ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ถึงแม้คณะนายทหารที่เสียสละเพื่อชาติเข้ายึดอำนาจเมื่อสองปีที่แล้ว จะเน้นย้ำเสมอมาว่ามีความจำเป็นต้องทำรัฐประหารเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ ป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์เลือดนองแผ่นดินจากความขัดแย้งแตกแยกของคนในสังคม และใช้อำนาจนั้นกำราบประชาชนคนที่เห็นต่าง แต่เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า ยิ่งทหารมีอำนาจมาก การต่อรองจัดสรรงบกองทัพก็ยิ่งสูง การจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ก็ลื่นไหลไม่ติดขัด
ดังจะเห็นได้จากช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมานับจากการรัฐประหาร 2549 จนถึงรัฐประหาร 2559 งบกลาโหมพุ่งทะยานจาก 8 หมื่นกว่าล้านบาท ขึ้นเป็น 2 แสนกว่าล้านบาท อย่างน่าตื่นตะลึง และการเดินทางเยือนต่างประเทศของคณะผู้นำมักพ่วงรายการชอปกระจายเจรจาจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็น เรือดำน้ำ รถถัง เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ ฯลฯ ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกประหลาดใจแต่อย่างใด เพราะการจัดหายุทโธปกรณ์สำหรับกองทัพนั้นทหารถือเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญอันดับหนึ่ง ด้วยเหตุผลที่ว่า “ยิ่งมีอาวุธมาก การต่อรองยิ่งสูง”
ดังที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยกล่าวไว้ เมื่อตอนแถลงผลงาน 6 เดือนว่า "ไม่ใช่ต้องการแต่ซื้ออาวุธอย่างเดียว ซื้อมาก็เป็นภาระอีก ต้องผ่อน ต้องชำระ งบประมาณจะไปทำอย่างอื่นก็น้อยลง แต่จำเป็น จะทำอะไรก็ตาม จะมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง จะเป็นศูนย์กลาง ทุกอย่างต้องมีพาวเวอร์ตรงนี้ไว้ เรียกว่าอำนาจการรบที่ไม่มีตัวตน ขวัญกำลังใจ อาวุธและเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ ไม่ได้ต้องการสะสมไปแข่งกับใคร ทำเพื่อไม่ต้องรบกัน ให้เกรงกันบ้างเท่านั้นเอง ....."
ด้วยเหตุฉะนี้ การเดินทางไปเยือนรัสเซียของท่านผู้นำ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จึงอื้ออึงไปด้วยข่าวคราวการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์เสริมเขี้ยวเล็บให้กับกองทัพ และหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ กลับจากเยือนรัสเซีย เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2559ที่ผ่านมา ได้ยอมรับว่าเตรียมซื้อเฮลิคอปเตอร์จากแดนหมีขาวเข้ามาทดแทนเฮลิคอปเตอร์รุ่นเก่าที่เตรียมปลดระวาง เพราะใช้งานมายาวนาน ส่วนกรณีรถถังนั้นไม่ได้ซื้อจากรัสเซียเพราะกองทัพได้ซื้อจากจีนไปก่อนหน้านี้แล้ว
กองทัพบก ได้ขอจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์เพื่อใช้บรรเทาสาธารณภัยและบรรทุกกำลังพล แบบ Mi-17V5 จากรัสเซีย โดยได้เสนอความต้องการไป 12 ลำ คาดว่าอาจจะเป็นการจัดซื้อแบบงบผูกพัน 3 ปี ปีละ 4ลำ ในราคาลำละประมาณ 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนรถถังนั้น กองทัพได้ดำเนินการลงนามจัดซื้อรถถัง VT-4 ของจีนไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้ว
“ผมเชื่อมั่นกับราคาคุณภาพและประสิทธิภาพของรถถัง VT-4ของจีนว่ามีความเหมาะสมโดยผ่านคณะกรรมการของกองทัพบก ผมไม่ได้ดูคนเดียวซึ่งผมส่งเจ้าหน้าที่ไปดูหลายรอบ ทั้งทหารม้าและทุกๆ ส่วนไปร่วมกันพิจารณา” พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการกองทัพบก(ผบ.ทบ.) ระบุ
MGR Online รายงานเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 โดยอ้าง “Jane's”นิตยสารข่าวกลาโหมที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุด และเก่าแก่มากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศอังกฤษ ที่รายงานเรื่องนี้โดยอ้างการยืนยันของทางการไทยก่อนหน้าที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเดินทางไปเยือนรัสเซีย โดยระบุว่า กองทัพบกไทยอาจจะทุ่มงบประมาณทั้งหมดเกือบหมื่นล้านบาท ให้แก่รถถัง VT4 ที่ผลิตโดยกลุ่มอุตสาหกรรม NORINCO ของทางการจีน ภายใน 2 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งจะเป็นการสิ้นสุดแผนการจัดหารถถังหลักยุคใหม่ราว 200 คัน
VT4 รถถังรุ่นใหม่ล่าสุดที่เป็นเวอร์ชันสำหรับส่งออกของ MBT3000เป็นรุ่นอัปเกรดของ MBT2000 กับ VT1A ที่จีนผลิตออกมาก่อนหน้านี้ ฝ่ายไทยตัดสินใจซื้อ หลังจากพิจารณาเปรียบเทียบกับ T-90 รัสเซีย และ T-84โอปล็อต-M จากยูเครน ที่กองทัพบกเซ็นสัญญาซื้อ จำนวน 49คัน ในเดือน กันยายน 2554 มูลค่าราว 7,200 ล้านบาท (240 ล้านดอลลาร์)ในการจัดหาล็อตแรก จากนั้น กองทัพบก ได้รับงบประมาณอีก 8,900 ล้านบาท สำหรับการจัดหารถถังหลักในล็อตที่ 2 โดยเป็นงบผูกพันเป็นเวลา 3 ปี ขณะที่การผลิต Oplot-Mในยูเครน มีปัญหา เกิดความล่าช้าในการส่งมอบ
ตามรายงานของเจนส์ กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมภาคเหนือของจีน หรือ NORINCO (North Industries Corp) จะส่งมอบ VT4 ล็อตแรกที่ยังไม่ทราบจำนวนให้แก่ไทยในปลายปี 2559 นี้ ขณะที่สองฝ่ายได้ให้คำมั่นจะจัดทำสัญญาซื้อขายฉบับสมบูรณ์ระหว่างกันภายใน 2 ปี ซึ่งไทยอาจจะซื้อเป็นจำนวนถึง 138 คัน สัญญาการซื้อขายจะครอบคลุมการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องด้วย และหน่วยงานที่จะรับการถ่ายทอด ก็คือ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ในสังกัดกระทรวงกลาโหม ที่ปัจจุบันมีความร่วมมือกับจีนในการพัฒนาจรวด DTI2 สำหรับกองทัพไทย
ขณะเดียวกัน TAF เว็บไซต์ข่าวกลาโหม ที่ได้รับความเชื่อถือมากที่สุดแห่งหนึ่งของไทย ได้รายงานเรื่องนี้โดยอ้างการเปิดเผยของแหล่งข่าวในกองทัพว่า หากการใช้งาน VT4 เป็นที่พอใจของไทยก็อาจจะมีการเซ็นสัญญาซื้อถึง 150 คัน
กองทัพบกไทยกำลังจัดหารถถังหลักยุคใหม่ราว 200 คัน เพื่อใช้แทน M41 “วอล์กเกอร์ บุลด็อก” (Walker Bullldog) ที่ใช้มานานตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม และเริ่มจากการซื้อรถถังที่ผลิตจากยูเครน ถ้าหากตัวเลขเป็นไปตามรายงานของ TAFและเจนส์ ภายใต้แผนการจัดหาที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้ กองทัพรถถังรุ่นใหม่ของกองทัพบกไทย ก็จะประกอบไปด้วย รถถังยูเครน จำนวน 49 คัน(พร้อมรถพี่เลี้ยง/ยานซ่อมบำรุง) กับรถถังจีนอีก 166 คัน(พร้อมรถพี่เลี้ยง/ยานซ่อมบำรุง) รวมเป็นทั้งสิ้น 215 คัน
สำหรับการลงนามซื้อรถถังจากจีนดังกล่าว สำนักข่าวไทย รายงานว่า มีขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2559 โดย พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็นตัวแทน พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก ลงนามในสัญญาจัดหา “รถถัง VT-4” จากประเทศจีน จำนวน 28 คัน เพื่อนำไปทดแทนรถถังเบา M41ที่ผลิตโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งประจำการอยู่ที่กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์(ม.พัน4รอ.) มาตั้งแต่ปี 2505โดยจะมีการส่งมอบรถถังดังกล่าวให้กับกองทัพบกภายในเดือนตุลาคม 2559
ทั้งนี้ รถถัง VT-4ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ดอยซ์ ประเทศเยอรมนี มีระบบตรวจจับเป้าหมาย 2 ชั้น ป้อมปืนและเครื่องควบคุมการยิง ส่วนของการจัดหารถถัง T-84Oplot จากประเทศยูเครน ที่ได้มีการลงนามจัดหาก่อนหน้านี้ จำนวน 49 คัน แต่มีปัญหาการส่งมอบล่าช้ายังไม่มีการยกเลิกสัญญา โดยกองทัพบกได้ขยายเวลาส่งมอบให้ไปจนถึงปี 2561
การจัดซื้อรถถังจากจีนครั้งนี้MGR online รายงานด้วยว่า ได้รับความสนใจจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมกลาโหมทั่วโลก โดยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสงสัยในทำนองไทยยังไม่เข็ดกับรถถังจีนอีกหรือทั้งๆ ที่เคยมีประสบการณ์อันเลวร้ายกับรถถังที่ผลิตในจีนมากกว่าใครในโลกนี้ นั่นคือเรื่องราวเมื่อกว่า 20 ปีก่อน ที่ไทยเคยซื้อ Type69จากจีนราว 100 คัน แต่ไม่นานต่อมาก็ลงเอยด้วยการจอดตายกันทั้งกองพัน ใช้งานไม่ได้ ส่วนหนึ่งถูกนำไป “ทิ้งทะเล” ทำปะการังเทียม และ แม้ว่ารถถัง VT-4ซึ่งเป็นรุ่นใหม่ล่าสุด ตามที่ตกเป็นข่าวขณะนี้ จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ในอีกยุคหนึ่ง ในลำดับขั้นการพัฒนาเทคโนโลยีกลาโหมของจีนก็ตาม แต่ก็ยังมีเสียงวิจารณ์มากมายเกี่ยวกับ “การไร้นวัตกรรม” ของยานเกราะขนาด 52 ตันรุ่นนี้
กองทัพบกไทย เป็นลูกค้าต่างประเทศรายแรกของ VT4 ไม่ต่างกับ ที่เป็นลูกค้ารายแรกของ Oplot-M ซึ่งไม่เพียงแต่ยูเครน จะส่งมอบให้ล่าช้า เมื่อเร็วๆ นี้ยังตกเป็นข่าวอีกด้วยว่า กองทัพบกไทยกำลังเจอปัญหาแบตเตอรีที่เสื่อมสภาพเร็วมาก และ โรงงานผลิตแบตเตอรีสำหรับโอปล็อต-M ที่อยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศ ได้รับความเสียหายจากการโจมตีของกลุ่มกบฏแยกดินแดนที่มีรัสเซียหนุนหลัง
แผนการจัดซื้อจัดหาเฮลิคอปเตอร์และรถถังดังกล่าวเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของงบประมาณที่กองทัพได้รับจัดสรรในแต่ละปี ซึ่งมีแนวโน้มพุ่งทะยานเพิ่มมากขึ้นตามอำนาจที่แข็งแกร่งขึ้นของกองทัพภายหลังเหตุการณ์รัฐประหาร2549 เป็นต้นมา โดยเฉพาะงบประมาณปี 2559 ต้องจัดว่า กระทรวงกลาโหม ได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุดในรอบทศวรรษเลยก็ว่าได้
หากไล่เรียงงบประมาณของกระทรวงกลาโหมในรอบทศวรรษ จะพบว่า ปี 2549 ได้รับงบจำนวน 85,936 ล้านบาท ปี 2550 จำนวน 115,024 ล้านบาท ปี2551 จำนวน 143,519 ล้านบาท ปี 2552 จำนวน 170,157 ล้านบาท ปี 2553 จำนวน 154,032ล้านบาท ปี 2554 จำนวน 168,501 ล้านบาท ปี 2555 จำนวน 168,667 ล้านบาท ปี 2556จำนวน 180,491 ล้านบาท (คิดเป็น 7.5% ของงบประมาณแผ่นดินประจำปี) ปี 2557 จำนวน183,820 ล้านบาท และปี 2558 จำนวน 192,949 ล้านบาท (คิดเป็น 7.4%ของงบประมาณแผ่นดินประจำปี) และปี 2559 จำนวน 207,718.9 ล้านบาท (คิดเป็น 7.59%ของงบประมาณทั้งหมด) เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี 2558 จำนวน 14,769 ล้านบาท
การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของงบกลาโหมของไทย ทำให้ธนาคารโลก ถึงกับระบุว่า อัตราการค่าใช้จ่ายทางการทหารต่อจีดีพีของไทยตั้งแต่ทำการรัฐประหารเป็นต้นมา งบกองทัพไทยพุ่งไม่หยุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่อยู่ในอัตราคงที่หรือเพิ่มขึ้นไม่มากนัก จะมียกเว้นก็แต่กัมพูชาที่เพิ่มขึ้นสูงเช่นกัน
หากพิจารณาจากแผนพัฒนาขีดความสามารถกระทรวงกลาโหม ปี 2554-2563 (Modernization Plan : Vision 2020)ที่จัดทำมาก่อนหน้านี้ จะพบว่า งบกลาโหมของไทยยังจะทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสำนักงานงบประมาณกลาโหม ได้คาดการณ์ว่าจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มอย่างต่อเนื่องทุกปี จนถึงปีงบประมาณ 2563 กระทรวงกลาโหม จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณคิดเป็นร้อยละ 2 ของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพี หรือราวๆ 3 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
โดยร่างแผนพัฒนาขีดความสามารถกระทรวงกลาโหม ปี2554-2563 ได้กำหนดความต้องการโครงการพัฒนาและจัดหายุทโธปกรณ์หลักของ กระทรวงกลาโหม แบ่งเป็นความต้องการระดับสูงสุด 332 โครงการ วงเงิน 1.3 ล้านล้านบาท และความต้องการระดับต่ำสุด 301 โครงการ วงเงิน 0.77 ล้านล้านบาท ตามแผนนี้การจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ มีโครงการของกองทัพบก วงเงิน 4.97 แสนล้านบาท กองทัพอากาศ 4.4 แสนล้านบาท และกองทัพเรือ 3.25 แสนล้านบาท
การเสริมสร้างเขี้ยวเล็บ สั่งสมอำนาจการรบที่ไม่มีตัวตน เพื่อรักษาดุลอำนาจของไทยในภูมิภาคนี้ อาจจะเป็นคำตอบ มีทหารเอาไว้ทำไมก็เป็นได้
ล้อมกรอบ//
ผ่าปมฉาวซื้อซาก ฮ.ชีนุก...ใครได้ ใครเสีย
นอกเหนือจากการจัดซื้อจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์แล้ว การขายทอดตลาดก็มักเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของสังคมเช่นกัน คราวนี้ “สำนักข่าวอิศรา” เกาะติดการร้องเรียนของบริษัทที่พลาด การซื้อซาก ฮ.ซีนุก จากกองทัพบก ซึ่งยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมๆ กับสืบสาวราวเรื่องที่ปูดออกมา ทำให้กองทัพต้องร่อนหนังสือชี้แจงที่มาที่ไปทั้งปมปัญหาเรื่องราคาประมูลขายฮ .ซีนุก และปมปลด “จ่าทหาร” ลูกชายนายหน้าบริษัทค้าอาวุธใหญ่
เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า เมื่อเดือนมีนาคม 2559 จ.ส.ต.คงศักดิ์ คงคามาศ ตัวแทนผู้ประสานงาน บริษัท ไทย แอร์โรสเปซ อินดัสทรีส์ จำกัด ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี (สปน.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ขอความเป็นธรรมและให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง อันประกอบด้วย
1.กรณีขายซากเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง แบบ 47 (CH-47D-ชีนุก) จำนวน 6 ลำ ว่า มีราคาต่ำกว่าปกติหรือไม่ เนื่องจากบริษัท ฯ แสดงเจตจำนงเสนอซื้อในวงเงิน 600 ล้านบาท แต่ทว่า กรมการขนส่งทหารบก ได้ประมูลขายทอดตลาดให้เอกชนรายหนึ่งในวงเงิน 420 ล้านบาท
และ 2.ไม่ได้รับความเป็นธรรม กรณีกรมการขนส่งทหารบกมีคำสั่งปลด จ.ส.อ.ธนลภย์ คงคามาศ บุตรชาย จ.ส.ต.คงศักดิ์ ตำแหน่งพลขับ สังกัดมณฑลทหารบกที่ 11 ออกจากราชการ ฐานหนีราชการ เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2559 ไม่มีเบี้ยหวัด และบำนาญ และสั่งถอดยศ สงสัยว่า คำสั่งปลดดังกล่าว อาจเป็นผลมาจากบริษัท ฯ ไม่ยอมเข้าร่วมประมูลขายทอดตลาดซากเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง แบบ 47 ข้างต้นหรือไม่
สำหรับซื้อขายซากเฮลิคอปเตอร์ลำเลียง ชีนุก ครั้งแรก เอกชนผู้ชนะประมูลคือ บริษัท ธนนิพัฒน์ยนต์ตระการ จำกัด ผู้ประกอบการรับซื้อของเก่าใน จ.นครปฐม และหลังประมูลเพียง 1 วัน เอกชนรายดังกล่าว ได้ติดต่อขายซากเฮลิคอปเตอร์ดังกล่าวให้แก่ บริษัท ไทย แอร์โรสเปซ อินดัสทรีส์ ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมประมูลในวงเงิน 550 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้ว บริษัทไทย แอร์โรสเปซฯ ไม่ได้ตกลงซื้อขายแต่อย่างใด ซึ่งปมการขายซาก ฮ.ดังกล่าว ขณะนี้ สตง.กำลังเข้ามาตรวจสอบรายละเอียด
ขณะที่กองทัพบก โดย พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษก กองทัพบก (ทบ.) ได้ชี้แจงกรณีดังกล่าว เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 59 ใน 3 ประเด็น คือ 1. การดำเนินการของ ทบ.ต่อการขายซาก ฮ.ล.47 จำนวน 6 ลำ พร้อมชิ้นส่วนเครื่องมือซ่อมบำรุงและบริภัณฑ์ภาคพื้น โดยมอบให้กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) ดำเนินการ สรุปความได้ว่า การประมูลครั้งแรก ตั้งราคากลางไว้ที่ 600 ล้านบาท แต่ผลประมูลเมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2559 มีผู้เสนอราคารายเดียว วงเงิน 420 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลาง ขส.ทบ.จึงยกเลิกประมูล และครั้งที่ 2 ตั้งราคากลางที่ 420 ล้านบาท มีผู้มายื่นซองรายเดียว ขส.ทบ.จึงยกเลิกประมูล ขณะนี้ยังไม่ได้ทำสัญญาขายซากเฮลิคอปเตอร์ให้กับผู้ประกอบรายใด
ประเด็นที่ 2. ตามตัวแทนบริษัทไทยแอร์โรสแปซฯ ไม่เข้าร่วมประมูลเพราะกลัวจะผิดกฎหมายสมยอมราคาจากการที่เคยแสดงเจตจำนงขอซื้อเฮลิคอปเตอร์ในราคา 600 ล้านบาทนั้น เจ้าหน้าที่พัสดุได้ให้คำแนะนำแล้วว่า บริษัทสามารถเข้าร่วมประมูลได้ แต่ที่บริษัทไม่เข้าประมูลเป็นเพราะความไม่พร้อมของบริษัทเอง ส่วนการแสดงเจตจำนงของซื้อโดยตรงโดยไม่ผ่านการประมูลนั้น เป็นการปฏิบัติที่ผิดระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการพัสดุ ทาง ทบ.ไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้
ประเด็นที่ 3 การที่ ขส.ทบ.ปลด จ.ส.อ.ธนลภย์ คงคามาศ สังกัด กรมการขนส่งทหารบก ซึ่งเป็นบุตรชายของผู้แทนบริษัทฯ ถูกปลดออกจากราชการนั้น ไม่มีความเกี่ยวโยงกันกับการประมูลฯ แต่อย่างใด
ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท ธนนิพัฒน์ยนต์ตระการ จำกัด ประกอบกิจการขายปลีกของใช้แล้วหรือของเก่าในร้านค้า ที่ตั้งเลขที่ 1378 ถนนเพชรเกษม ตำบลลำพยา อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม
ส่วนบริษัท ไทย แอร์โรสเปซ อินดัสทรีส์ จำกัด เป็นตัวแทนขายเฮลิคอปเตอร์ของสหรัฐ ฯประกอบธุรกิจบริการด้านการบิน ระบบดาวเทียม จัดหาอาวุธทางการทหาร ซ่อมบำรุงอากาศยาน ที่ตั้งเลขที่ 63 อาคารแอททีนี่ทาวเวอร์ ชั้น 23 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
สำหรับ เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง แบบ 47 (CH-47D Chinook ขนาดกลาง 38 ที่นั่ง ผู้สร้าง บริษัท โบอิ้งเฮลิคอปเตอร์ สหรัฐอเมริกา กองทัพบกจัดซื้อในช่วงปี 2534 ยุค พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ จัดซื้อในราคาลำละ 542.5 ล้านบาท (ราคาในขณะนั้น)