนคิดว่าระบบการปกครองนั้นมีความถูกต้องชอบธรรม ประเทศชาติก็ดูจะมีเสถียรภาพมากขึ้น แม้จะเป็นรัฐบาลที่ขาดประสิทธิภาพหรือไม่ได้รับความนิยม แต่หากผู้คนจำนวนมากปฏิเสธสิทธิ์ในการปกครองของรัฐบาลนั้น ความวุ่นวายและสงครามกลางเมืองก็อาจจะตามมา

ทางเลือกในการ"ปกครองโดยประชาชน"

โลกสมัยใหม่ได้ก่อให้เกิดสาธารณชนที่มีการศึกษาและชอบตั้งคำถามว่า เป็นไปได้ไหมที่พวกเขาจะจัดตั้งกลุ่มของตนเองขึ้นมาเพื่อแสดงสิทธิ์ต่อผลประโยชน์ของพวกเขา คนเหล่านี้มักจะถามรบเร้าอยู่เรื่อยๆ ว่าทำไมบรรดาผู้ที่ทำการปกครองถึงได้อยู่ในอำนาจ คำตอบหนึ่งก็คือ "ประชาธิปไตยสมัยใหม่" อันเป็นกฏที่ถูกต้องชอบธรรมสำหรับ "การปกครองโดยประชาชน" เรายินยอมพร้อมใจที่จะเชื่อฟังรัฐบาลเพราะเราเป็นผู้เลือกมาเองโดยการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม

ผู้มีอำนาจในหลายรัฐบาลทั่วโลกต่างก็ต้องรับมือกับความท้าทายนี้ มีจำนวนมากที่แสร้งทำเป็นประชาธิปไตย โดยใช้การเลือกตั้งที่ฉ้อฉลเพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป ขณะที่ผู้ปกครองอื่นๆ ก็มีบางรายที่ใช้อดีตมาเป็นข้ออ้างเรียกร้อง (อย่างเช่นบอกว่าปกครองตามประเพณีในอดีต) บางรายก็อ้างอนาคต (ด้วยการสร้างภาพในอุดมคติขึ้นมาจูงใจ มักใช้กันในกลุ่มคอมมิวนิสต์หรือพวกสังคมนิยม) บางทีก็มีอ้างถึงความเป็นนิรันดร (อ้างว่าเป็นการปกครองในนามของพระเจ้า) แต่มีผู้นำแค่ไม่กี่รายที่จะสร้างแรงดลใจให้ผู้คน จากบุคลิกลักษณะที่เต็มไปด้วยคุณงามความดี

อย่างไรก็ตาม ทุกทางออกล้วนมีข้อจำกัด การอ้างถึงอดีตนั้นจับใจผู้คนน้อยลงเมื่อโลกเข้าสู่สังคมสมัยใหม่ คอมมิวนิสต์ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการจะทำตัวเป็นพระเจ้านั้นล้มเหลว ตอนนี้การเอาพระเจ้าเข้ามาเกี่ยวข้องกับการอ้างสิทธิ์ปกครองมีให้เห็นแค่เพียงในโลกของอิสลาม ส่วนการอ้างถึงคุณสมบัติความสามารถพิเศษที่ดึงดูดใจก็ถือว่าหาได้ยาก ทั้งยังจับใจได้เป็นรายบุคคล ไม่ใช่ทั้งระบบ

ทางออกที่มีลักษณะเฉพาะตัวของไทย

ประเทศไทยพบทางแก้ปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะตัว นั่นคือสถาบันกษัตริย์ที่ได้รับการเคารพนับถือ โดยมีการผสมผสานความชอบธรรมหลายอย่าง ทั้งประเพณีดั้งเดิม ความเป็นเทพผู้ศักดิ์สิทธิ์ คุณสมบัติพิเศษที่ดึงดูดใจ ขณะเดียวกันก็ยังเอื้อต่อการเจริญเติบโตที่รวดเร็วของเศรษฐกิจ รวมถึงประชาธิปไตยเป็นครั้งคราว ความชอบธรรมหลายอย่างที่มีความแตกต่างกันนี้ ได้รวมกันจนก่อให้เกิดบทบาทของผู้ที่มีอำนาจมากมายมหาศาลในเชิงคุณธรรม ที่สูงล้ำขึ้นไปยิ่งกว่าอำนาจตามรัฐธรรมนูญ

แม้จุดเริ่มต้นจะไม่ใช่สถานการณ์ที่ดี ในตอนที่พระองค์ขึ้นครองราชย์อย่างมิได้คาดหมายขณะที่ยังทรงพระเยาว์ ช่วงที่สถานการณ์ที่ไทยอยู่ในภาวะโศกเศร้าในปี 1946 นอกจากนี้หลังการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (ในหลวงรัชกาลที่ 7) ก็ไม่มีพระมหากษัตริย์ประทับอยู่ในไทยนานนับทศวรรษ อันเป็นผลพวงจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งกองทัพไทยที่ทรงอำนาจในขณะนั้นต้องการเพียงจะใช้สถาบันเพื่อหาความชอบธรรมในการปกครองของตนเอง

แต่ด้วยการที่ทรงทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยในพื้นที่ส่วนใหญ่อันแร้นแค้นทุรกันดาร กับวิถีชีวิตส่วนพระองค์แบบพอเพียงและน่ายึดเป็นแบบอย่าง ทำให้พระมหากษัตริย์พระองค์นี้ค่อยๆ ได้รับความเคารพนับถือมากขึ้นเรื่อยๆ จำนวนผู้จงรักภักดีที่เพิ่มมากขึ้นได้กลายเป็นฐานอำนาจของพระองค์

ความชอบธรรมของพระองค์นั้นมีมากล้น ทั้งพระราชดำรัสหรือพระกรณียกิจ อาทิ ตำหนิการคอร์รัปชั่น อุทิศพระองค์เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือนการต่อว่ากองทัพและชนชั้นนำทางธุรกิจที่โลภโมโทสันไปโดยปริยาย พระองค์ยังทรงมีพระราชดำรัสถึง "เศรษฐกิจพอเพียง" หลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 เพื่อหาทางสายกลางในการตอบสนองต่อความต้องการพื้นฐาน ด้วยการรักษาสมดุลในการพัฒนาเพื่อรับมือกระแสโลกาภิวัตน์

อำนาจในการปกครองแบบเงียบๆ

สิ่งที่โดดเด่นที่สุดคือในสถานการณ์คับขันร้ายแรง พลังอำนาจในเชิงคุณธรรมนี้ยังเหนือล้ำยิ่งกว่าบรรดาคนมีปืน ตัวอย่างที่น่าทึ่งมากที่สุดก็คือการที่พระองค์ยื่นมือเข้าแทรกแซงในวิกฤติเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อปี 1992 ท่ามกลางการเผชิญหน้ากันอย่างรุนแรงตามท้องถนนในกรุงเทพ พระองค์ได้ทรงเรียกตัว พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กับแกนนำฝ่ายต่อต้าน พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ให้เข้าเฝ้าพร้อมทำการตักเตือนทั้งคู่ ทำให้วิกฤติคลี่คลาย ตามมาด้วยการลาออกของ พล.อ.สุจินดา

ไม่มีประเทศอื่นใดที่เคยได้เห็นการผสมผสานระหว่างความสง่างามและเต็มไปด้วยประสิทธิภาพแบบนี้ในสถาบันสูงสุดของพวกเขา ที่ยังมีความแตกต่างกันของคุณสมบัติทั้งสองอย่าง สำหรับในประเทศแถบยุโรปตะวันตกที่มี "ไบซิเคิล โมนาร์ช" (เป็นคำเปรียบเปรยถึงเชื้อพระวงศ์ที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย ปั่นจักรยานให้คนทั่วไปพบเห็นได้ - ผู้แปล) ผู้ที่เป็นเสมือนหัวโขน แม้ผู้คนให้การยอมรับนับถือแต่ก็ไม่มีอำนาจ ส่วนผู้ที่มีอำนาจมักจะมีอิทธิพลในทางลับ พวกเขาเหล่านี้ล้วนเป็นอดีตผู้นำที่รื่นเริงกับชีวิตหลังยุติบทบาททางการเมืองอย่างเช่นในสิงคโปร์ ขณะที่กษัตริย์ไทยกลับสามารถสร้างบทบาทที่ทรงอำนาจได้ด้วยพลังแห่งการทำตัวเป็นแบบอย่าง แทนการออกคำสั่ง

สำหรับนักรัฐศาสตร์ การจำแนกการเมืองไทยว่าเป็นแบบไหนนั้นถือเป็นเรื่องรู้กันมานานแล้วว่ายากมาก เพราะบทบาทที่มีความเฉพาะตัวของพระมหากษัตริย์ วิถีชีวิตส่วนพระองค์ การเป็นที่รัก ความเคารพที่มีต่อพระมหากษัตริย์ไทยและบทบาทของพระองค์ได้กลายเป็นสิ่งที่ประหลาดในความเข้าใจทางการเมืองแบบตะวันตก ที่มักจะเน้นในเรื่องผลประโยชน์ ส่วนสถาบันต่างๆ ก็ไม่ค่อยใส่ใจเรื่องคุณงามความดี ประเพณีและความเชื่อในเรื่องสมมุติเทพ ว่าจะมีอำนาจอย่างแท้จริงในทางการเมือง

สิ่งที่ดูจะขัดแย้งอยู่บ้างก็คือ ในช่วงการครองราชย์ที่ยาวนานของพระองค์ กลับมีอัตราการเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญสูงที่สุดในโลก แต่นั่นก็ช่วยในการรักษาเสถียรภาพของประเทศ ทำให้ประเทศไทยหลีกเลี่ยงการถูกปกครองโดยกองทัพที่โหดร้ายอย่างในพม่า ความขัดแย้งและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในแถบอินโดจีน รวมถึงการนองเลือดหลายต่อหลายครั้งในอินโดนีเซีย ความชอบธรรมของสถาบันกษัตริย์ไทยที่มีรูปแบบเฉพาะตัวนั้น ได้ช่วยนำพาประเทศผ่านอันตรายในช่วงสงครามเย็น เป็นถนนที่พาไปสู่ยุคใหม่โดยที่เจอกับการเปลี่ยนแปลงน้อยกว่าชาติเพื่อนบ้านส่วนใหญ่

คำถามสำคัญในตอนนี้ก็คือ ประเทศไทยจะประคับประคองและปรับใช้ระบบรัฐบาลแบบนี้อย่างไร หลังการสวรรคตของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นที่เคารพบูชา


กำลังโหลดความคิดเห็น