รอยเตอร์ - ผลผลิตข้าวของเวียดนามมีแนวโน้มที่จะลดลงในปีนี้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2548 หลังเกิดภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 90 ปี แต่การลดลงจะเกิดขึ้นอย่างจำกัด ด้วยเกษตรกรได้ขยายช่วงเวลาเพาะปลูกในฤดูปัจจุบัน และฤดูสุดท้ายของรอบปี ตามการระบุของเจ้าหน้าที่รัฐ
เจ้าหน้าที่จากกระทรวงเกษตรเวียดนาม ระบุว่า ผลผลิตข้าวในช่วงเพาะปลูกฤดูหนาว-ใบไม้ผลิ จากเขตที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง ลดลง 10.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่การผลิตรวมลดลงเพียง 1.5% อยู่ที่ 44.5 ล้านตัน
“โดยรวมแล้วผลผลิตข้าวต่อปีจะลดลงแค่ 700,000 ตัน” เจิ่น กง ดิ่ง กล่าวต่อรอยเตอร์นอกรอบการประชุมการเกษตรเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
ภัยแล้งรุนแรง และการรุกล้ำของน้ำเค็มที่เชื่อมโยงต่อปรากฏการณ์เอลนีโญในพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขงทางภาคใต้ของเวียดนาม ที่เป็นอู่ข้าวสำคัญของประเทศ ได้ทำลายผลผลิตทั้งผลไม้ ข้าว และน้ำตาล ในประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดีย และไทย
เวียดนาม ปลูกข้าว 3 ครั้งต่อปี และการปลูกข้าวในฤดูหนาว-ใบไม้ผลิ เป็นการเพาะปลูกครั้งใหญ่ที่สุด และข้าวที่ได้จากการปลูกในช่วงนี้จะนำไปส่งออกเป็นส่วนใหญ่
เวียดนาม ที่ผลิตข้าวได้ 45.21 ล้านตันเมื่อปีก่อน ส่งออกผลผลิตไปราว 30% ปลายทางส่วนใหญ่คือ จีน ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย และการผลิตข้าวที่ลดลงครั้งล่าสุดเกิดขึ้นในปี 2548 เนื่องจากภัยแล้งเช่นเดียวกัน
การรุกล้ำของน้ำเค็มทำให้เกษตรกรต้องชะลอการปลูกข้าวในฤดูร้อน-ใบไม้ร่วง และเจ้าหน้าที่ได้เตือนว่า การปลูกในรอบที่ 3 อาจถูกภัยคุกคามจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล
นักพยากรณ์อากาศได้เตือนถึงความเป็นไปได้ของปรากฏการณ์ลานีญา ที่อาจทำให้เกิดฝนตกหนักในช่วงครึ่งหลังของปี 2559
“การเพาะปลูกจะต้องมีขึ้นภายในระบบชลประทานเพื่อปกป้องพืชผลทางการเกษตร” เจ้าหน้าที่ กล่าว
ผู้ค้าข้าว กล่าวว่า การชะลอการปลูกข้าวหมายถึงการเก็บเกี่ยวที่จะแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ของเขตที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง ที่ประกอบด้วย 12 จังหวัด และนครเกิ่นเทอ
“การเก็บเกี่ยวจะไม่ทำยอดสูงสุดในเวลาเดียวกัน ดังนั้น ราคาจะไม่ตกลงมากนัก” ผู้ค้าข้าวจากบริษัทต่างชาติในนครโฮจิมินห์ กล่าว
เกณฑ์มาตรฐานข้าวผสมข้าวหัก 5% ของเวียดนามในสัปดาห์นี้อยู่ที่ 370-380 ดอลลาร์ต่อตัน จาก 375-380 ดอลลาร์ต่อตัน เมื่อสัปดาห์ก่อน และทำราคาสูงสุดในรอบ 5 เดือนที่ 390 ดอลลาร์ต่อตันเมื่อวันที่ 25 มี.ค.