MGRออนไลน์ - ข่าวกองทัพบกไทยเซ็นสัญญาซื้อรถถังรุ่นใหม่ล่าสุดของจีน อย่างเงียบเชียบ ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา กำลังได้รับความสนใจจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมกลาโหมทั่วโลก และเมื่อเว็บไซต์ข่าวอาวุธยุทโธปกรณ์ชั้นนำได้นำไปเผยแพร่ต่อ เรื่องก็จึงไม่ธรรมดา แต่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ติดตามมามากมาย รวมทั้งการตั้งข้อสงสัยในทำนองว่า.. ไทยยังไม่เข็ดอีกหรือ ทั้งๆ ที่เคยมีประสบการณ์เลวร้ายกับรถถังที่ผลิตในประเทศจีนมามากกว่าใครๆ ในโลกนี้
นั่นคือเรื่องราวเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ที่ไทยเคยซื้อ Type69 จากจีนราว 100 คัน แต่ไม่นานต่อมาก็ลงเอย จอดตายกันทั้งกองพัน ใช้งานไม่ได้ ส่วนหนึ่งถูกนำไป “ทิ้งทะเล” ทำปะการังเทียม และ แม้ว่ารถถัง VT-4 ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุดตามที่ตกเป็นข่าวขณะนี้ จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งในอีกยุคหนึ่ง ในลำดับขั้นการพัฒนาเทคโนโลยีกลาโหมของจีนก็ตาม แต่ก็ยังมีเสียงวิจารณ์มากมายเกี่ยวกับ “การไร้นวัตกรรม” ของยานเกราะขนาด 52 ตันรุ่นนี้
สำนักข่าวกลาโหมในประเทศเพื่อบ้าน รวมทั้งไกลออกไปถึงเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง และยุโรป ต่างให้ความสนใจข่าวที่นำเสนอโดย Thaiarmedforce..Com ซึ่งเป็นเว็บไซต์ข่าวสารแวดวงการป้องกันประเทศ ที่ให้ความรู้แก่ผู้อ่านมาเป็นเวลาหลายปี และได้รับความเชื่อถือมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งของไทย
TAF รายงานอ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าวเมื่อไม่กี่วันมานี้ ระบุว่า กองทัพบกเซ็นสัญญาซื้อ VT14 จากจีน เมื่อเดือนที่แล้ว โดยยังไม่ทราบจำนวนกับมูลค่า (เว็บข่าวกลาโหมประเทศเพื่อนบ้านระบุว่า ไทยซื้อล็อตแรกเพียง 28 คัน) แต่ถ้าหากการใช้งานเป็นที่พอใจ ก็อาจจะซื้อถึง 150 คัน ครบจำนวนจัดหา 200 คัน ที่เริ่มจากการซื้อ T-84 “โอปล็อต-M” (Oplot-M) จากยูเครน 49 คัน ในเดือน ก.ย.2554 ด้วยเงินงบประมาณ 7,200 ล้านบาท หรือ 240 ล้านดอลลาร์เศษๆ
คาดว่าฝ่ายจีนจะส่งมอบให้ได้ภายใน 2 ปี ซึ่งก็คือ ภายในปี 2560 และถึงแม้ว่ายานเกราะทั้งหมดจะผลิตในจีน แต่กลุ่มนอรินโค (NORINCO) ซึ่งเป็นบริษัทอุตสาหกรรมอาวุธของรัฐบาล ก็พร้อมจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ฝ่ายไทย เว็บไซต์แห่งเดียวกันกล่าว
.
.
กองทัพบกไทยกำลังมองหารถถังหลักรุ่นใหม่ เพื่อใช้แทน M-41 “เวอร์กเคอร์ บุลด็อก” (Walker Bulldog) ที่ใช้งานมาตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม และทยอยปลดประจำการในช่วงหลายปีมานี้ -- รถถังขนาดเบารุ่นนี้ออกปรากฏตัวต่อสาธารณชนครั้งล่าสุดในเหตุการณ์ยึดอำนาจเมื่อปี พ.ศ.2549
รถถังของยูเครน ได้รับเลือกในการพิจารณาจัดซื้อล็อตแรก ด้วยราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งจากยุโรป และรัสเซีย แต่มีคุณสมบัติทั้งเทียบเท่า ทั้งเหนือกว่าหลายประการ ซึ่งครั้งนั้นไทยได้พิจารณารถถังทั้งหมด 5 รุ่นในรอบสุดท้าย รวมทั้ง T-90A รุ่นเก่าจากรัสเซีย เลโอพาร์ด 2 (Leopard II/เล็พเพิร์ด 2) ของเยอรมนี และ K1A1 ที่ผลิตโดยบริษัทฮุนได โรเท็ม (Hundai Rotem) แห่งเกาหลี กับรถถังหลักจีนอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งในช่วงปีนั้น VT4 ยังมีเพียงรถต้นแบบ ออกแสดงในนิทรรศการอาวุธ
ยูเครนส่งมอบ Oplot-M ล็อตแรกให้ไทย 5 คัน เมื่อต้นปี 2557 อีก 5 คัน ตามมาในช่วงปลายปี สื่อตะวันตกรายงานว่า ตามข้อตกลงนั้นจะต้องส่งมอบให้ไทยถึง 20 คันเมื่อปีที่แล้ว แต่จนถึงสิ้นปีก็ไม่สามารถส่งให้ได้แม้แต่คันเดียว เนื่องจากปัญหาเชิงบริหารจัดการของโรงงาน และการผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ของยานเกราะ
.
2
เดือน ก.พ.ปีนี้ มีข่าวอีกชิ้นหนึ่งในประเทศไทย กล่าวคือ กองทัพบกได้รับการจัดสรรงบประมาณอีก 8,900 ล้านบาท สนับสนุนแผนการจัดหารถถังหลักอีกล็อตหนึ่ง เป็นงบประมาณผูกพันต่อเนื่องเป็นเวลา 3 ปี ข่าวนี้ได้ทำให้ทั้งอุตสาหกรรมหันมาจับตามองประเทศไทยอีกครั้ง ในฐานะตลาดรถถังใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในช่วงต้นปี คณะกรรมการชุดหนึ่งของไทยได้ออกตระเวนเยือนแหล่งผลิตรถถังที่อยู่ในสายตาอีก 2 รุ่น ซึ่งได้แก่โรงงานผลิต VT4 ของนอรินโค ในแคว้นมองโกเลียใน (Inner Mongolia) ของจีน โรงงานอูราลวากอนซาว็อด (Uralvagonzavod) ในแถบตอนกลางของรัสเซีย ที่เป็นแหล่งผลิต T-90MS และ T-14 “อาร์มาตา” (Armata) ซึ่งรุ่นหลังเป็นรถถังยุคที่ 4 เพิ่งจะเปิดสายการผลิตในปีนี้
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ทำให้เกิดกระแสข่าวเล่าลือว่า ไทยกำลังหันหลังให้ Oplot-M โดยสิ้นเชิง หลังจากเซ็นซื้อเพียง 49 คัน และยังรอการส่งมอบ หลายฝ่ายเชื่อว่า กองทัพบกไทยกำลังหมายตา T-90MS ซึ่งเป็นรถถังยุคที่ 3++ ที่มีระบบขับเคลื่อน ระบบควบคุม ระบบอาวุธ และ ระบบป้องกันตนเองก้าวหน้าทัดเทียมกับรถถังรุ่นใหม่ๆ ของโลกตะวันตก
สื่อในเวียดนามให้ความเห็นในช่วงเดียวกันว่า นี่เป็นโอกาสดีที่สุดสำหรับกองทัพไทยที่จะได้เป็นเจ้าของรถถังก้าวหน้าที่สุดอีกรุ่นหนึ่งในโลกปัจจุบัน โดยเชื่อว่า รัสเซียเองพร้อมจะขาย “รุ่นท็อป” ให้ ขณะเริ่มนำเข้าประจำการ T-14
T-90 ยังเป็นรถถังที่ผ่านการทดสอบจริงในสนามรบมาโชกโชนพอสมควร จากสงครามกลางเมืองในสาธารณรัฐอดีตสหภาพโซเวียตเมื่อก่อน จนถึงสงครามกลางเมืองซีเรียปัจจุบัน ซึ่งหลายประเทศกำลังให้ความสนใจในเทคโนโลยีใหม่ และนวัตรกรรมทั้งระบบอาวุธ และระบบป้องกันตัวเองที่สามารถรอดพ้นจากการยิงด้วยจรวด TOW-2 ให้เห็นจริง ในขณะที่ VT4 ยังไม่เคยผ่านการทดสอบในสถานการณ์สู้รบเช่นนี้
และถ้าหากข่าวของ Thaiarmedforce.Com เป็นความจริง การตัดสินใจซื้อ VT4 จากจีนของไทยก็นับเป็นการพลิกล็อกความคาดหมายของผู้คนมากที่สุดอีกครั้งหนึ่ง
ตามข้อมูลในเว็บไซต์ข่าวกลาโหม Military-today.Com และ Armyrecognition.Com VT4 เป็นเวอร์ชันส่งออกของรถถังหลัก MBT3000 ซึ่งมิใช่รถถังที่ผลิตซีรีส์ใหม่ หากเป็นรุ่นอัปเกรดต่อจาก VT1A และ MBT2000 สองสายการผลิตคู่ขนานในจีน
.
.
แต่ทั้งสองรุ่นในซีรีส์เดิม ล้วนมีที่มาจาก T-72 ของสหภาพโซเวียต และพอมาเป็น VT4 กลุ่มนอรินโคได้พัฒนาป้อมปืนขึ้นใหม่ ให้มีลักษณะเป็นรูปลิ่ม ซึ่งว่ากันว่าสะท้อนการตรวจจับด้วยเรดาร์ของฝ่ายข้าศึกได้ดีกว่า และยังสะท้อนการตกกระทบของหัวระเบิดชนิดต่างๆ ได้ดีกว่า
ทั้ง VT4 และ MBT3000 มีรูปลักษณะทั่วไปคล้ายกับ Type99G ซึ่งเป็นรุ่นที่พัฒนาสูงสุดของอีกสายการผลิตหนึ่ง และเป็นรถถังหลักอีกรุ่นหนึ่งของกองทัพประชาชนในปัจจุบัน ต่างกันเพียงป้อมปืน ที่ Type99G ออกแบบลอกเลียน ป้อมปืนของเลโอพาร์ด 2A2 รถถังเยอรมนี
ในด้านรูปลักษณ์ VT4 กับ MBT3000 จึงได้รับการยอมรับว่า “มีนวัตกรรม” ตรงข้ามกับระบบเครื่องยนต์ ระบบขับเคลื่อน ระบบควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ และระบบอาวุธที่เกือบจะไม่มีอะไรแปลกใหม่ ต่างจากรุ่นก่อนๆ
VT4 ติดปืนใหญ่แบบลำกล้องเกลี้ยง ขนาด 125 มม.มาตรฐานโซเวียต/รัสเซีย สามารถยิงกระสุนหัวรบเจาะเกราะได้หลายชนิด ไม่น้อยไปกว่า T-90 และ Oplot-M และยังติดเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบชาร์เจอร์ ขนาดใหญ่ถึง 1,500 แรงม้า เช่นเดียวกับ MBT3000 ที่ใช้ในกองทัพประชาชน เพียงแต่ระบบอาวุธกับระบบเซ็นเซอร์ จะด้อยกว่าสำหรับรุ่นส่งออก
ปืนใหญ่ 125 มม. ของ VT4 สามารถใช้ปล่อยจรวดนำวิถียิงรถถัง แบบ 9K119 “รีเฟล็กส์/Refleks” (หรือ AT-11 “สไนเปอร์/ Sniper”) ของรัสเซียได้ เช่นเดียวกันกับ MBT2000 รุ่นก่อน -- จีนผลิตจรวดรุ่นนี้เองในประเทศ ภายใต้สิทธิบัตร
ว่ากันให้ถึงที่สุด MBT3000 กับ VT4 แทบไม่ได้มีอะไรแตกต่างไปจาก Type99G นอกจากป้อมปืนที่กล่าวมาแล้ว และถึงแม้ NORINCO จะอ้างว่าเครื่องดีเซล 1,500 แรงม้า ที่ใช้เป็นขุมพลังของรถถังทั้ง 2 รุ่นนั้น จีนผลิตเองก็ตาม แต่ก็ทราบกันดีในอุตสาหกรรมว่า เป็นเครื่องยนต์ที่ออกแบบจากเยอรมนี จีนซื้อไปติด MBT2000 เมื่อก่อน ไม่ต่างกับระบบควบคุมดิจิตอลภายในห้องโดยสารที่มีต้นแบบจากกลุ่ม ASELSAN ผู้ผลิตอาวุธรายใหญ่ในตุรกี
ทั้งนี้ทั้งนั้น รถถังทั้ง 3 รุ่นที่อยู่ในความสนใจของฝ่ายไทย ไม่ว่าจะเป็น T-90 โอปล็อต-M หรือ VT4 ล้วนมีสมรรถนะเท่าเทียมกัน หรือเชือดเฉือนกันอย่างเด็ดขาดในบางเรื่อง ยกเว้นการพัฒนาทางเทคโนโลยี กับนวัตกรรมด้านกลาโหมที่ฝ่ายจีนเป็นรองอยู่หลายยุค
.
3
ในสายตาของนักวิจารณ์ มีเพียงหนึ่งกรณีที่ทำให้รถถังจีนมีความโดดเด่นขึ้นทัดเทียมกับรถถังรัสเซีย และยูเครน ก็คือ จีนได้พัฒนาระบบสเตบิไลเซอร์ (Stabilization) ขึ้นมาเอง เพื่อใช้ใน VT4/MBT3000 ช่วยให้ระบบการเล็งของปืนใหญ่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยม มีความแม่นยำสูง ยิงเป้าหมายได้ในทุกสถานะ ใช้คนเพียง 3 คนควบคุม และระบบป้อนกระสุ่นอัตโนมัติ เช่นเดียวกับ T-90 รุ่นหลังๆ และ ใน T84 Oplot-M
ถ้าหากรายงานจากแหล่งข่าวของ Thaiarmedforce.Com เป็นความจริง ก็ย่อมแสดงให้เห็นว่า ไทยได้ให้ “ราคา” เป็นความสำคัญอันดับแรก โดยยอมแลกกับเทคโนโลยียานเกราะ ของรัสเซียและยูเครน ที่มีพัฒนาการมายาวนานกว่า และก้าวหน้ากว่าจีนอยู่หลายขุม
อีกหลายคนมองว่า การเลือกซื้อรถถังจีนยังเป็นอีกครั้งหนึ่งที่รัฐบาลจากการรัฐประหารของไทย หันหลังให้สหรัฐฯ กับโลกตะวันตกที่เริ่มเริ่มวิพากษ์วิจารณ์กิจการในของไทยหนาหูขึ้น ซึ่งเป็นการเลือกด้วยเหตุผลทางการทูต กับการเมืองระหว่างประเทศ
แต่การเลือกรถถัง VT4 ได้ทำให้นักวิจารณ์บางคนหยิบยกกรณีในทศวรรษที่ 1990 ขึ้นมาทบทวนอีกครั้ง ซึ่งหมายถึงขวบปีไทยซื้อรถถัง Type69 จากจีนราว 100 คัน ซึ่งก็คือ รถถังที่จีนก๊อบปี้ทั้งดุ้นจาก T-55 ของโซเวียต โดยขายให้ไทยในราคาถูกมาก และนั่นคือช่วงปีที่กองทัพไทยกำลังเผชิญหน้าต่อทหารเวียดนามนับแสนคน พร้อมยานเกราะอีกจำนวนมากในกัมพูชา
นั่นคือช่วงปีที่จีนเป็นกำลังหลักร่วมกับไทย และอาเซียน สนับสนุนรัฐบาลผสมสามฝ่ายกัมพูชาประชาธิปไตย (Tripartite Coalition Government of Democratic Kampuchea) ภายใต้การนำของเจ้านโรดมสีหนุเมื่อก่อน ถึงแม้ว่ารัฐบาลดังกล่าวจะมีเขมรแดงกลุ่มโปลโป้ท-เอียงสารี และเคียวสมพร เป็นแกนนำ และมีกองทัพเขมรแดงที่ล่าถอยจากกรุงเปญ หลังถูกเวียดนามบุกยึดในต้นปี 2522 เป็นกำลังหลักก็ตาม
นั่นคือช่วงปีแห่งสงครามเย็น ที่จีนเป็นไม้เบื่อไม้เมากับคอมมิวนิสต์อีกค่ายหนึ่ง คือ สหภาพโซเวียต กับเวียดนามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่จีนให้การช่วยเหลือ พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา (เขมรแดง) พรรคคอมมิวนิสต์ฟิลิปปินส์ ขบวนโจรจีนมลายู กับพรรคคอมมิวนิสต์พม่า และ โซเวียต-เวียดนาม สนับสนุนคอมมิวนิสต์ปะเทดลาว กับ กลุ่มผู้นำ ที่เวียดนามตั้งขึ้นใหม่ในกรุงพนมเปญ ซึ่งก็คือรัฐบาลฮุนเซน-เจียซิม-เฮงสัมริน ที่อยู่ในอำนาจมาจน ทุกวันนี้
ไทยรีบเร่งจัดซื้อรถถัง Type69 จากจีนเมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงล้วนๆ และมีเพียงจีนรายเดียวที่มีความพร้อม ทั้งเต็มใจขายให้แก่ไทยในราคาถูก 5%-10% ต่ำกว่าราคาในท้องตลาด
อย่างไรก็ตาม เพียงไม่นานต่อมา ไทยก็ได้ประจักษ์ว่า รถถัง Type69 เมดอินไชน่านั้น “ไม่ถูกจริง” ทางด้านราคา เพราะว่าเกือบทั้งหมดจอดตายอยู่ในกองพัน และกรมสังกัด ด้วยปัญหาทั้งเครื่องยนต์ ชิ้นส่วนที่เสื่อมคุณภาพเร็วมาก ถึงแม้ว่าต่อมาฝ่ายจีนจะยอมปรับปรุงรถถังจำนวนหนึ่งให้แก่ไทยโดยไม่คิดมูลค่าก็ตาม
นี่คือข้อแตกต่างที่เห็นได้อย่างชัดเชน ระหว่างกับฝีมือการผลิต Type69 “รถถังก๊อบ” ของจีน กับ T-55 ต้นฉบับของสหภาพโซเวียต ที่เป็นรถถังใช้แพร่หลายมากที่สุดอีกรุ่นหนึ่ง ปัจจุบันยังคงมีประจำการในกองทัพหลายประเทศ รวมทั้งประมาณ 50 คัน ของกองทัพกัมพูชาด้วย
.
ภาพต่อไปนี้เป็นรถถัง T-90A กองทัพรัฐบาลซีเรีย ขณะปฏิบัติการต่อสู้กับกองโจร ISIS ในเขตเมืองฮอมส์ (Homs) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ภาพทั้งหมดนี้เผยแพร่ในทวิตเตอร์ ย่านตะวันออกกลาง โดยระบุว่า ถ่ายในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนกล่าวว่า นี่คือ “เจ้าแห่งสนามรบ” ตัวจริง ที่เพรียบพร้อมด้วยเทคโนโลยียานเกราะยุคใหม่ แต่กองทัพบกไทยกลับไม่ลือก และหลายคนไม่เชื่อว่า ข่าวการเซ็นซื้อ VT4 จากจีน จะเป็นเรื่องจริง จนกว่าจะมีการยืนยันอย่างเป็นทางการ. |
4
5
6
7
ชะตากรรมของรถถังจีนในประเทศไทยในยุคนั้นก็คือ 25 คัน ถูกนำไปทำปะการังเทียม เป็นที่อาศัยของปลากับสัตว์น้ำอื่นๆ ในอ่าวไทย จำนวนที่เหลือเก็บในพิพิธภัณฑ์ หรือเก็บไว้ใช้เป็นเป้าสำหรับการฝึกซ้อมยิง ฯลฯ
หรือ VT4 จะมีชะตากรรมเดียวกัน? นี่คือคำถามที่ผู้เชี่ยวชาญข่าวกลาโหมตั้งขึ้นมา ตามกระแสข่าวล่าสุด และไม่เพียงแต่บรรดาประเทศรอบข้างเท่านั้น ผู้อ่านเว็บไซต์ข่าวแวดวงเดียวกัน ในย่านเอเชียใต้ -- อินเดีย และปากีสถาน ไปจนถึงตะวันออกลาง ต่างตั้งคำถามคล้ายกันนี้
หากข่าวการซื้อรถถังจีนครั้งนี้ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ กองทัพบกไทยก็จะเป็นลูกค้าต่างประเทศรายแรกของ VT4 ไม่ต่างกับที่เป็นลูกค้ารายแรกของ Oplot-M ซึ่งไม่เพียงแต่ยูเครน จะส่งมอบให้ล่าช้า เมื่อเร็วๆ นี้ยังตกเป็นข่าวอีกด้วยว่า กองทัพบกไทยกำลังเจอปัญหาแบตเตอรี่ที่เสื่อมสภาพเร็วมาก และโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับโอปล็อต-M ที่อยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศ ได้รับความเสียหายจากการโจมตีของกลุ่มกบฏแยกดินแดน ที่มีรัสเซียหนุนหลัง
เมื่อปีที่แล้ว จีนเสนอขาย VT4 ให้แก่กองทัพบกประเทศเปรู ลูกค้าเก่าแก่ในอเมริกาใต้ โดยยังไม่ทราบจำนวน และราคาเช่นเดียวกัน
ปีที่แล้วเช่นกัน กองทัพบกปากีสถาน ได้ทำการทดสอบทั้ง Oplot-M และ VT4 ในทะเลทราย ในแผนการจัดหาเช่นเดียวกันกับกองทัพบกไทย ปรากฏว่า ทั้งสองรุ่นเกิดเครื่องยนต์ “โอเวอร์ฮีต” เช่นกัน แต่มีแนวโน้มที่ปากีสถานจะเลือกรถถังจีน โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องเปิดสายการผลิตในประเทศ เช่นเดียวกันกับอาวุธยุทโธปกรณ์อีกหลายรายการที่ซื้อจากจีนก่อนหน้านี้
ตามข้อมูลในเว็บข่าวกลาโหม ทั้ง T-90 และ Oplot-M มีราคาไล่เรี่ยกัน แต่ VT4 ราคาถูกกว่า บางแห่งระบุว่า รถถังทันสมัยที่สุดของจีน ราคาต่ำกว่าของโลกตะวันตกราว 3 ล้านดอลลาร์ โดยไม่ได้ให้รายละเอียดใดๆ เกี่ยวกับ “ออปชัน” ที่ให้ ตลอดจนเงื่อนการสนับสนุนอะไหล่ ชิ้นส่วนต่างๆ ระบบอาวุธ และกระสุน รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้วย
ปากีสถาน พิจารณาเลือก VT4 ด้วยเหตุผลคนละอย่างกับไทย กล่าวคือ ไม่ได้ยึดเอาราคาถูกกว่าเป็นตัวตั้ง แต่อุตสาหกรรมกลาโหมของประเทศอิสลามแห่งนี้มีความสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมของจีนอย่างแนบแน่น มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 สองฝ่ายมีโครงการพัฒนา และผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ร่วมกันหลายโครงการ ซึ่งรวมทั้งเรือรบ เครื่องบินฝึก เครื่องบินขับไล่ และรถถัง “อัล-ซาลิด” (Al-Khalid) ที่พัฒนาจาก MBT2000 ด้วย
อาวุธจีนเป็นทางเลือกที่ราคาถูกว่าสำหรับปากีสถาน แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อทำด้วยมือของตัวเอง ก็มีความเชื่อมั่นในเรื่องประสิทธิภาพที่จะรับมืออาวุธชนิดเดียวกัน ที่อินเดียซึ่งเป็นคู่อริตลอดกาล ซื้อจากโซเวียตเมื่อก่อน และจากรัสเซียในปัจจุบัน รวมทั้งรถถัง T-90MS ด้วย.