เอเอฟพี - หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ ระบุว่า ชาวโรฮิงญาในพม่าอาจเป็นเหยื่อของการก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ขณะที่อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ นายโคฟี อันนัน เดินทางถึงพม่า เพื่อสรุปสถานการณ์รัฐยะไข่
กองทัพทหารพม่าได้ดำเนินการปราบปรามอย่างรุนแรงในรัฐยะไข่ ส่งผลให้ชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมหลายพันคนหลั่งไหลหนีตายข้ามพรมแดนไปบังกลาเทศตลอดเดือนนี้ ซึ่งมาพร้อมกับเรื่องราวเกี่ยวกับการข่มขืน การทรมาน และสังหาร โดยกองกำลังรักษาความมั่นคงของพม่า
ชาวโรฮิงญาราว 30,000 คน ต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่นหลบหนีออกจากที่อยู่อาศัยตนเอง และจากการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมโดยฮิวแมนไรท์วอช ยังพบว่า สิ่งปลูกสร้างหลายร้อยหลังในหมู่บ้านชาวโรฮิงญาถูกเผาวอด
พม่าปฏิเสธข้อกล่าวหาว่ากระทำการละเมิดสิทธิ โดยระบุว่า กองทัพกำลังค้นหาผู้ก่อการร้ายที่อยู่เบื้อหลังการโจมตีด่านตำรวจเมื่อเดือนก่อน และรัฐบาลยังได้ตำหนิรายงานของสื่อเกี่ยวกับการข่มขืน และสังหาร และยื่นประท้วงเจ้าหน้าที่สหประชาชาติในบังกลาเทศที่กล่าวหาว่า พม่ากำลังดำเนินการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา
เมื่อวันอังคาร (29) สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ระบุว่า การปฏิบัติของพม่าต่อชาวโรฮิงญาอาจเข้าข่ายเป็นการก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ซึ่งตอกย้ำข้อค้นพบในรายงานเมื่อเดือน มิ.ย.
ชาวโรฮิงญามากกว่า 120,000 คน ใช้ชีวิตในสภาพแออัดภายในค่ายผู้พลัดถิ่น นับตั้งแต่เกิดเหตุความรุนแรงทางศาสนา ในปี 2555 ซึ่งคนเหล่านี้ถูกปฏิเสธสิทธิการเป็นพลเมือง การเข้าถึงการดูแลสุขภาพ และการศึกษา รวมทั้งถูกจำกัดความเคลื่อนไหวอย่างเข้มงวด
“รัฐบาลพม่าล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ที่จะดำเนินการตามการแนะนำในรายงานของสำนักงานสิทธิมนุษยชนสหรประชาชาติ ที่ยกความเป็นไปได้ว่ารูปแบบของการละเมิดสิทธิชาวโรฮิงญานั้นอาจเทียบได้กับการก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ” OHCHR ระบุในคำแถลงฉบับหนึ่ง
ท่ามกลางวิกฤตที่ขยายตัวขึ้นนี้ นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ได้เริ่มต้นการเยือนพม่าเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ที่รวมทั้งการเดินทางเยือนรัฐยะไข่
เมื่อเดือน ส.ค. อองซานซูจี ได้แต่งตั้งนายโคฟี อันนัน ให้เป็นหัวหน้าคณะกรรมการพิเศษในการสืบสวนเพื่อหาวิธีที่จะแก้ไขความแตกแยกทางเชื้อชาติและศาสนาที่ทำให้รัฐยะไข่ถูกแบ่งแยก
นายอันนัน ได้แสดงความรู้สึกวิตกกังวลต่อสถานการณ์ความรุนแรงในรัฐยะไข่ ที่ยังปรากฏให้เห็นชาวมุสลิมหลายพันคนที่เต็มไปด้วยความไม่พอใจโกรธแค้นออกมาชุมนุมประท้วงตามถนนทั่วเอเชีย
แต่ นายเอ วิน สมาชิกชาวมุสลิมในคณะกรรมการรัฐยะไข่ ได้กล่าวปกป้องการจัดการวิกฤตของซูจี
“มือของซูจีถูกมัดไว้ เธอไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ แต่สิ่งที่เธอกำลังทำคือ พยายามพูดคุยเจรจาและสร้างความไว้วางใจแก่กองทัพ” เอ วิน กล่าว โดยชี้ไปยังกองทัพที่ยังคงควบคุมการรักษาความมั่นคงและการป้องกันประเทศ ภายใต้รัฐธรรมนูญที่เขียนขึ้นโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร.
.
.