MGRออนไลน์ -- คนนับล้านจากทั่วทุกมุมโลกได้ชมเหตุการณ์รถถัง T-90 ที่ผลิตในรัสเซียคันหนึ่ง ถูกยิงด้วยจรวด TOW-2 ของฝ่ายกองโจรต่อต้านรัฐบาลซีเรียที่ถูกนำขึ้นโพสต์ในยูทิวบ์เดือนเศษก่อนหน้านี้ หลังจากนั้นคนอีกจำนวนมาก ได้ติดตามไปดูภาพรถถังคันเดียวกัน ซึ่งจอดอยู่ในโรงซ่อมแห่งหนึ่ง เป็นภาพที่เผยแพร่ครั้งแรก โดยสำนักข่าวของทางการในกรุงมอสโก ซึ่งเป็นการยืนยันว่า นี่คือของจริง
ภาพที่เผยแพร่ในช่วง 2 สัปดาห์มานี้ แสดงให้เห็นรถถัง T-90 คันที่ถูกกองโจรกองทัพซีเรียเสรี (Free Syrian Army) ยิงด้วยจรวด BGM-71 หรือ TOW (Tube-launched, Optically tracked, Wire-guided/อาวุธปล่อยยิงจากท่อยิง นำวิถีด้วยลวด ติดตามบังคับด้วยระบบนำแสง) จอดในสภาพเกือบสมบูรณ์ มีเพียงโคมกำเนิดรังสีอินฟราเรดของระบบชตอรา (Shtora-1) ด้านซ้ายที่หักห้อยลง รถยังใช้งานได้ปรกติ ระบบอื่นๆ ไม่บุบสลาย พลรถถังทุกนายไม่มีผู้ใดได้รับอันตราย
หากย้อนกลับไปดูวิดีโออื้อฉาวชิ้นนั้น ก็จะเห็นเหตุการณ์ตั้งแต่ต้น แต่ไม่ได้เห็นตอนจบจริงๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะว่า รถถังที่นักรบ FSA เข้าใจกันว่าเป็น T-72B คันนี้ไม่ได้ถูกทำลาย ไม่มีไฟลุกไหม้จากภายใน และ เกิดระเบิดติดตามมา ทำให้ป้อมปืนกระเด็นกระดอน เช่น T-55, T-62 และ T-72 ของรัฐบาลจำนวนกว่าร้อยคัน ที่พวกเขาเคยทำได้ก่อนหน้านี้
ฉากสุดท้ายในคลิป แสดงให้เห็นพลรถถังคนหนึ่งปีนออกโดยใช้มือปิดจมูก แต่ไม่มีลักษณะการบาดเจ็บใดๆ และ เมื่อควันจางลงหลังการระเบิดรุนแรง คลิปก็ได้แสดงให้เห็น T-90 อยู่ในสภาพเดิม เพียงแต่ FSA ได้ตัดส่วนท้ายคลิปออกไป หลังจากเสียงตะโกนสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้าเริ่มจางลง ซึ่งสะท้อนให้เห็นความประหลาดใจของพวกเขา..
.
.
ผู้เชี่ยวชาญรัสเซียจำนวนหนึ่ง ให้คำอธิบายตั้งแต่วันแรกๆ แล้วว่า ในคลิปนั้นเป็นการระเบิดขึ้นพร้อมๆ กันของวัตถุ 2 สิ่ง คือ "เกราะระเบิด" ในชุด "คอนแท็คท์-5" (Kontakt-5 Suite) ซึ่งเป็นด่านป้องกันชั้นในของ T-90 ถูกปล่อยออกไป "ทำงาน" เพื่อทำลายหัวรบจรวด TOW
เกราะ Kontakt-5 ทำงาน ก็เนื่องจาก "ความบกพร่อง" ของระบบชตารา และ ความบกพร่องดังกล่าวเกิดจาก "คน" กล่าวคือ พลรถถังปิดระบบเอาไว้ ทำให้อุปกรณ์ตรวจจับไม่ทำงาน และ ไม่ปล่อยรังสีอินฟราเรด/คลื่นวิทยุ เข้ารบกวนระบบนำวิถีของจรวด TOW ซึ่งในคลิป ก็ไม่ปรากฏแสงวาบจาก "โคมอิเล็กทรอนิกส์" ที่ติดตั้งขนาบปืนใหญ่ 125 มม. ทั้งสองข้างให้เห็น
เมื่อชตอรา-1 ไม่ทำงาน ปืนใหญ่รถถัง และ ปืนกลที่ติดตั้งบนแชสซีก็ไม่ทำงาน ไม่ยิงสวนกลับไปยังจุดที่ยิงจรวด TOW ตามที่ระบบออกแบบมา
เมื่อชตอรา-1 ซึ่งถือเป็นด่านป้องกันชั้นที่สอง ถัดจาก "ม่านควัน" นั้น ไม่ทำงาน ระบบเรดาร์ที่ควบคุม Kontakt-5 จะแจ้งเตือนให้ระบบ "เกราะปฏิกิริยา" หรือ ERA (Explosive Reactive Armour) ทำหน้าที่ ..
ทั้งหมดนี้อาจเป็นคำอธิบา่ยที่ไม่ถูกต้อง เนื่องจาก เกราะระเบิด ERA จะไม่ทำงาน จนกว่าจะถูกกระทบจากหัวรบเสียก่อน หลายคนบอกว่า T-90 รุ่นเก่าก็สามารถติดตั้งระบบป้องกันตัวเองแบบอัตโนมัติ หรือ APS ได้ ซึ่งควรจะเป็นคำอธิบายที่ถูกต้องมากกว่า -- แต่ทั้งนี้ยังไม่มีผู้ใดทราบข้อเท็จจริงว่า T-90 ในคลิปนี้อยู่รอดปลอดภัยได้อย่างไรกันแน่
.
คลิปข้างล่างเป็นการทดลองในทะเลทรายแห่งหนึ่ง ระบบ Shtora-1 ที่ติดตั้งบนรถโจมตี/ลำเลียงพลหุ้มเกราะล้อยาง 8x8 คันหนึ่ง ปล่อยรังสีกับคลื่นวิทยุออกรบกวนจรวดนำวิถียิงรถถังรุ่นหนึ่ง ที่ผลิตในรัสเซียเอง ทำให้ "อาวุธปล่อยนำวิถี" ดังกล่าว หลงทิศทางกระเจิงไป ไม่พุ่งเข้าหาหมาย. |
.
สื่อรัสเซียที่นำเสนอภาพนิ่งในช่วงข้ามสัปดาห์มานี้ ระบุว่ารถถังคันนี้เป็น T-90A ผลิตออกมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1970 คือ T-90 รุ่นแรกๆ ที่ผลิตออกมา โดยผสมผสานคุณสมบัติดีเด่นของ T-72 และ T-80 เข้าด้วยกัน และ "หุ้ม" เกราะป้องกันสมัยใหม่.. ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็มีเพียงรอยถลอกเป็นจุดๆ ทางกราบซ้ายมือด้านหน้า และ "โคมอิเล็กทรอนิกส์" ข้างเดียวกันหักห้อยลง ซึ่งน่าจะเกิดจากแรงระเบิดในระยะประชิด
ภายใน T-90A ยังไม่ได้กั้นส่วนคลังแสงที่เก็บกระสุนชนิดต่างๆ ออกจากส่วนปฏิบัติการของพลรถ เช่น T-90M/S/MS ที่ใหม่กว่า และ ถ้าหากความร้อน 1,000 องศาเซลเชียส จากแรงระเบิดของหัวรบจรวด TOW เล็ดลอด ผ่านป้อมปืนเข้าไปได้ ทั้งคันก็คงมลายกลายเป็นเศษเหล็ก และ ไม่มีผู้ใดรอด
แต่สื่อรัสเซียกล่าวว่า หลังถูกยิง T-90A คันนี้ ยังแล่นได้ตามปรกติ และ แล่นกลับไปยังฐานทัพแห่งหนึ่ง ที่อยู่ใกล้เมืองอาเล็ปโป (Aleppo) จุดเกิดเหตุมากที่สุด เพื่อรับการตรวจซ่อม.. ในภาพที่เห็น
เพราะฉะนั้น เหตุการณ์ที่บอกเล่าผ่านคลิป กับรูปภาพครั้งนี้จึงไม่ธรรมดา ข้ามสัปดาห์มานี้หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ในสหรัฐ ทั้งวอชิงตันโพสต์ และ วอลสตรีทเจอร์นัล ได้นำคลิปเหตุการณ์เมื่อปลายเดือน ก.พ. กับภาพนิ่งที่ออกมาใหม่นำเสนอ พร้อมกับความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ต่างยกนิ้วให้ระบบอาวุธรัสเซีย
สำหรับเว็บไซต์ข่าวกลาโหมทั่วโลก ทั้งคลิปและภาพนิ่งต่างยืนยันเหตุการณ์ครั้งสำคัญ ที่โลกได้เห็นการทำงานของเกราะระบบ Kontakt-5 ในสมรภูมิรบเป็นครั้งแรก ถึงแม้ว่าจะผลิตและพัฒนาต่อเนื่่องมาตั้งแต่ทศรรษที่ 1980 ก็ตาม
ในขณะเดียวกัน โลกยังไม่เคยได้เห็น "เกราะระเบิด" ERA คล้ายกันนี้ของฝ่ายสหรัฐ ที่ติดตั้งในรถถัง "เอบรามส์" M1A2 ที่ไม่อนุญาตให้ส่งออก และ ยังไม่เคยเห็นระบบของค่ายยุโรปตะวันตก ที่ติดตั้งในรถถังชั้นเยี่ยมรุ่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเลอแคลร์ (Leclerc) ฝรั่งเศส แชลเลนเจอร์ (Challenger) อังกฤษ กระทั่ง "เลโอพาร์ด 2A5/6/7" (Leopard/เล็ปเพิร์ด) ในสถานการณ์สู้รบแบบนี้
.
2
ยังมีอีกระบบหนึ่งคล้ายกันนี้ที่ผลิตในอิสราเอล และ ติดตั้งบนรถถังเมอร์คาวา 4 (Merkava MkIV) ที่มีการเผยแพร่เป็นวิดีโอในยูทิวบ์ แสดงให้เห็นการทดลองมาก่อนหน้านี้
ในทางกลับกัน คนนอกอุตสาหกรรมกลาโหม ทราบแต่เพียงว่าปัจจุบันทั้งสหรัฐ ยุโรปและอิสราเอล ต่างมีจรวดนำวิถียิงรถถัง รุ่นที่ก้าวหน้ากว่าจรวด TOW-2 ซึ่งอาจจะฝ่าระบบชตอรา และ เกราะระเบิด เข้าทำลายรถถังรัสเซียได้ แต่ก็ยังไม่เคยนำออกใช้ในสถานการณ์สู้รบจริง เห็นกันก็แต่เพียงในวิดีโอถ่ายทำการทดสอบ
ยูเครนเป็นอีกประเทศหนึ่ง ที่รับเทคโนโลยี Kontakt-5 เป็นมรดกตกทอดไปจากสหภาพโซเวียต และ พัฒนาต่อมาเป็นระบบของตัวเอง เพื่อติดตั้งเป็นเกราะรุ่นท็อป ใน T-62 "บูลัต" (Bulat) และ T-84 "โอปล็อต-M" ที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ รวมทั้ง "Oplot-T" รุ่นที่จำหน่ายให้แก่กองทัพบกไทยด้วย
อย่างไรก็ตามหลายปีมานี้ ยังไม่เคยมีมีคลิปที่แสดงให้เห็นว่า กองทัพยูเครนเองเคยนำ T-62 "บูลัต" ติดเกราะ ERA ออกปฏิบัติการ และ โลกภายนอกทราบดีว่า ในสงครามกับฝ่ายกบฏแยกดินแดนที่มีรัสเซียหนุนหลัง ในจังหวัดทางภาคตะวันออก ตลอดช่วง 2-3 ปีมานี้ กองทัพบกยูเครนสูญรถถังไปก่ว่า 200 คัน ทั้ง T-62, T-72, T-80 ซึ่งทั้งหมดเป็นรุ่นเก่า ที่รับตกทอดมาจากยุคสงครามเย็น
เกือบทั้งหมดตกเป็นเหยื่อจรวดยิงรถถัง กับจรวดอาร์พีจีที่ผลิตในรัสเซีย.