xs
xsm
sm
md
lg

จนท.สหประชาชาติยันมีโรฮิงญากว่าครึ่งพันหนีเข้าบังกลาเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>เจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงยืนคุมกลุ่มชาวมุสลิมโรฮิงญา 38 คน ที่จับตัวได้หลังลักลอบข้ามแดนพม่า-บังกลาเทศ ที่ด่านชายแดนในเมืองคอกซ์ บังกลาเทศ เมื่อวันที่ 21 พ.ย. -- Reuters/Mohammad Ponir Hossain.</font></b>

รอยเตอร์ - ชาวมุสลิมโรฮิงญาจากพม่าหลายร้อยคนข้ามแดนไปฝั่งบังกลาเทศ ตลอดช่วงช่วงสุดสัปดาห์ และวันจันทร์ เพื่อหาที่พักพิงหลบหนีภัยความรุนแรงในพื้นที่ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 86 คน และกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อีกราว 30,000 คน

เจ้าหน้าที่จากองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ที่เป็นหน่วยงานด้านการย้ายถิ่นองสหประชาชาติ ระบุว่า มีผู้คนมากกว่า 500 คน เข้ามาที่ค่ายพักของหน่วยงานที่ตั้งอยู่บนเนินเขาใกล้ชายแดนเมื่อวันจันทร์ (21)

เจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์จากหน่วยงานอื่นๆ ของสหประชาชาติ และผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ที่ค่ายของ IOM ต่างรายงานว่าเห็นชาวโรฮิงญาจำนวนมากที่ระบุว่าเพิ่งหนีการสู้รบในพม่า ส่วนคนงานของสหประชาชาติแม้จะไม่ได้ระบุตัวเลขชัดเจนของจำนวนผู้คนที่อพยพ แต่แสดงความวิตกถึงการไหลบ่าของผู้คนอย่างฉับพลันนี้

เหตุนองเลือดที่เกิดขึ้นนับว่าสาหัสที่สุดตั้งแต่เกิดเหตุปะทะกันระหว่างชุมชนที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนในรัฐยะไข่ เมื่อปี 2555 และกำลังเป็นบททดสอบที่ใหญ่ที่สุดสำหรับคณะบริหารของนางอองซานซูจี ที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศได้เพียง 8 เดือน

ทหารระดมกำลังเข้าไปในพื้นที่ตามแนวชายแดนติดบังกลาเทศ เพื่อตอบโต้การโจมตีด่านชายแดน 3 แห่ง เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 9 นาย

มูลาวี อาซิส ข่าน อายุ 60 ปี จากหมู่บ้านในรัฐยะไข่ระบุว่าหลบหนีออกทางจากพม่ามาตั้งแต่สัปดาห์ก่อน หลังทหารเข้าล้อมบ้านและจุดไฟเผา

"ตอนนั้น ผมหนีมาพร้อมกับลูกสาว 4 คน และหลานชายอีก 3 คน ไปที่เนินเขาข้างๆ จนเราข้ามชายแดนมาได้" อาซิส ข่าน กล่าว

.
<br><FONT color=#000033> ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาเดินทางใกล้ถึงค่ายผู้ลี้ภัย หลังลอบข้ามแดนพม่า-บังกลาเทศ ในเมืองคอกซ์ บาซาร์ ที่อยู่ติดพรมแดนพม่า เมื่อวันที่ 21 พ.ย. -- Reuters/Mohammad Ponir Hossain.</font></b>
.
กองทัพและรัฐบาลพม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาที่ประชาชนและกลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชนระบุว่าทหารได้ข่มขืนหญิงชาวโรฮิงญา เผาบ้านเรือและสังหารพลเรือนในระหว่างออกปฏิบัติการทางทหารในรัฐยะไข่

ส่วนหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน ฮิวแมนไรท์วอช ที่มีสำนักงานในนครนิวยอร์ก กล่าวว่า ภาพถ่ายดาวเทียมที่เก็บภาพเมื่อวันที่ 10 ,17 และ 18 พ.ย. เผยให้เห็นว่ามีสิ่งปลูกสร้างถูกทำลาย 820 จุด จาก 5 หมู่บ้านในรัฐยะไข่ และหากรวมกับข้อมูลที่มีอยู่ ทำให้จำนวนสิ่งปลูกสร้างที่ถูกทำลายรวมเป็นทั้งสิ้น 1,250 จุด

รัฐบาลพม่าปฏิเสธรายงานก่อนหน้านี้เกี่ยวกับพลเรือนชาวโรฮิงญาพยายามหลบหนีไปบังกลาเทศ

ซอ เต โฆษกประธานาธิบดีและสมาชิกคณะทำงานด้านข้อมูลรัฐยะไข่ที่ถูกตั้งขึ้นใหม่ ระบุว่า รัฐบาลยังคงสอบสวนรายงานที่มีการกล่าวอ้าง แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้

"เราตรวจสอบกับทหารและตำรวจเกี่ยวกับผู้คนที่หลบหนีไปบังกลาเทศตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค. บางคนหลบหนีออกจากหมู่บ้าน แต่เราได้พาพวกเขากลับไปที่หมู่บ้าน" ซอ เต กล่าว

"หากมีบางอย่างเกิดขึ้น เราจะดำเนินการสืบสวน เราไม่ได้ปฏิเสธต่อทุกข้อกล่าวหา แต่รัฐบาลของเราต้องตรวจสอบทุกข้อกล่าวหาเสมอ และบางข้อก็พบว่าไม่เป็นความจริง" โฆษกประธานาธิบดีพม่า กล่าว

กองทัพพม่าได้ประกาศเขตปฏิบัติการในรัฐยะไข่ ที่กองทัพระบุว่ากำลังต่อสู้กับผู้ก่อความไม่สงบชาวโรฮิงญาที่ได้แรงบันดาลใจจากกลุ่มหัวรุนแรงชาวมุสลิม

ชาวโรฮิงญา 1.1 ล้านคนในพม่า ถูกมองว่าเป็นผู้ลักลอบเข้าประเทศผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ และถูกปฏิเสธสิทธิพลเมือง รวมทั้งต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการเดินทางอย่างเข้มงวด

สหประชาชาติคาดการณ์ว่าเวลานี้ มีผู้คนมากถึง 30,000 คน เป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย และอีกหลายพันคนได้รับผลกระทบจากการต่อสู้ที่เกิดขึ้น ส่วนการดำเนินงานด้านมนุษยธรรมที่จัดหาอาหาร เงิน และโภชนาการ ให้กับประชาชนมากกว่า 150,000 คน ถูกระงับมานานกว่า 40 วัน

หน่วยงานผู้ลี้ภัยของสหประชาชาติเรียกร้องให้รัฐบาลพม่าอนุญาตให้หน่วยงานเข้าไปในพื้นที่เพื่อแจกจ่ายความช่วยเหลือ

"ตามหลักคือช่วยพวกเขาในที่ที่พวกเขาอยู่ ซึ่งนั่นจะทำให้พวกเขาไม่ต้องข้ามฝั่งไปบังกลาเทศ แต่หากพวกเขาไม่สามารถรับความช่วยเหลือในที่ที่พวกเขาอยู่ได้ จนต้องข้ามแดนไปอีกประเทศหนึ่ง เช่นบังกลาเทศ เราขอร้องให้รัฐบาลบังกลาเทศเปิดชายแดนให้กับผู้ลี้ภัยเหล่านี้" เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ระดับภูมิภาคของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น