xs
xsm
sm
md
lg

แกนนำกลุ่มติดอาวุธเตือนการต่อสู้ที่ยังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ขัดขวางการเจรจาสันติภาพของซูจี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

<br><FONT color=#000033>อองซานซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ (กลาง) พบหารือกับแกนนำสภาสหพันธรัฐแห่งชาติสหภาพ (UNFC) ที่ศูนย์สันติภาพและความปรองดองแห่งชาติ (NRPC) ในนครย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 17 ก.ค. แกนนำกลุ่มระบุว่าการต่อสู้ที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องระหว่างกลุ่มติดอาวุธกับกองทัพในหลายพื้นที่เป็นอุปสรรคขัดขวางความสำเร็จของการเจรจาสันติภาพของอองซานซูจี. -- Xinhua/U Aung.</font></b>

เอเอฟพี - การต่อสู้อย่างต่อเนื่องกำลังบ่อนทำลายการผลักดันการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในพม่าของอองซานซูจี แกนนำกลุ่มติดอาวุธกล่าวเตือนวันนี้ (18) ขณะที่แสดงความยินดีอย่างระมัดระวังต่อการเจรจาครั้งสำคัญของรัฐบาลนำโดยพลเรือนชุดใหม่ของประเทศ

ซูจี ได้ยกประเด็นสันติภาพเป็นนโยบายเรือธงของรัฐบาลใหม่ที่เข้าบริหารประเทศในเดือน มี.ค. หลังการปกครองของรัฐบาลเผด็จการทหารนานหลายทศวรรษ

เจ้าของรางวัลโนเบลสันติภาพมุ่งมั่นที่จะบรรลุการหยุดยิงกับกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ที่ต่อสู้กับกองทัพของประเทศมาเป็นเวลาหลายสิบปี

และเมื่อวันอาทิตย์ (17) ซูจี ได้จัดการเจรจาหารือกับแกนนำกลุ่มติดอาวุธในความพยายามที่จะสนับสนุนให้กลุ่มติดอาวุธที่ยังเหลืออยู่อีกไม่กี่กลุ่มร่วมลงนามข้อตกลงหยุดยิงก่อนการประชุมสันติภาพในปลายเดือน ส.ค.

ผู้เจรจาของฝ่ายติดอาวุธกล่าวเตือนว่า แม้การเจรจาหารือจะเป็นไปในเชิงบวก แต่อาจคืบหน้าเพียงเล็กน้อยเนื่องจากการต่อสู้ยังคงดำเนินอยู่ในบางพื้นที่

“ยังมีกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มต่อสู้กับกองทัพ ขณะที่การประชุมสันติภาพมีกำหนดจัดขึ้นในเดือน ส.ค. ซึ่งหมายความว่า เวลากำลังหมดลงเรื่อยๆ ก่อนที่จะบรรลุข้อตกลง” คู อู เร หัวหน้าคณะเจรจาทางการเมืองของกลุ่มติดอาวุธ กล่าวต่อผู้สื่อข่าวในนครย่างกุ้ง วันนี้ (18)

“แม้ประเทศของเราจะได้รับอิสรภาพ แต่พวกเรายังไม่เคยได้ลิ้มรสความเป็นอิสระนั้น ดังนั้น เราสามารถพูดได้ว่า เรายังคงดิ้นรนต่อสู้เพื่อให้ได้อิสรภาพครั้งที่ 2” คู อู เร กล่าว

พม่ามีร่องรอยบาดแผลจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์นับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 2491 ด้วยกลุ่มชนกลุ่มน้อยยังคงต่อสู้เพื่อการปกครองตนเองกับรัฐบาลกลางที่พวกเขาเชื่อว่าถูกเพิกเฉย และละเมิดสิทธิมาอย่างยาวนาน

ซูจี ได้ให้คำมั่นว่า จะยุติสิ่งตกทอดอันเจ็บปวดเหล่านั้น

แต่ความขัดแย้งยังคงเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ระหว่างกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์ และกองทัพที่ปฏิบัติการอยู่ไกลเกินกว่ารัฐบาลพลเรือนจะเข้าถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐกะฉิ่น ทางภาคเหนือ และรัฐชาน ทางภาคตะวันออก

ประชาชนราว 240,000 คนในทั่วประเทศ ต้องไร้ที่อยู่อาศัยเนื่องจากความไม่สงบ และความขัดแย้งของชุมชน

ทั้งกองทัพพม่า และกลุ่มติดอาวุธต่างมีประวัติยาวนานของการละเมิดสิทธิที่เชื่อมโยงต่อความขัดแย้งหลายสิบปี รวมทั้งการใช้แรงงานเด็ก และการค้ายาเสพติด

และความสามารถของซูจี ที่จะควบคุมทหารนั้นมีอยู่จำกัด

ภายใต้รัฐธรรมนูญยุครัฐบาลเผด็จการทหาร กระทรวงกลาโหม มหาดไทย และกิจการชายแดน อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพ ที่เปิดทางให้บรรดานายพลมีอำนาจเหนือความสำเร็จของกระบวนการสร้างสันติภาพ

กลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยมากกว่า 10 กลุ่ม ยังวางแผนที่จะจัดการหารือของตัวเองในช่วงปลายเดือนนี้ในรัฐกะฉิ่น โดยที่การพบหารือเมื่อวันอาทิตย์ (17) ถูกมองว่าเป็นขั้นตอนสำคัญที่มุ่งโน้มน้าวกลุ่มติดอาวุธที่เหลือให้ยอมรับกระบวนการสันติภาพของรัฐ.
กำลังโหลดความคิดเห็น