ASTVผู้จัดการออนไลน์ -- ทางการยูเครนนำรถถังหลัก T-84 "โอปล็อต-M" คันใหม่ล่าสุด ออกตั้งแสดงในงานนิทรรศการรถถัง และยานหุ้มเกราะ กับอาวุธต่างๆ ที่จัดขึ้นในกรุงเคียฟสัปดาห์นี้ รถทำสีเป็นลายพรางดิจิตอลทั้งคัน ลายเดียวกันกับ Oplot-M ทั้ง 10 คันที่ส่งให้กองทัพบกไทย ในขณะที่บริษัทผู้ผลิตกล่าวก่อนหน้านี้ว่า จะพยายามส่งให้ไทยอีก 5 คันภายในสิ้นปีนี้
ภาพรถถังโอปล็อต คันใหม่ที่นำออกโชว์ในงาน แพร่กระจายอยู่ในเว็บไซต์ข่าวหลายแห่ง ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค.เป็นต้นมา และ ยังไม่มีผู้ใดให้รายละเอียด เกี่ยวกับว่า เป็น Oplot-M ล็อตที่ผลิตให้กองทัพบกยูเครน หรือ กองทัพบกไทย เว็บไซต์แห่งต่างๆ รายงานแต่เพียงว่าเป็น "รถถังใหม่" อีกคันหนึ่ง
T-84 "โอปล็อต-M" พัฒนาขึ้นมาเป็นรถถังหลักทันสมัย จากการออกแบบโดยสำนักงานออกแบบก่อสร้างเครื่องจักรกลแห่งเมืองคาร์คิฟ ที่อยู่หางจากกรุงเคียฟไปทางทิศตะวันออกราว 480 กิโลเมตร และ ผลิตจากโรงงานของบริษัทมาร์ลีเชฟ ที่ตั้งอยู่เมืองเดียวกัน ซึ่งที่นั่นเป็นศูนย์การผลิต และซ่อมรถถังกับยานเกราะต่างๆ หลากรุ่นหลายแบบ มาตั้งแต่ยุคที่ยูเครนเป็นส่วนหนึ่งในอาณาจักรใหญ่สหภาพโซเวียต
นอกจากติดระบบ "เกราะปฏิกิริยา" รุ่นใหม่หลายชั้นกว่าเดิมแล้ว จุดเด่นประการหนึ่งของโอปล็อต-M ก็คือ การติดตั้งอาวุธต่อสู้อากาศยาน สามารถยิงทำลายอากาศยานบินต่ำ และ บินช้า ระดับเฮลิคอปเตอร์หรือโดรน ได้จากระยะทางหลายกิโลเมตร นั่นคือขีดความสามารถต่อสู้ กับ ฮ.พิฆาตของข้าศึกที่ยิงจากระยะไกลได้ สื่อออนไลน์ของทางการยูเครนกล่าวถึงรถถังหลักใหม่ล่าสุด
กระทรวงกลาโหมยูเครนนำ Oplot-M เข้าประจำการเมื่อปี 2552 และ ในเดือน ก.ย.2554 กองทัพบกไทยได้เซ็นสัญญาซื้อจำนวน 49 คัน กับรัฐวิสาหกิจค้าและส่งออกอาวุธของรัฐบาล ทำให้ไทยกลายเป็นลูกค้าต่างชาติรายแรก
ปลายเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจยูโครโบรอนพรอม (Ukroboronprom) ให้สัมภาษณ์ว่า อาจจะส่งรถถังโอปล็อต-เอ็ม (Oplot-M) ให้กองทัพบกไทยได้อีก 5 คัน ภายในวันที่ 31 ธ.ค.ปีนี้ ซึ่งที่ผ่านมา มีปัญหาเกี่ยวกับซัปพลายเออร์ หรือผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ทำให้การผลิต ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย แต่สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว
หากสามารถส่งมอบได้ตาม “เส้นตาย” ที่กำหนดในสิ้นปีนี้ ไทยก็จะได้รับโอปล็อต-M รวมเป็นทั้งหมด 15 คัน สำนักข่าวยูนิอาน (UNIAN) ซึ่งเป็นสำนักข่าวของเอกชนในกรุงเคียฟ รายงานอ้างการสัมภาษณ์ นายเซร์เก ปินคาส (Sergei Pinkas) รองผู้อำนวยการใหญ่ยูโครโบรอนพรอมคนที่ 1
.
2
3
สำนักข่าวเดียวกันนี้ได้อ้างคำแถลงฉบับหนึ่งของยูโครโบรอนพรอม ที่ออกในช่วงต้นปีนี้ว่า ปี 2558 ทั้งปีโรงงานมาลีเชฟ (ในเมืองคาร์คิฟ) จะผลิตโอปล็อต-M ได้เพียง 40 คันเท่านั้น รวมทั้งผลิตเพื่อกองทัพบกยูเครนด้วย แต่ปี 2559 เป็นต้นไป จะสามารถผลิตได้มากขึ้นถึงระดับ 100-120 คันต่อปี
โอปล็อต-M ได้ชื่อเป็นรถถังหลัก "ยุคที่ 4" อีกรุ่นหนึ่ง การมีประจำการทำให้กองทัพบกไทย มีรถถังหลักทันสมัยที่สุดในปัจจุบัน ดีกว่ารถถังหลักที่ใช้ในประเทศเพื่อนบ้านละแวกเดียวกัน นักวิเคราะห์ทางกลาโหมหลายคน ลงความเห็นก่อนหน้านี้
ในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ยูเครนได้ส่ง Oplot-M คันหนึ่ง ไปให้ทางการปากีสถานทดสอบ แต่เป็นรุ่นติดเครื่องยนต์ขนาด 1,500 ซีซี เมื่อนำไปวิ่งในทะเลทราย เครื่องยนต์เกิด "โอเวอร์ฮีต" จึงไม่ผ่านการทดสอบ ทั้งนี้เป็นเรื่องราวที่บอกเล่ากันในเว็บบล็อกปากีสถานดีเฟ้นซ์ช่วงที่ผ่านมา โดยยังไม่มีการประกาศเรื่องนี้อย่างเป็นทางการแต่อย่างใด
ในช่วงเดียวกันนั้น ปากีสถานยังได้ทดสอบรถถังหลัก VT-4 ที่ผลิตในจีนอีกด้วย ซึ่งได้ผลไม่น่าพอใจเช่นกัน ก่อนจะทดสอบ Type-99 รุ่นอัปเกรดล่าสุดจากจีน
.
4
สื่อของทางการจีนได้รายงาน ในเวลาไล่เรี่ยกันว่า จีน "พร้อมจะส่งรถถังหลัก Type-99" ให้ปากีสถานจำนวน 300 คัน หลังจากการทดสอบรถถัง VT-4 ซึ่งเป็นเวอร์ชั่นส่งออกของ MBT-3000 และได้ผลไม่เป็นที่พึงพอใจ เช่นเดียวกันกับโอปล็อต-M
อย่างไรก็ตาม Type-99 ยังคงเป็นรถถัง "ยุคที่ 3" ของกองทัพจีน ถึงแม้จีนจะพยายามอัปเกรต ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ให้ทันสมัย เทียบเท่ากับรถถังยุคที่ 4 ของหลายประเทศแล้วก็ตาม
ปากีสถานผูกพัน และ พึ่งพาระบบอาวุธยุทโธปกรณ์ ต่างๆ ของจีนมาเป็นเวลาช้านาน รวมทั้งเครื่องบินของกองทัพอากาศ กับเรือรบของกองทัพเรื อ จนถึงเรือดำน้ำจำนวนหนึ่งในแผนพัฒนาของกองทัพเรือด้วย ทำให้เชื่อกันว่าในการพิจารณาจัดหาล็อตรถถังรุ่นใหม่ เพื่อนำเข้าประจำการในช่วงปี 2559-2563 นั้น การเมืองจะเป็นตัวแปรสำคัญ ที่ส่งผลต่อการตัดสินของเช่นที่เคยเป็นมา
ปากีสถานกำลังมองหารถถังรุ่นใหม่ เพื่อการศึกในยุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ จะต้องสามารถ รับมือรถถัง T-90MS ของกองทัพอินเดีย ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุด ทันสมัยที่สุดของตระกูล T-90 ที่อินเดียอยู่ระหว่างเจรจาขั้นตอนสุดท้าย เพื่อซื้อจากรัสเซีย.