รอยเตอร์ - เวียดนาม เป็นเจ้าภาพการประชุมสัมมนาการป้องกันในสัปดาห์นี้ ที่มีบริษัทผู้ผลิตอาวุธสัญชาติอเมริกันเข้าร่วมหลายบริษัท ที่จัดขึ้นก่อนที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามา จะเดินทางเยือนในช่วงปลายเดือนนี้ และในขณะที่วอชิงตันกำลังชั่งน้ำหนักว่าจะยกเลิกการห้ามค้าอาวุธกับอดีตศัตรูรายนี้หรือไม่
งานประชุมสัมมนาที่เต็มไปด้วยความลับที่จัดขึ้นโดยประเทศคอมมิวนิสต์ และมีบริษัทผลิตอาวุธเข้าร่วมหลายบริษัท รวมทั้ง โบอิ้ง และล็อคฮีดมาร์ติน เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันกับที่เวียดนามมีคลังอาวุธที่ใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ยุคสงครามเวียดนาม
สื่อเวียดนามที่รัฐบาลควบคุม และผู้สื่อข่าวสายกลาโหมต่างไม่มีการรายงาน หรืออ้างถึงการประชุมครั้งนี้ ขณะที่ความพยายามของรอยเตอร์ที่จะขออนุญาตเข้าร่วมการประชุมก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ส่วนกระทรวงกลาโหมเวียดนาม ก็ไม่สามารถขอความเห็นได้
เวียดนามเร่งความพยายามที่จะสร้างการป้องปรามทางทหาร และเป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก ด้วยเพื่อนบ้านอย่างประเทศจีน ทวีความรุนแรงในการผลักดันการเสริมกำลังทางทหารบนเกาะในทะเลจีนใต้ที่ครอบครองอยู่ หรือสร้างขึ้นจากแนวปะการัง
ตามการระบุของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (SIPRI) ที่ติดตามการค้าอาวุธในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พบว่า เวียดนามนำเข้าอาวุธในช่วงปี 2554-2558 มีจำนวนรวมมากกว่าช่วงปี 2549-2550 ถึง 699%
การประชุมสัมมนาในกรุงฮานอยมีขึ้นท่ามกลางการอภิปรายภายในฝ่ายบริหารของสหรัฐฯ ถึงการตอบสนองต่อคำเรียกร้องยาวนานของเวียดนามในการยกเลิกการห้ามค้าอาวุธที่เป็นหนึ่งในร่องรอยสุดท้ายจากยุคสงครามเวียดนาม
วอชิงตัน คลายมาตรการห้ามค้าอาวุธบางส่วนในปลายปี 2557 แต่ระบุว่า การตัดสินใจใดๆ ต่อการยกเลิกการห้ามอย่างสมบูรณ์จะขึ้นอยู่กับขอบเขตที่เวียดนามได้แสดงให้เห็นความคืบหน้าในการปรับปรุงประวัติด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศ
เวียดนาม ได้เจรจาหารือกับผู้ผลิตอาวุธชาติตะวันตก และสหรัฐฯ มาหลายปีเพื่อเสริมฝูงเครื่องบินรบ เฮลิคอปเตอร์ และเครื่องบินลาดตระเวนทางทะเลของประเทศ แม้จะมีรัสเซียเป็นผู้ส่งออกดั้งเดิม
แหล่งข่าวในวงอุตสาหกรรมกล่าวว่า ฮานอย กระตือรือร้นต่ออาวุธของสหรัฐฯ แต่ก็ยังระแวดระวังภัยคุกคามของการห้ามค้าอาวุธในอนาคต แม้ข้อห้ามในปัจจุบันจะสิ้นสุดลงก็ตาม
โอบามา มีกำหนดเริ่มต้นการเยือนเวียดนามในวันที่ 22 พ.ค. ที่จะทำให้โอบามา เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนแรกในรอบทศวรรษที่เยือนประเทศนี้ ซึ่งเน้นย้ำให้เห็นถึงความสัมพันธ์ที่อบอุ่นขึ้นอย่างรวดเร็วระหว่างสองประเทศ ในเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างฮานอย และปักกิ่งไม่ราบรื่น และความไม่ไว้วางใจขยายตัวขึ้น ด้วยสองประเทศต่างแข่งขันอ้างกรรมสิทธิ์ในหมู่เกาะพาราเซล และหมู่เกาะสแปรตลีย์
โฆษกของบริษัทล็อกฮีดมาร์ติน ยืนยันว่า บริษัทเข้าร่วมงานที่กรุงฮานอย ส่วนโบอิ้งก็เข้าร่วมการประชุมเช่นเดียวกัน โดยบริษัทแสดงความชัดเจนว่า ไม่ได้ฝ่าฝืนกฎห้ามค้าอาวุธ
“ผมต้องการที่จะชี้ให้เห็นว่า การค้าที่เกี่ยวข้องต่อการป้องกันใดๆ ต่อเวียดนามจะพัฒนาขึ้น ตามนโยบายของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีต่อเวียดนาม” โฆษกบริษัทล็อกฮีด มาร์ติน กล่าว
“เราชื่อว่าโบอิ้งมีความสามารถในระบบปฏิบัติการด้านข่าวกรอง การเฝ้าระวัง และการลาดตระเวน ที่อาจตอบสนองความต้องการความทันสมัยของเวียดนาม”
ความต้องการต่างๆ เหล่านั้นยังรวมถึงการซื้อเรือดำน้ำชั้นคิโล 6 ลำ ที่ติดตั้งระบบจรวดคลับแบบโจมตีภาคพื้นดิน และระบบขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ S300 จากรัสเซีย ปืนไรเฟิลจู่โจมกาลิล และระบบเรดาร์แจ้งเตือนล่วงหน้า AD-STAR 2888 จากอิสราเอล
กองทัพเรือเวียดนาม กำลังสร้างเรือคอร์แว็ต ชั้นตารานตุล หรือที่รู้จักในชื่อ โมลีนยา เรือที่ต่อขึ้นในประเทศด้วยต้นแบบจากเรือของรัสเซีย ติดตั้งจรวดนำวิถีพิสัยยิง 130 กิโลเมตร 16 ลูก
.
.
แม้พรรคคอมมิวนิสต์ที่บริหารทั้งจีน และเวียดนามจะมีความสัมพันธ์ฉันพี่น้อง แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การดำเนินนโยบายที่เสี่ยงต่อสงครามของจีนได้ผลักดันให้เวียดนามต้องปรับยุทธศาสตร์การป้องกันของตัวเองใหม่
รายงานในหนังสือพิมพ์ออนไลน์กองทัพประชาชนของกระทรวงกลาโหมในเดือน มี.ค. อ้างคำกล่าวของรัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหม ว่า ความสัมพันธ์ของเวียดนามกับสหรัฐฯ ยังขาดความร่วมมือในอุตสาหกรรมการป้องกัน และฮานอยต้องการให้วอชิงตันจัดหาเทคโนโลยีที่ทันสมัย เหมาะสม และปรับเปลี่ยนได้
นักวิเคราะห์ระบุว่า ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะแสวงหาพันธมิตรทางทหารอย่างเป็นทางการ และจะยึดติดกับนโยบายต่างประเทศที่พึ่งพาอำนาจเดียว ซึ่งจนถึงตอนนี้การจัดหาซื้ออาวุธยังไปถึงรัสเซีย อินเดีย และอิสราเอล
เวียดนาม ยังเข้าร่วมฝึกซ้อมทางทหารกับประเทศที่อ้างกรรมสิทธิ์ในทะเลจีนใต้รายอื่นที่มีความขัดแย้งกับจีน เช่น ฟิลิปปินส์ และรับการมาเยือนของเรือรบจากสิงคโปร์ และญี่ปุ่นเมื่อไม่นานนี้ ที่ท่าเรือนานาชาติแห่งใหม่ของประเทศ ในอ่าวกามแรง ที่เป็นฐานทัพเรือน้ำลึกทางยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นที่ประจำการเรือดำน้ำ
ทิม ฮักซ์ลีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในภูมิภาค จากสถาบันยุทธศาสตร์ศึกษาระหว่างประเทศ ในสิงคโปร์ กล่าวว่า ความสนใจของเวียดนามในการได้รับการยกเลิกการห้ามค้าอาวุธไม่ได้มีแค่การเข้าถึงเทคโนโลยีของสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเพิ่มอำนาจการต่อรองของประเทศด้วย
“มันสะท้อนถึงความวิตกกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ และความจำเป็นในการปรับโครงสร้าง และอาวุธ ด้วยการเน้นให้เห็นถึงความสามารถของกองทัพเรือ และกองทัพอากาศที่แข็งแกร่งขึ้น เวียดนาม ต้องการที่จะขยายตัวเลือกที่มีอยู่ และมีตัวเลือกมากขึ้นในตลาดต่างประเทศในแง่ของความหลากหลายของเทคโนโลยี และตำแหน่งในการเจรจาต่อรอง” ทิม ฮักซ์ลีย์ กล่าว.