รอยเตอร์ - กองทัพพม่าเผยวานนี้ (15) ว่า การต่อสู้ที่ยกระดับความรุนแรงขึ้นในรัฐยะไข่ ทำให้สมาชิกของกลุ่มติดอาวุธชาวมุสลิมโรฮิงญาเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 69 ราย ขณะที่สมาชิกฝ่ายทหารเสียชีวิตไป 17 นาย
ยอดผู้เสียชีวิตที่หนังสือพิมพ์โกลบอล นิว ไลท์ ออฟ เมียนมาร์ รายงาน สูงกว่าที่สื่อของรัฐรายงานไว้ก่อนหน้าเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ ส่งผลให้ นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ที่ยังมีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหารัฐยะไข่ แสดงความวิตกถึงการต่อสู้ที่ทวีความรุนแรงขึ้นนี้
เหตุขัดแย้งครั้งล่าสุดนับได้ว่าสาหัสที่สุดตั้งแต่เกิดการปะทะกันครั้งใหญ่ระหว่างชาวพุทธ และชาวมุสลิมในรัฐยะไข่ ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน เมื่อปี 2555
อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ออกคำแถลงฉบับหนึ่งระบุว่า มีความรู้สึกวิตกกังวลอย่างมากต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ที่ทำให้รัฐตกอยู่ในสภาวะไม่มั่นคง และก่อให้เกิดการบังคับย้ายที่อยู่รอบใหม่
“ทุกชุมชนควรละเว้นความรุนแรง และผมขอเรียกร้องให้หน่วยรักษาความมั่นคงปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย” นายโคฟี อันนัน กล่าว
อดีตเลขาธิการสหประชาชาติผู้นี้เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะกรรมการที่นางอองซานซูจี ตั้งขึ้นในเดือน ส.ค. ที่ในวันนี้ (16) สมาชิกของคณะกรรมการจะเดินทางมุ่งหน้าไปยังหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบ
ทหารได้ระดมกำลังลงพื้นที่ตามแนวชายแดนบังกลาเทศ เพื่อตอบโต้การโจมตีฐานชายแดน 3 จุด เมื่อวันที่ 9 ต.ค. ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเสียชีวิต 9 นาย และยังปิดล้อมพื้นที่ที่ประชากรในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมโรฮิงญา พร้อมทั้งห้ามเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ และผู้สังเกตการณ์อิสระเข้าไปในบริเวณดังกล่าว เพื่อดำเนินการกวาดล้างหมู่บ้านต่างๆ
การโจมตีหลายระลอกที่เกิดขึ้นในช่วง 6 วันที่ผ่านมา จนถึงวันจันทร์ (14) ทำให้กลุ่มติดอาวุธเสียชีวิตไปทั้งสิ้น 69 ราย และจับกุมตัวได้ 234 ราย ตามการระบุของทีมข้อมูลข่าวทหาร ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐเสียชีวิตในการปะทะรวม 17 นาย
ชาวมุสลิมโรฮิงญา 1.1 ล้านคน ของพม่า ถูกปฏิเสธสิทธิความเป็นพลเมือง ด้วยชาวพม่าจำนวนมากมองว่าคนเหล่านี้เป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ ชาวโรฮิงญาเผชิญต่อข้อจำกัดเข้มงวดต่างๆ เกี่ยวกับการเดินทาง และการเข้าถึงการบริการทางสุขภาพ ซึ่งหลายคนพึ่งพาความช่วยเหลือด้านอาหาร และยามานานก่อนที่การต่อสู้ปะทุขึ้นในเดือน ต.ค.
นักการทูตระดับสูงจากสหประชาชาติ อังกฤษ สหรัฐฯ และอีกหลายประเทศ ได้เดินทางลงพื้นที่ในช่วงต้นเดือน พ.ย. และระบุว่า รัฐบาลได้ตกลงที่จะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกลับเข้าดำเนินการในพื้นที่ได้อีกครั้ง
แต่มีประชาชนเพียง 7,200 คน จาก 4 หมู่บ้านที่ได้รับอาหาร ขณะที่ขบวนรถความช่วยเหลือที่เคยลงพื้นที่ตามปกติยังคงถูกขัดขวาง ตามการระบุของหน่วยงานช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติ
สำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรรมแห่งสหประชาชาติ ระบุในคำแถลงว่า ประชาชนราว 15,000 คน ต้องอพยพจากที่อยู่อาศัยเนื่องจากความไม่สงบ และอีก 150,000 คน จากพื้นที่ยากจน ไม่ได้รับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมานานกว่า 1 เดือน.