ASTVผู้จัดการออนไลน์ - ยูเครนเร่งซ่อมแซมรถถังที่ถูกทิ้งไว้นาน 30 ปี ตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเพื่อนำกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากกองทัพสูญเสียรถถังไปจำนวนมากในสงครามกับฝ่ายกบฏแยกดินแดนที่มีรัสเซียหนุนหลัง ทางภาคตะวันออกของประเทศในช่วงข้ามเดือนมานี้ โรงงานมาลีเชฟ (Malyshev Plant) ที่เมืองคาร์คิฟ (Karkiv) ได้นำรถถังเก่าสนิมเขรอะหลายสิบคันออกไปจากบริเวณที่เรียกกันว่า “ป่าช้ารถถัง” ที่อยู่ในเมืองเดียวกัน เพื่อฟื้นชีพกลับคืนมา
ส่วนใหญ่ในนั้นเป็น T-64B ซึ่งแม้จะเก่าแต่ก็หาอะไหล่ได้ไม่ยาก เนื่องจากที่นี่เป็นแหล่งผลิตใหญ่ที่สุด และปัจจุบันกองทัพยูเครนยังคงใช้ T-64 เป็นรถถังหลัก รวมทั้ง T-64 Bulat ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุด ที่เริ่มพัฒนาไม่กี่ปีมานี้ ในขณะที่กำลังเร่งผลิต T-84 “โอปล็อต” เพื่อนำเข้าประจำการอีกจำนวนหนึ่ง โรงงานมาลีเชฟแห่งนี้เป็นแห่งเดียวกันกับที่ผลิตรถถังหลัก T-84 Oplot-M ให้แก่กองทัพบกไทย
ตามรายงานของสื่อทางการ ยูเครนซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้ข้อสรุปว่า การฟื้นฟูรถถังหลากหลายรุ่น ที่จอดอยู่ในป่าช้ารถถัง มาตั้งแต่ยุคสหภาพโซเวียต ที่มีอยู่กว่า 400 คัน นำกลับไปใช้การใหม่นั้นเป็นการทางเลือกที่ไม่คุ้ม แต่แล้วก็พบความจริงว่า ยังมีชิ้นส่วนอีกมากมายที่ยังไม่ได้ใช้ แม้ว่าเกือบทั้งหมดจะไม่เคยถูกเคลื่อนย้ายออกจากโกดังเลยในช่วง 30 ปีมานี้ ซึ่งทำให้จะต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนย่อยที่เป็นยางทั้งหมด
ยังมีชิ้นส่วนอีกจำนวนมากที่ยังมีสภาพดี เก็บไปจากรถถัง T-64 รุ่นใหม่ๆ ที่ได้รับความเสียหายในการสู้รบทางภาคตะวันออกของประเทศ
ปัจจุบัน คนงานราว 180 คน ที่โรงงานมาลีเชฟทำงานกันเต็มกำลัง รถถังที่นำออกไปจากป่าช้าจะต้องเข้าสู่กระบวนการ “งานตัวถัง” ใหม่ ตรวจสอบ และซ่อมแซมจุดเชื่อมต่อทั้งหมด ติดเครื่องยนต์ดีเซลยุคใหม่ขนาด 850 แรงม้า ก่อนจะติดตั้งป้อมปืนใหม่ พร้อมกับปืนใหญ่ลำกล้องเกลี้ยง (Smooth-Bore) ขนาด 125 มม. ป้อนกระสุนอัตโนมัติ ติดตั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ใหม่ ทำไวริ่งใหม่รอบคัน
T-64 จากป่าช้าจำนวนหนึ่งจะหุ้มเกราะ ERA ยุคใหม่ และ แน่นอน.. ทุกคันทำสีใหม่จนดูเป็นของใหม่เอี่ยมราวกับแล่นออกจากโรงงานครั้งแรก
รายงานที่ยังไม่ได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการระบุว่า พร้อมๆ กับเร่งผลิต T-84 “Oplot” โรงงานมาลีเชฟ จะต้องนำรถถัง T-64 รุ่นต่างๆ อีกนับ 100 คันที่กองทัพใช้อยู่ในปัจจุบันเข้าอัปเกรด รวมทั้ง T-80 อีกจำนวนหนึ่งด้วย การฟื้นฟูรถถังเก่า และอัปเกรดรถถังใหม่ไม่เพียงแต่ด้วยเหตุผลด้านสงครามกบฏแยกดินแดนเท่านั้น หากยังเป็นการสร้างงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ หล่อเลี้ยงชีวิตอุตสาหกรรมกลาโหมของประเทศ ลดพึ่งพาการส่งออกในสภาวะเศรษฐกิจโลกซบเซา
“ป่าช้ารถถัง” แห่งเมืองคาร์คิฟ เคยเป็นโรงงานซ่อมยานเกราะทันสมัย รถที่จอดอยู่ในนั้นมานาน 30 ปี ส่วนใหญ่รอคิวซ่อม แต่ยังไม่มีโอกาสได้ซ่อม อีกจำนวนเท่าๆ กันนำไปจากค่ายทหารในอาณาบริเวณเดียวกันหลังยุคโซเวียตล่ม ซึ่งรายงานใน “ล็อกบุ๊ก” หรือบันทึกการซ่อมแซมของโรงงานแห่งนี้ระบุว่า เมื่อตอนนำเข้าไปจอดเก็บนั้น T-64 จำนวนมาก มีสภาพที่ยังสามารถใช้การได้ ไม่ต้องการการซ่อมแซมส่วนใด
.
.
.
ในบริเวณโรงงานที่กลายเป็นป่าช้ารถถังปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเคยเป็นโรงเรือนที่ใช้เป็น “โรงเก็บชั่วคราว” เคยมีร่มเงากันแดดและฝน แต่หลายปีมานี้หลังคาได้หลุดหายไป เนื่องจากขาดงบประมาณไม่ได้รับการดูแล
ยูเครน เป็นแหล่งพัฒนา T-64 ขึ้นมา โดยมีจุดประสงค์เพื่อใช้ในกองทัพสหภาพโซเวียตโดยเฉพาะ ไม่มีการส่งออก ตัวเลขของ UkrOboronProm ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจอุตสาหกรรมอาวุธของประเทศบ่งว่า โรงงานมาลีเชฟผลิต T-64 รุ่นต่างๆ ออกมาราว 6,000 คัน อีกจำนวนหนึ่งผลิตจากโรงงานในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กของรัสเซีย ส่วนใหญ่ทำออกมาในช่วงปี ค.ศ.1961-1975
หลังโซเวียตล่มสลาย กองทัพบกยูเครนได้รับ T-64 รุ่นต่างๆ ตกทอดมากว่า 2,000 คัน อีกประมาณ 2,000 คัน ตกทอดไปสู่กองทัพรัสเซีย จำนวนที่เหลือกระจายอยู่ในคาซัคสถาน กับอุซเบกิสถาน อีกจำนวนหนึ่งตกค้างอยู่ใน “สาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมนี” หรือ “เยอรมนีตะวันออก” เมื่อก่อน
ยูเครนในปัจจุบันยังพัฒนา T-64 ต่อมาอีกหลายเวอร์ชัน และในปี 2553 โรงงานมาลีเชฟได้ติดตั้งเครื่องยนต์ขนาด 850 แรงม้า ให้ T-64 รุ่นหนึ่ง พร้อมติดระบบเกราะป้องกันแบบใหม่ทั้งคัน กลายเป็น Bulat ซึ่งเป็น T-64 รุ่นล่าสุดในขณะนี้ ก่อนหน้านี้ ยังพัฒนาออกมาอีกรุ่นหนึ่ง ติดเครื่องยนต์แก๊สเทอร์ไบน์ขนาด 1,000 แรงม้า ถึงแม้จะยังใช้ป้อมปืนแบบเดียวกับ T-64B แต่ก็เรียกใหม่เป็น T-80 แต่ทำออกมาได้ไม่มาก โซเวียตก็ถึงกาลล่มสลายก่อน
ยูเครนยังพัฒนา T-80UD ออกมาเป็น T-84 ซึ่งติดเครื่องยนต์ทรงพลัง 1,200 แรงม้า ในรูปลักษณ์คล้ายคลึงกับ T-90 ของรัสเซียมากที่สุด ทำออกมาได้ไม่มากเนื่องจากปัญหาด้านเงินทุน แต่ก็ยังพัฒนาต่อมาอีกเป็น T-84 “โอปล็อต” ที่ทันสมัยยิ่งกว่า และเป็น “โอปล็อต-M” สำหรับกองทัพบกไทย ซึ่งทั้ง 2 รุ่นใหม่ได้กลายเป็นคู่ปรับที่สมน้ำสมเนื้อของ T-90 โดยปริยาย
ใน “สงครามเชเชน” หรือสงครามเพื่อเอกราชของแคว้นเช็กเนีย (Chechnya) เมื่อหลายปีก่อนโน้น รัสเซียยังคงใช้ T-64M เป็นกำลังหลัก แต่เข้าใจกันว่าขณะนี้ได้ปลด T-64 ไปเป็นกำลังสำรองจนเกือบทั้งหมดแล้ว อีกจำนวนหนึ่งส่งขายให้แก่หลายประเทศในแอฟริกา ซึ่ง T-64 เข้าไปมีบทบาทสำคัญในความขัดแย้งในยุคใหม่หลายครั้ง
นำเข้าประจำการครั้งแรกในช่วงปลายคริสต์ทศวรรษที่ 1960 T-64 รุ่นแรกสุดยังติดปืนใหญ่ 115 มม. แต่ได้ชื่อเป็นรถถังหลักทันสมัยที่สุดของโลก อีกไม่กี่ปีต่อมา โรงงานมาลีเชฟได้พัฒนา T-64A ออกมา โดยติดปืนใหญ่ 125 มม. ลำกล้องเกลี้ยงเป็นครั้งแรก และทำออกมาอีกหลายเวอร์ชัน อัปเกรดทั้งระบบอิเล็กทรอนิกส์ ระบบอาวุธ และระบบป้องกัน จนกลายเป็นเขี้ยวเล็บอันน่าเกรงขามมากที่สุด ประจำหน่วยรบชั้นเยี่ยมที่สุดของโซเวียต.