T-90S (C) สร้างความประทับใจให้ผู้ชมมากมายในงาน RAE 2015 เดือน ก.ย.ที่แล้ว เป็นปีแรกที่รถถังหลักรุ่นใหม่ได้ออกงาน ปัจจุบันรัสเซียกำลังทำตลาดทั้ง T-90 และ T-72BU ซึ่งเป็นรุ่นพัฒนาสูงสุดของซีรีส์ สื่อเวียดนามเชื่อว่าขณะนี้รัสเซียพร้อมจะมอบ T-90MS รุ่นที่ก้าวหน้ามากที่สุด และ ประจำการในกองทัพบกรัสเซียเอง ให้แก่ไทยเพื่อเอาชนะรถถังยูเครนในตลาดใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้. |
MGRออนไลน์ -- ข่าวยูเครนส่งมอบรถถังให้ล่าช้า จนทำให้ไทยหันไปหาทางเลือกอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง T-90 ของรัสเซีย เป็นข่าวขจรกระจายในเวิลด์ไวด์เว็บ ในช่วงหลังเทศกาลปีใหม่นี้ เว็บไซต์ข่าวกลาโหมที่มีชื่อเสียงหลายสำนักระบุว่าเป็นเรื่องที่ "ต้องจับตา" เพราะไม่เพียงแต่เป็นการผิดสัญญาในอุตสาหกลาโหมเท่านั้น หากยังหมายถึงการช่วงชิงตลาดรถถังที่สำคัญในภูมิภาคนี้ด้วย เนื่องจากเป็นที่ทราบกันทั่วไปว่า กองทัพไทยต้องการรถถังรุ่นใหม่ถึง 200 คัน ในแผนการจัดหาต่อเนื่องตลอดหลายปีข้างหน้า
ยังไม่มีการแถลงใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้จากฝ่ายไทย มีเพียงรายงานผ่านสื่อรัสเซียในสัปดาห์ปลายปีที่แล้ว พร้อมกับภาพถ่ายขณะคณะผู้แทนจากไทยจำนวนหนึ่ง ไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตรถถังทางตอนกลางของประเทศ
สำหรับเวียดนามซึ่งเป็นประเทศที่รู้จักระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ของโซเวียต/รัสเซียดีที่สุดอีกประเทศหนึ่งในย่านนี้ มองไปไกลยิ่งกว่าสิ่งที่ปรากฎในข่าว สื่อทางการเวียดนามกล่าวว่า T-90 ของรัสเซียได้กลายเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับกองทัพบกไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง T-90MS รุ่นใหม่ ที่ก้าวหน้ากว่า T-90A เมื่อปี 2554 ที่ถูก T-84 "โอปล็อต-M" ยูเครนเบียดตกไป ในการพิจารณาคัดเลือก
"ความเหนื่อยหน่ายของไทย ที่รอคอย T-84 โอปล็อต ช่วยเพิ่มโอกาสให้แก่รถถังหลักรัสเซีย T-90 ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้" บ๋าวเดิ๊ตเหวียด ซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ภาษาเวียดนามยอดนิยม ให้ความเห็นในวันพฤหัสบดี 7 ม.ค.ที่ผ่านมา
ตามรายงานในเว็บไซต์ "เวียดนามดีเฟ้นซ์" เมื่อปี 2554 รัสเซียสูญโอกาสที่จะได้เซ็นสัญญามูลค่า 240 ล้านดอลลาร์ ในการจัดหา รถถังหลักของกองทัพบกไทย สำหรับทหารม้ายานเกราะจำนวน 2 กรม โดยมีรถถังชั้นเยี่ยมของโลก เข้าสู่การพิจารณารอบสุดท้ายจำนวน 5 ราย รวมทั้ง T-90A เลโอพาร์ด 2 (เลพเพิร์ด 2) เยอรมนี T-84 Oplot-M ยูเครน และ K1A1 โดยบริษัทฮุนไดโรเท็ม (Hundai Rotem) จากเกาหลี ซึ่งไทยเลือกรถถังยูเครน
.
.
ในความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเวียดนาม T-84 โอปล็อต-M ชนะการประกวดราคาครั้งนั้น นับเป็น "ชัยชนะด้วยตนเอง" เพราะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าเลโอพาร์ด-2 กับ K1A1 ในด้านราคาและคุณภาพ และ เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับ T-90S (รหัสเรียกรุ่นส่งออก) ในยุคโน้น ทั้งในด้านราคาและคุณภาพเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ผ่านไป 4 ปีหลังการพ่ายแพ้ รัสเซียสบโอกาสดีที่สุดที่จะกลับคืนสู่ประเทศไทย ด้วยการเสนอ T-90MS รุ่นที่พัฒนาก้าวหน้าที่สุด ซึ่งประจำการในกองทัพรัสเซียเองกว่า 300 คันในปัจจุบัน รัสเซียพร้อมจะขายสิ่งที่ดีที่สุดนี้ให้แก่ประเทศไทย ในขณะที่เตรียมนำเข้าประจำการ T-14 อาร์มาตา (Armata) รถถังรุ่นใหม่ยุคที่ 4 ในปีหรือสองปีข้างหน้า
สื่อของทางการเวียดนามติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่สื่อในรัสเซียรายงานเมื่อเดือนที่แล้วว่า กองทัพไทยส่งคณะกรรมการชุดหนึ่ง เดินทางไปเยี่ยมชม T-90 และ T-14 ถึงโรงงานอูราลวากอนซาวอด (Uralvagonzavod) ทางตอนกลางของประเทศ เพื่อมองหาตัวเลือกใหม่ หลังจากยูเครนส่งมอบโอปล็อตล่าช้าอย่างน่าใจหาย
อาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าทางการรัสเซีย จะอนุญาตให้ส่งออก T-14 ได้ เพราะฉะนั้นทางเลือกสำหรับกองทัพไทยในขณะนี้ก็คือ รุ่นที่ก้าวหน้าที่สุด หรือ "รุ่นท็อป" ของรถถังหลัก T-90
ในสัปดาห์ปลายปี 2558 สื่อในเวียดนามได้รายงานปัจจัยอันเป็นสาเหตุหลัก ที่ทำให้ไทยครุ่นกังวล เนื่องจากการส่งมอบรถถัง Oplot-M ไม่เป็นไปตามสัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่งปีที่ผ่านมา ไม่สามารถส่งให้แม้แต่คันเดียว โดยอ้างปัญหาหลายประการ ทั้งการบริหารของโรงงาน การลงุทน การผลิตชิ้นส่วนและอะไหล่ ทั้งๆ ที่การส่งมอบรถถังจำนวน 49 คัน กับ "รถพี่เลี้ยง" กู้ภัยช่วยเหลือ แบบ Brem-84 "แอทเล็ท" (Atlet) อีก 2 คัน ควรจะเสร็จสิ้นตั้งแต่ปี 2557
.
1
แต่จนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2558 ไทยได้รับมอบ Oplot จากยูเครนเพียง 10 คันเท่านั้น ซึ่งทำให้กองทัพไทยจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อพิจารณาเรื่องนี้ และ สร้างโอกาสที่ดีให้แก่สุดยอดรถถังของรัสเซีย
ต่างไปจาก T-90 รุ่นแรกที่มีจุดอ่อนสำคัญ T-90MS ได้แก้ไขโดยแยกส่วนคลังแสงเก็บลูกกระสุนปืนใหญ่กับจรวด ออกจากห้องพลขับ/ห้องอำนวยการ โดยมีผนังเหล็กกล้าเคลือบไทเทเนียมหนา 4-5 มิลลิเมตรกั้น ทำให้คนมีโอกาสรอดมากขึ้น ในกรณีฉุกเฉินต่างๆ ซึ่งต่างไปจากทั้ง T-72 และ T-80 เมื่อก่อน อันเป็นบรรพบุรุษของ T-90
รัสเซียยังจัดวางระบบการจัดเก็บกระสุน และ ระบบการส่งกระสุนอุตโนมัติใน T-90MS ใหม่ทั้งหมด ไม่มีส่วนใดสัมผัสกับคนโดยตรง และ ในกรณีที่ถูกยิงเสียหายหรือในเหตุฉุกละหุกใดๆ ก็ตาม หากเกิดการระเบิดขึ้นภายใน แรงระเบิดจะพุ่งออกส่วนบนผ่านทางป้อมปืน ทั้งนี้เพื่อลดการบาดเจ็บหรือสูญเสียบุคคลากรที่อยู่ส่วนหน้าของรถ
โดยไม่ต้องกล่าวถึงขุมพลังอันมหาศาลจากเครื่องยนต์รุ่นใหม่ กับ โครงสร้างที่แกร็งแกร่งทนทานแน่นหนา แล่นห้อราวกับม้าป่า และ ระบบปืนใหญ่เสถียรอันเป็นเลิศ ทำให้ T-90MS สามารถยิงเป้าหมายได้อย่างแม่นย่ำในทุกพื้นที่ ทุกสถานการณ์ แม้ในขณะแล่นด้วยความเร็วสูงมาก หรือ แล่นผ่านพื้นผิวขรุขระทุรกันดารที่สุด จนต้อง "กระโดดไปยิงไป" ก็ตาม
T-90MS สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมนับพันคน ในการแสดงอำนาจการยิงด้วยกระสุนจริง ระหว่างงานนิทรรศการอาวุธรัสเซีย (Russia Arms Expo 2015) ที่เมืองนิซนีตากิล (Nizhny Tagil) ทางตอนกลางของประเทศสัปดาห์ต้นเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว
.
.
ในครั้งนั้น วิดีโอคลิปอีกชิ้นหนึ่งยังเปิดเผยให้เห็น นายทหารในเครื่องแบบกองทัพไทยจำนวน 3 นายกับเจ้าหน้าที่อีก 1 คน ได้เดินทางไปเยี่ยมชมด้วย
เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ T-90MS มีแต่ไม่เคยมีใน T-90 รุ่นแรกก็คือ ระบบป้องตนเองกันอันล้ำเลิศ ผสมผสานการทำงานในด่านแรก ระหว่างระบบตรวจจับอิเล็กทรอนิกส์แบบชตอร่า-1 (Shtora-1) ที่ส่งคลื่นอีเล็กทรอนิกส์ออกรบกวนการนำวิถีของ จรวดยิงรถถังข้าศึกที่กำลังพุ่งเข้าหา ทำให้หลงทิศหลงทางไป และ ถ้าหากด่านแรกไม่สำเร็จ ไม่ว่ากรณีใดก็ตาม เรดาร์ของระบบป้องกันเชิงรุก (Active Protection System) จะตรวจจับในระยะประชิด และ ส่งหัวรบออกทำลาย จรวด/เครื่องยิงระเบิด ที่พุ่งเข้าทำลาย ก่อนจะถึงตัว
รถถังรุ่นล่าสุดของรัสเซีย ยังติดตั้ง ระบบ "เกราะระเบิด" ที่เป็นส่วนหนึ่งของ ระบบป้องกันที่เรียกว่า "คอนแท็คต์-5 สูท" (Kontakt-5 Suit) ที่อยู่ชั้นในที่จะระเบิด เมื่อหัวรบที่ยิงเข้าใส่ เข้าถึงตัว ไม่ว่ากรณีใดๆ ก็ตาม ทั้งนี้เพื่อทำลายหัวรบฝ่ายข้าศึก แบบเดียวกับระบบเกราะระเบิด ERA (Explosive Reactive Armor) ที่ใช้แพร่หลายในทั่วโลก
ระบบป้องกันแบบ "แอ็คทีฟ" ที่ทำให้ T-90MS รถถังยุคที่ 3+ ทะยานขึ้นเทียบชั้น รถถังหลักยุคที่ 4 อันเป็นรุ่นท็อปของโลกตะวันตก ไม่ว่าจะเป็น M1A2 "เอบรามส์" หรือ เลโอพาร์ด 2 A4/5/6 รถถังเลอแคลร์ฝรั่งเศส แชลเลนเจอร์ของอังกฤษ ฯลฯ
ระบบอาวุธของ T-90MS มีทุกสิ่งทุกอย่างที่มีใน T-84 "โอปล็อต" และ ดูจะมากกว่า ประสิทธิภาพสูงกว่าด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นปืนใหญ่ 2A46M 125 มม. ลำกล้องเกลี้ยง ปืนกล 12.7 และ 7.62 มม. จรวดยิงรถถัง 9M119 "รีเฟล็คส์" (Refleks) ที่ยิงออกทางปืนใหญ่ กระสุนแบบใช้พลังงานความร้อนสูง (HEAT) เจาะเกราะ กระสุน APFSDS (Armour-piercing fin-stabilized discarding-sabot) หรือ "กระสุนซาโบ" ที่เจาะผ่านระบบป้องกันได้เกือบทุกชนิด
ตามรายงานของสื่อทางการรัสเซีย T-90MS ของกองทัพบก ยังติดตั้งอุปกรณ์สื่อสารผ่านดาวเทียมเทคโนโลยีสูง เพื่อเชื่อมต่อระบบควบคุมรถถัง รวมทั้งระบบอาวุธ เข้ากับข่าย GLONASS-M หรือ ระบบจีพีเอส ของรัสเซียที่พัฒนาใช้ทางการทหาร รัสเซียใช้ระบบนี้ควบคุมปฏิบัติการโจมตีกลุ่ม ISIS ในซีเรียช่วงที่ผ่านมา ทั้งการยิงจรวดร่อนจากเรือรบในทะเลแคสเปียน การยิงจากเครื่องบินทิ้งระเบิดยุทธศาสตร์ และ ยิงจากเรือดำน้ำ
.
2
"เชื่อกันว่าปัจจุบัน รัสเซียพร้อมที่มอบสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับกองทัพไทย เพื่อจะได้กลับมาครองตลาดในย่านนี้อีกครั้งหนึ่ง ..เป็นโอกาสดีที่สุดของทั้งสองฝ่าย ที่จะได้พบกันครึ่งทาง" เดิ๊ตเหวียดออนไลน์กล่าว
ขณะเดียวกัน เว็บไซต์เวียดนามดีเฟ้นซ์รายงานอ้างแหล่งข่าวกลาโหมว่า คณะกรรมการของกองทัพไทย กำลังพิจารณาระหว่าง T-90MS กับ VT-4 หรือ MBT-3000 ที่ผลิตในจีน ซึ่งรถถังหลักของจีนก็สร้างขึ้นมาใหม่บนแชสซีของ T-72 ในยุคสหภาพโซเวียตเช่นเดียวกัน และ ใช้ปืนใหญ่ขนาด 125 มม.เช่นเดียวกันกับ T-90 และ T-84 โอปล็อต-M
เป็นที่ทราบกันทั่วไปในอุตสาหกรรมว่า รถถังรัสเซีย ยูเครน ทั้งสองรุ่นมีราคาเท่าๆ กัน หรือ ไม่ต่างกันมากหากรวม "อ็อพชั่น" ต่างๆ เข้าไปด้วย รถถังจีนอาจจะได้เปรียบในด้านราคา กับความสามารถทางการทูต ซึ่งถ้าหากเป็นเช่นนั้นไทยเอง ก็จะต้องแลกด้วยขีดความสามารถที่เหนือกว่า และ เทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากกว่า ของรถถังรัสเซียและยูเครน
ในช่วงปี 2535-2556 รัสเซียส่งออกรถถังรุ่นต่างๆ ทั้งสิ้น 1,297 คัน ส่วนจีนขายได้เพียง 461 คัน รวมทั้ง "แบบ 69" (Type 69) ราว 100 คันที่ขายให้กองทัพบกไทยเมื่อปี 2533 ซึ่งในนั้น 25 คันที่เสื่อมสภาพถูกนำไปทำปะการังเทียมในเดือน ก.ค.2553
อย่างไรก็ตามในท่ามกลางการแข่งขัน และ การช่วงชิงที่เห็นอยู่ต่อหน้า ทั้งจากรัสเซียและจีน รัฐวิสาหกิจส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ยูโครโบรอนพรอม (Ukroboronprom) แห่งยูเครนประกาศปลายปีที่แล้วว่า ตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นไป โรงงานมาลีเชฟ (Malyshev) ที่เมืองคาร์คอฟ (Kharkov) จะผลิต T-84 โอปล็อต-M/T ให้ได้ปีละ 120 คัน และ จะส่งมอบให้ไทยกว่า 10 คันในปีนี้.
3