เอเอฟพี - พม่าจะเริ่มต้นหารือตามแผนที่วางไว้ยาวนานกับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ในปลายเดือนนี้ ขณะที่อองซานซูจี มีเป้าหมายที่การบรรลุสันติภาพเพื่อเป็นการโหมโรงการฟื้นเศรษฐกิจประเทศ
ความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ที่ซับซ้อนปะทุขึ้นทั่วพื้นที่ชายแดนของประเทศ ขัดขวางความพยายามที่จะสร้างเศรษฐกิจประเทศ หลังสิ้นสุดการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหาร
บางกลุ่มที่ต่อสู้กับกองทัพมาเป็นเวลาหลายสิบปีได้ลงนามข้อตกลงหยุดยิง แต่ข้อตกลงเหล่านั้นยังคงเปราะบาง ทำให้การหารือสันติภาพเป็นภารกิจเร่งด่วนของซูจี
สำหรับการหารือสันติภาพครั้งแรกนี้ จะเป็นการหารือที่กลุ่มต่างๆ มีส่วนร่วม ทั้งที่เป็นกลุ่มซึ่งเคยลงนามหยุดยิง และกลุ่มที่อยู่นอกข้อตกลง
“การพบหารือครั้งแรกของการประชุมปางโหลงศตวรรษที่ 21 จะมีขึ้นในวันที่ 31 ส.ค.” คำแถลงประกาศอยู่บนหน้าเพจเฟซบุ๊กของซูจี
การประชุมปางโหลง เป็นการอ้างถึงการประชุมครั้งประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นในปี 2490 โดยนายพลอองซาน บิดาของซูจี ที่ทำให้ได้เห็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มสำคัญต่างๆ ให้คำมั่นว่าจะเข้าร่วมกับพม่า แต่ข้อตกลงนั้นเป็นอันต้องยุติภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารที่เข้าครองอำนาจไม่นานหลังเกิดเหตุลอบสังหารนายพลอองซาน และปกครองประเทศมายาวนานเกือบ 50 ปี
วันของการเจรจาสันติภาพมีกำหนดขึ้นหลังการพูดคุยระหว่างซูจี และ พล.อ.มิน ออง หล่าย ที่กรุงเนปีดอ ในวันจันทร์ (8)
ซูจี ดูเหมือนจะได้พัฒนาความสัมพันธ์อันดีกับอดีตนายพลอาวุโสในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา นับตั้งแต่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ชนะการเลือกตั้ง และครองเสียงส่วนใหญ่ในสภา
ในการกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันครบรอบเหตุการณ์ปราบปรามของกองทัพต่อผู้ชุมนุมประท้วงนักศึกษาในปี 2531 ทิน อู อดีตนายพล และสมาชิกพรรค NLD ที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย กล่าวว่า มันเป็นสิ่งสำคัญที่จะหาข้อตกลงร่วมกันกับกองทัพในการผลักดันสันติภาพ
แต่ความขัดแย้งเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ เช่น กฎของสหพันธรัฐ ความเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ การปลดอาวุธของกลุ่มกบฏ และการยุติปฏิบัติการของกองทัพพม่า ยังคงขัดขวางความคืบหน้าของการหารือ นอกจากนั้น พื้นที่ชายแดนที่รุมเร้าด้วยความขัดแย้ง ยังเป็นแหล่งลักลอบตัดไม้ การทำเหมืองหยก และการค้ายาเสพติด ที่ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนต่อสถานการณ์
ซูจี ต้องการที่จะหารือเพื่อหาข้อตกลงร่วมกันเกี่ยวกับการปกครองตนเองแบบสหพันธรัฐสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อแลกเปลี่ยนกับสันติภาพ แต่ยังไม่ชัดเจนว่ากลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใดบ้างที่จะเข้าร่วมการหารือ แม้จะมีสัญญาณเชิงบวกก็ตาม
“ผมคิดว่ากลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่มจะขอรัฐบาลเข้าร่วมการประชุม” สมาชิกรัฐสภาจากพรรคสันนิบาตแห่งชาติไทใหญ่เพื่อประชาธิปไตย กล่าว พร้อมเสริมว่า ความต้องการสันติภาพของซูจี มีแนวโน้มที่จะทำให้กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์หลายกลุ่มต้องการร่วมโต๊ะเจรจา.