MGRออนไลน์ -- วงการอุตสาหกรรมกลาโหมของยูเครนเรียงหน้ากันออกมา ตอบโต้กระแสข่าวไทยส่งทีมเจรจา และ กำลังพิจารณาซื้อรถถังหลัก T-90 ทันสมัยรุ่นใหม่ล่าสุดจากรัสเซีย หลังจากการส่งมอบ T-84 "โอปล็อต-M" ล่าช้า และ ขาดช่วงไปในปีนี้่ สื่อของทางการอ้างคนในวงการที่ระบุว่า สัญญาซื้อขาย Oplot-M ระหว่างสองฝ่าย ไม่สามารถจะยกเลิกได้ และ ได้มีการลงทุนสายการผลิตไปแล้ว
เจ้าหน้าที่กลาโหมยูเครนบอกกับสื่อในวันศุกร์ 25 ธ.ค. ว่า "ข่าวแบบนี้ น่าจะออกไปจากพวกติดสินบนมากกว่า เรื่องแบบนี้มีมานานในอุตสาหกรรมนี้" ในขณะที่มีการแข่งขันกันสูงขึ้น และ ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น แต่สัญญาระหว่างยูเครนกับกองทัพยกไทยนั้น มีการดำเนินการแล้วและมีการ ลุงทุนสนับสนุนโครงการไปแล้ว ไม่สามารถจะยกเลิกได้
เจ้าหน้าที่อีกคนหนึ่งกล่าวว่า การผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์เกิดความล่าช้าได้เสมอๆ เป็นเรื่องปรกติทั่วไป ซึ่งผู้ผลิตจะต้องรักษาคุณภาพของสินค้า ควบคุมราคาต้นทุน ทั้งยังมีตัวแปรอื่นๆ อีกมากมาย ที่เป็นอุปสรรคสำคัญ จะเห็นได้จากบริษัทผลิตอาวุธใหญ่ระดับโลกทั้งหลาย ต่างก็มีประสบการณ์ส่งมอบล่าช้า หรือ ผลิตช้าเช่นเดียวกัน
เจ้าหน้าที่ยูเครนออกให้สัมภาษณ์เรื่องนี้หลังจาก ในช่วงต้นสัปดาห์มีรายงานในเว็บไซต์ข่าวกลาโหมหลายสำนักว่า กองทัพบกไทยได้ตั้งคณะกรรมการพิเศษขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อพิจารณาปัญหาการส่งมอบรถถังโอปล็อต-M ที่ล่าช้า และ คณะกรรมการชุดดังกล่าวเริ่มพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะหันไปหา T-90 เพราะคุณภาพไม่แพ้กันและ ราคาไม่ต่างกันมาก
ยิ่งไปกว่านั้นปลายสัปดาห์ที่แล้ว สื่อในรัสเซียได้นำภาพคณะกรรมการชุดหนึ่งที่ระบุว่าไปจากไทยออกเผยแพร่ เป็นภาพขณะเยี่ยมชมโรงงานอูราลวากอนซาว็อด (Uralvagonzavod) ซึ่งเป็นแหล่งผลิต T-14 และ มีการพบเจรจากับฝ่ายบริหารของโรงงาน แต่เนื่องจากจะต้องใช้เวลาอีกหลายปี กว่าจะส่งออก "อาร์มาตา" (Armata) "รถถังสะท้านโลก" ได้ คณะกรรมการของไทย จึงพิจารณาความเป็นไปได้ ที่จะจัดหา T-90 แทน
ปัจจุบันกองทัพบกไทยเป็นลูกค้าเฮลิคอปเตอร์ Mi-17 และ ยังมีแผนการจัดหาเพิ่มเติม นอกจากนั้นกองทัพอากาศไทยยังเป็นลูกค้าเครื่องบินซูคอย "ซูเปอร์เจ็ท-100" ของรัสเซียอีก 2 ลำ ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซีย ในยุคใหม่ยังได้รับการพัฒนาขึ้นมาอีกขั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนับตั้งแต่ นายกรัฐมนตรีรัสเซีย นายดมิตรี เมดเวเดฟ (Dmitri Medvedev) เดินทางเยือนไทยในปีนี้ ในขณะที่สัมพันธ์ไทย-สหรัฐเริ่มมีความบาดหมาง อย่างน้อยที่สุดก็ในทางการทูต
ตามรายงานของสื่อรัสเซีย ระหว่างเยือนโรงงานในเขตอูราลนั้น คณะกรรมการจากประเทศไทย ได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับรถถัง T-14 และ T-90 ซึ่งรุ่นหลัง เป็นรถถังหลัก "ยุคที่สาม" ที่ได้รับการพัฒนาจนถึงขั้นสุดยอดในปัจจุบัน
รากเหง้าของ T-90 เป็นการผสมผสานข้อเด่นของ T-80U กับ T-72B บนแช็สซี T-72 ซึ่งต่างก็เป็น "รุ่นท็อป" ของทั้งสองซีรีย์ อันเป็นผลงานต่อเนื่องมาจากยุคสหภาพโซเวียต เริ่มแรกที่เดียวจะใช้ชื่อเป็น T-72BU แต่แล้วก็เปลี่ยนมาเป็น T-90 "วลาดิมีร์" (Vladimir) ทั้งนี้ ก็เนื่องจากผลิตออกมา และ นำเข้าประจำการกองทัพบกรัสเซีย ในสมัยประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน
.
2
3
ปัจจุบันโรงงานแห่งนี้เริ่มชลอการผลิต T-90 ลง เพื่อปูทางให้เริ่มการผลิต T-14 โดยมีรุ่นล่าสุดคือ T-90MS ที่มีข้อเด่นที่สุดคือ ติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมต่อระบบ GLONASS-M ยุคใหม่ หรือ ระบบจีพีเอสที่รัสเซียพัฒนาใช้ทางการทหาร ซึ่งประโยชน์สูงสุดสำหรับรถถังก็คือ สามารถใช้ในการนำวิถีกระสุนจรวด ที่ยิงจากปืนใหญ่ลำกล้องเกลี้ยง 125 มม. และ ตรวจจับเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ
แอลจีเรีย อียิปต์ และ อิหร่าน เป็นลูกค้า T-90MS รายล่าสุด และ กองทัพบกอินเดียเป็นเพียงลูกค้ารายเดียวในย่านเอเชียปัจจุบัน ในขณะที่กองทัพบกไทย เป็นลูกค้าต่างชาติรายแรกของ Oplot-M และ ยังเป็นรายเดียวในโลกอีกด้วย
สำนักข่าวกลาโหมบางแห่งตั้งข้อสังเกตว่า ดูเหมือนไทยกำลังกดดันยูเครนอย่างหนัก ให้ต้องเร่งผลิตและส่งมอบ "Oplot-T" อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครบตามสัญญาจัดหาระยะแรก 49 คัน รวมมูลค่ากว่า 240 ล้านดอลลาร์
นอกจากนั้นกองทัพไทยเอง ยังติดพันกับยูเครนอีกเรื่องหนึ่ง คือ การเจรจาเพื่อผลิตยานโจมตีลำเลียงพลล้อยาง 8x8 แบบ BRT-3E ในประเทศไทย เช่นเดียวกับที่ยูเครนยินยอมให้พม่าผลิต 600-700 คัน ตามสัญญาจัดหาราว 1,000 คัน
เจ้าหน้าที่ยูเครนให้สัมภาษณ์ที่งานแสดงอาวุธป้องกันประเทศ ที่เมืองทองธานีเมื่อไม่นานมานี้ว่า การเจรจาสองฝ่ายในเรื่องนี้งวดเข้ามาแล้ว และ "ใกล้ได้ข้อสรุป" เต็มที ทั้งสองฝ่ายเซ็นความตกลงเรื่องนี้เดือน พ.ย.ปีที่แล้ว แต่แล้วก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมา.
.
4
5
6
7