รอยเตอร์ - รัฐบาลเวียดนามคาดการณ์ว่า จะสามารถส่งออกข้าวได้มากกว่า 3 ล้านตัน ในช่วงครึ่งแรกของปี 2559 เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อนหน้า เนื่องจากความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นจากจีน และชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ ท่ามกลางความวิตกเรื่องอุปทานที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง
การส่งออกข้าวในช่วง 3 เดือนที่สิ้นสุดในเดือน มิ.ย. คาดว่า จะมีปริมาณราว 1.6 ล้านตัน ที่รวมทั้งการขายให้แก่จีน ตามการรายงานของรัฐบาลที่เผยแพร่ลงบนเว็บไซต์โดยอ้างรายงานของสมาคมอาหารเวียดนาม (VFA)
เวียดนาม ประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดีย และไทย ได้ส่งออกข้าวไปแล้วทั้งสิ้น 1.55 ล้านตัน ในช่วงเดือน ม.ค. ถึงเดือน มี.ค. เพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ตามข้อมูลของศุลกากรเวียดนาม
เวียดนามต้องต่อสู้ต่อภัยแล้ง และการรุกล้ำของน้ำเค็มที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 90 ปี ในเขตที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง อันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และปรากฏการณ์เอลนีโญที่นำความร้อน และความแห้งแล้งมาสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สภาพความแห้งแล้งทำให้ชาติอื่นๆ ในภูมิภาคเพิ่มการนำเข้าข้าว เช่น เมื่อปลายปีก่อน เวียดนามขายข้าว 1 ล้านตัน ให้แก่อินโดนีเซีย และอีก 450,000 ตัน ให้แก่ฟิลิปปินส์ ที่จะจัดส่งภายในสิ้นไตรมาสแรกของปี 2559
ภัยพิบัติได้ชะลอการเติบโตของภาคเกษตรกรรมของเวียดนามในช่วงไตรมาสแรก ทำให้ผลผลิตข้าวในพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำลดลง ขณะเดียวกัน ราคาส่งออกข้าวของประเทศก็ปรับตัวสูงสุดในรอบ 5 เดือน ในช่วงปลายเดือน มี.ค.
“ราคาที่สูงขึ้นทำให้การส่งออกข้าวเสียความสามารถในการแข่งขัน และส่วนแบ่งตลาดในช่วงเวลาอันใกล้นี้” รายงานรัฐบาลระบุ
ผลผลิตข้าวของเวียดนามอาจลดลง 0.5% ในปีนี้ นับเป็นการตกลงครั้งแรกนับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553/2554 ที่ 28 ล้านตัน เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้ง และรัฐบาลวางแผนที่จะเปลี่ยนจากการปลูกข้าวไปเป็นการปลูกข้าวโพด นักวิจัยสินค้าทางการเกษตรจาก BMI ระบุ
เวียดนามอาจเดินตามรอยไทยในการปรับโครงสร้างการปลูกข้าวด้วยการลดพื้นที่เพาะปลูก และเปลี่ยนปลูกพืชอื่นๆ ที่ใช้น้ำน้อย เล แอ็ง ต่วน รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเกิ่นเทอ กล่าว
“นักวิทยาศาสตร์ และเจ้าหน้าที่ควรประเมินทิศทางสำหรับพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ และไม่ควรแข่งผลิตข้าว” ต่วน กล่าวต่อรอยเตอร์